ความคิดเห็นที่ 58

การเรียกพระนามรัชกาลที่ ๖ หลังจากที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตก็มีเรื่องสับสนขึ้นอีก
เรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน
ฉันได้เล่าไว้แล้วข้างบนนี้ว่าเกิดมีปัญหาเรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน. ในเวลาดึกวันที่ ๒๓ ตุลาคม, คือเมื่อทูลกระหม่อมได้สวรรคตลงแล้วนั้น. ได้เกิดโจทย์กันขึ้นว่าควรใช้ออกชื่อฉันว่ากระไร. พวกเจ้านายรุ่นใหม่, มีกรมนครชัยศรี เปนต้น, ร้องว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร ควรเรียกว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว," แต่ท่านพวกเจ้านายผู้ใหญ่, มีกรมหลวงเทววงศ์ และกรมหลวงนเรศร์ เปนต้น, กล่าวแย้งว่าธรรมเนียมเก่าต้องรอให้บรมราชาภิเษกแล้วจึ่งเรียกว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" กรมนครชัยศรีถามว่า, "ถ้าเช่นนั้นแปลว่าในเวลานี้ไม่มีเจ้าแผ่นดินฉนั้นหรือ?" ท่านผู้ใหญ่ก็ตอบอ้อมแอ้มอะไรกัน, จำไม่ได้. กรมนครชัยศรีจึ่งได้กล่าวขึ้นว่า ธรรมเนียมเก่าจะเปนอย่างไรไม่ทราบ แต่ในสมัยนี้จะปล่อยลังเลไว้เช่นนั้นไม่ได้. ชาวต่างประเทศเขาจะเป็นแปลกนัก, เพราะเปนธรรมเนียมที่รู้อยู่ทั่วกันในยุโรปว่าในประเทศที่มีลักษณะปกครองเปนแบบราชาธิปตัย, พระราชาต้องมีอยู่เสมอ, จนถึงแก่มีธรรมเนียมในราชสำนัก เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลงเมื่อใด ก็เปนน่าที่เสนาบดีกระทรวงวัง, หรือผู้ที่เปนหัวน่าราชเสวก, ออกมาร้องประกาศแก่เสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ว่า. "Messeigneurs et Messeieurs le Roi et Mort Vive le Roi" ("ใต้เท้าทั้งหลายและท่านทั้งหลาย, สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว ขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเจริญยิ่ง ๆ"). ในเวลาดึกวันที่ ๒๓ นั้นจึ่งไกล่เกลี่ยกันว่า ในประกาศภาษาไทยให้ใช้ออกชื่อฉันว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน", แต่ในหนังสือที่มีบอกไปยังพวกทูตใช้เปนภาษาอังกฤษว่า "His Majesty the King" กรมนครชัยศรีว่าดึกแล้วขี้เกียจเถียงชักความยาวสาวความยืดต่อไป, แต่พระองค์ท่านเองไม่ยอมเรียกฉันว่าอย่างอื่นนอกจากว่า "พระเจ้าอยู่หัว" และเกณฑ์ให้ทหารบกเรียกเช่นนั้นหมดด้วย. แต่มิใช่จะมีแต่คนไทยสมัยใหม่ที่ทักท้วงในเรื่องออกพระนามผิดกันในภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเช่นนั้น, ถึงพวกฝรั่งที่รู้ภาษาไทยก็ร้องทักกันแส้ ว่าเหตุไฉนจึ่งใช้เรียกไม่ตรงกันในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ. มิสเตอร์เย็นส ไอเวอร์สัน เว็สเต็นการ์ด (Jens Iverson Westengard, ภายหลังได้เปนพระยากัลยาณไมตรี). ที่ปรึกษาราชการทั่วไป, ได้ทูลท้วงอย่างแขงแรงกับกรมหลวงเทววงศ์ว่าการที่จะคงให้เปนไปเช่นนั้นอีกไม่ได้เปนอันขาด, เพราะอาจที่จะทำให้เกิดมีความเข้าใจผิดต่าง ๆ เปนอันมากอันไม่พึงปรารถนา. นี่แหละ, ท่านผู้ใหญ่ของเรามักจะเปนเสียเช่นนี้, คือไม่ใคร่ชอบเชื่อฟังเสียงพวกเรากันเอง, และผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าพูดอะไรก็มักจะไม่ใคร่ยอมตาม, ต่อมีฝรั่งทักท้วงกระตุ้นเข้าจึ่งจะยอมแพ้.
ครั้นเวลาบ่าย ๕ นาฬิกา วันที่ ๒๕ ตุลาคม, ฉันได้นัดประชุมพิเศษเปนครั้งแรกที่พระโรงมุขตวันตกแห่งพระที่นั่งจักรี, มีผู้ที่ได้เรียกเข้าไปวันนี้ คือ น้องชายเล็ก, กรมหลวงนเรศร์, กรมขุนสรรพสิทธิ์, กรมหลวงเทววงศ์, กรมขุนสมมต, กรมหลวงดำรง, และกรมหมื่นนครชัยศรี, เพื่อปรึกษาข้อราชการและวางระเบียบที่จะได้ดำเนิรต่อไป. แต่ก่อนที่จะพูดเรื่องอื่น ๆ ได้กล่าวกันเรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน, กรมหลวงเทววงศ์ตรัสว่าแก้ปัญหาตกแล้ว, คือไปค้นในหนังสือแสดงกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพาวรวงศ์ (ที่เรียกกันว่า "กรมท่าตามืด") ได้ความว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จสวรรคตแล้วนั้นได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า เรียกว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวร" ทันที, หาได้รอจนเมื่อกระทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้วไม่. ที่มาเกิดมีรอไว้ไม่เรียกว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ก็คือตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จขึ้นทรงราชย์, เมื่อก่อนที่กระทำพิธีราชาภิเษกหาได้ออกพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ไม่ ต่อมาจึ่งกลายเปนธรรมเนียมไป. แต่เมื่อปรากฏว่าเคยได้มีธรรมเนียมเรียกว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" พระองค์ ๑ แล้ว ก็เปนอันว่าในครั้งนี้ควรให้เปนไปเช่นกัน, ไม่ต้องรอราชาภิเษก, แต่คำว่า "มีพระบรมราชโองการ" ควรให้รอไว้ก่อน, ให้ใช้ว่า "มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม" ไปพลาง. ส่วนข้อทีได้ใช้ในคำประกาศว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน" พลาดมาแล้วนั้น, เพื่อจะแก้หน้ากับฝรั่ง, กรมหลวงเทววงศ์ทรงรับรองว่าจะไปกล่าวแก้ไขรอไว้จนกว่าจะถือน้ำแล้วเท่านั้น.
จากคุณ :
เพ็ญชมพู
- [
19 มี.ค. 52 15:16:05
]
|
|
|