บรรดาแฟนานุแฟนนิยายกำลังภายในคงจะคุ้นเคยกับ "นิยายกำลังภายในแบบเก่า" ที่มีพล็อตเรื่องซ้ำไปซ้ำมา ประเภทตัวเอกเคราะห์ร้าย บิดามารดาถูกสังหารหรือรุมบีบคั้นจนเสียชีวิต แต่มีบุญพาวาสนาส่ง แม้กลายเป็นเป้าหมายการไล่ล่า จนต้องตกเหว แต่ก็ไม่ตาย แถมยังได้พบยอดวิชาในหุบเขา ฝึกสำเร็จเป็นยอดยุทธ์ ออกมาสร้างปรากฏการณ์สะท้านฟ้า จับผลัดจับพลูได้เป็นหัวหน้าพรรคยิ่งใหญ่ มีสาวงามมารุมรักมากมาย ผ่านประสบการณ์ถูกใส่ร้าย สุดท้ายปราบศัตรูสำเร็จ ถอนตัวจากวงนักเลงไปครองรักกับนางเอกอย่างสุขสม
หลังจากว่างๆ หยิบ "ดาบมังกรหยก" มาอ่านอีกรอบ แว่บหนึ่งของความคิด บอกกับตัวเองว่า อาจารย์กิมย้งดำเนินเรื่องตามพล็อตมาตรฐานดังกล่าวเลยนี่นา
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้นิยายกำลังภายในน้ำเน่าเรื่องนี้โดดเด่น และเป็นที่นิยมมากมายขนาดนี้
แน่นอน ส่วนหนึ่งย่อมต้องมาจากชื่อเสียงที่อาจารย์กิมย้งวางรากฐานให้กับตัวเองมาตั้งแต่มังกรหยก/ลูกมังกรหยก และแน่นอน ย่อมมาจากความสามารถในเชิงวรรณศิลป์ของอาจารย์
แต่ในความเห็นอันต่ำต้อยของผู้น้อย มองว่า ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ "สาระที่ซ่อนเร้น" อยู่ในนิยายเรื่องนี้ เหนือล้ำและน่าคารวะเป็นอย่างยิ่ง
1. ในนิยายกำลังภายในแบบมาตรฐาน ตัวเอกที่สูญเสียบุพาการี ต่างยึดหลัก แค้นต้องชำระ เนื้อเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการไล่ล่าหาผู้สังหารบิดามารดา แต่ในดาบมังกรหยก แม้บิดามารดาของเตียบ้อกี้จะฆ่าตัวตายเอง แต่ปฏิเสธมิได้ว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการบีบคั้นของชาวยุทธ์ที่ร่วมเหตุการณ์ที่บู๊ตึ้งในวันเกิด 100 ปีของเตียซำฮง แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อเติบใหญ่ เตียบ้อกี้ไม่เคยโกรธแค้นชาวยุทธ์เหล่านั้นอย่างจริงจังเลย หนำซ้ำยังพยายามช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ ความน่ารักของเตียบ้อกี้ในเรื่องนี้ ทำให้ตัวละครนี้ แม้เขาจะดูน่ารำคาญในบางครั้ง แต่เตียบ้อกี้ก็เป็นตัวละครที่ไม่มีใครรังเกียจ และไม่เกรียนเหมือนตัวเอกนิยายกำลังภายในในแนวเดียวกัน เตียบ้อกี้จึงเป็นตัวเอกที่ "จิตใจบริสุทธิ์ดีงาม" อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องอาศัยถ้อยคำมาบรรยายหรือยกยอโดยปราศจากชั้นเชิง
2.การตกเหว และได้ยอดวิชาของเตียบ้อกี้ เป็นเพียงน้ำจิ้มที่อาจารย์กิมย้งแถมเข้ามา แต่สิ่งที่อาจารย์กิมย้งเน้นก็คือ "หลังจากได้ยอดวิชามาราวปาฎิหารย์แล้ว ท่านนำไปใช้ทำอะไร" ซึ่งเตียบ้อกี้นำไปใช้ปกป้องชีวิตผู้คนในเม้งก่า ที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองแม้แต่น้อย และเชื่อได้ว่า หลายคนเมื่ออ่านมาถึงเหตุการณ์ตอนนี้ คงอดพลุ่งพล่านฮึกเหิมไม่ได้ เตียบ้อกี้ จึงเป็นตัวเอกที่แสดงความเป็น "วีรบุรุษ" ได้อย่างแท้จริง โดยมิต้องประโคมโหมอันใดให้มากความ
3.การพูดถึงผู้ดีจอมปลอม หรือธรรมะอธรรมยากแบ่งแยก มีอยู่บ่อยแล้วในนิยายกำลังภายใน ในดาบมังกรหยกก็มีตัวละครลักษณะดังกล่าวอยู่มากมาย แต่อาจาย์กิมย้งยังสร้างตัวละครที่เป็น "คนดีที่มีเจตนาดีจริงๆ แต่ก็เป็นคนดีที่ค่ำครึ เป็นคนดีที่ไม่ยืดหยุ่น เป้นคนดีที่ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น" ซึ่งก็คือ แม่ชีมิกจ้อ และการเป็นคนดีที่น่ารำคาญของนางนี่เอง ที่สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของผู้อื่น ทั้งต่อกีเกี้ยวพู้ และต่อจิวจี้เยี้ยก ประเด็นที่เฉียบคมของอาจารย์กิมย้งในแง่มุมนี้ เชื่อว่าไม่ค่อยมีนิยายกำลังภายในนำเสนอมาก่อน และยังเป็นประเด็นที่พบได้เช่นกันในยุคปัจจุบัน
4.เรื่องความรักอันสับสนวุ่นวายของเตียบ้อกี้ แม้จะสะท้อนนิสัยโลเลไม่หนักแน่นของเขา แต่การปูพื้นประสบการณือันเลวร้ายตั้งแต่เด็กของเขา ทำให้ปัญหานี้มีความสมเหตุสมผล ไม่ใช่ตัวเอกเจ้าเสน่ห์ ฟาดไม่เลือกเช่นตัวเอกนิยายกำลังภายในแนวฮาเร็มอื่นๆ ขณะเดียวกัน ตัวละครหญิงอย่างเตียวเมี่ยงและจิวจี้เยียก ก็มีมิติ มีความน่าสนใจ และฉลาดทั้งคู่ หาใช่ตัวละครหญิงที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นคุณหนูแอ๊บแบ๊ว ขาดสิต มีแต่แง่งอน หรืออย่างเสียวเจียวก็ไม่ใช่ เป็นไม้ประดับให้ตัวเอกเชยชมเล่น
เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดาบมังกรหยก เป็นนิยายกำลังภายในแนวน้ำเน่าที่เยี่ยมยอด ไม่ทราบอาจารย์กิมย้งท่านตั้งใจจะแสดงฝีมือให้เห็นหรือไม่ว่า "แม้เป็นของดาษดื่น แต่หากเพียงพลิกผันเพียงได้คมคาย ก็เจียรนัยให้ทอประกายได้"
เป็นเพียงความคิดเห็นอันต่ำต้อย รบกวนยอดฝีมือโปรดชี้แนะ
จากคุณ :
เพิ่งจะเคยเข้ามา
- [
21 เม.ย. 52 15:37:10
A:203.144.213.3 X: TicketID:209590
]