Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ทำไมฝรั่งถึงเรียนภาษาไทยได้เร็วจัง?

    ผู้เขียนบังเอิญไปธุระที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในกรมยุทธศึกษาทหารบก ที่อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟสามเสนเมื่อไม่กี่วันนี้ มีโอกาสได้รู้จักกับนายทหารอเมริกันคนหนึ่งชื่อ พ.ต.เจมส์ จอนสัน อายุ 32 ปี เป็นนักเรียนนายทหารแลกเปลี่ยนจากสหรัฐอเมริกาผู้กำลังเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารบกอยู่

    ระหว่างที่พูดคุยกันอยู่นั้นก็มีคนเดินมาแซวว่า พ.ต.เจมส์ผู้นี้อ่านภาษาไทยได้คล่องและอ่านหนังสือภาษาไทยมากกว่าใครๆ เสียอีก

    ผู้เขียนก็เลยหัวเราะแล้วผสมโรงไปด้วยว่าผู้เขียนมีข้อเขียนสั้นๆ ที่เขียนให้ชาวต่างชาติไม่ว่าชาติใดก็อ่านไม่ออกหรอก จึงเป็นเรื่องเฮฮาให้ทดลองกันเลย ซึ่งข้อเขียนดังกล่าวคือ

    "โคลงเรือเรือโคลงเพราะโคลง"

    ปรากฏว่า พ.ต.เจมส์อ่านได้สบาย ทำเอาผู้เขียนหน้าแตกไปเลย และยิ่งแปลกใจหนักขึ้นไปอีกเมื่อทราบว่าผู้พันเจมส์คนนี้เรียนภาษาไทยก่อนมาเมืองไทยเพื่อศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกไทยเพียง 10 เดือนเท่านั้น

    ผู้เขียนจึงเชิญ พ.ต.เจมส์มาที่บ้านในอีกวันหนึ่งด้วยความอยากรู้ว่า "ทำไมฝรั่งถึงเรียนภาษาไทยได้เร็วจัง" ทั้งๆ ที่ภาษาไทยยากกว่าภาษาอังกฤษตั้งเยอะแยะ ไม่ต้องดูอื่นไกลแค่เปรียบเทียบพยัญชนะกับสระก็เห็นได้ชัดคือ ภาษาอังกฤษมีพยัญชนะ 21 ตัว และสระเพียง 5 ตัว ในขณะที่ภาษาไทยมีพยัญชนะตั้ง 44 ตัว และมีสระอีกถึง 32 ตัว แถมยังมีวรรณยุกต์อีก 4 ตัว แต่มีถึงห้าเสียง

    ที่สำคัญคือ พ.ต.เจมส์เรียนภาษาไทยเพียง 10 เดือนแล้วมานั่งเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกมาฟังการบรรยายเป็นภาษาไทยล้วน แถมผู้พันเจมส์ยังถามคำถามและแสดงความคิดเห็นเป็นภาษาไทยมากกว่านายทหารนักเรียนคนไทยทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งนักเรียนนายทหารที่เป็นคนไทยก็เหมือนกับคนไทยทั่วไปคือ นั่งเรียนไปเฉยๆ ไม่ค่อยถามหรือแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

    ผู้เขียนมีความหังที่จะหาประโยชน์จากการสนทนาเพื่อที่จะได้ความกระจ่างว่าทำไมคนไทยจึงเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องสักทีทั้งๆ ที่ตะบี้ตะบันเรียนกันมาตั้ง 12-16 ปีมาแล้วทั้งนั้น

    ผู้พันเจมส์บอกผมว่าการเรียนภาษาไทยของเขานั้นอยู่ที่การฟังเป็นหลัก เขาจะเปิดอินเตอร์เน็ตฟังข่าวสารของเมืองไทยเป็นภาษาไทยและเปิดทิ้งไว้ทั้งวันเพื่อที่จะจับจังหวะการพูดการออกเสียงภาษาไทย ซึ่งภาษาไทยก็เหมือนกับภาษาอื่นๆ ทั่วโลก กล่าวคือ การพูดหรือการอ่านออกเสียงนั้นในทุกภาษาจะมีช่องว่างระหว่างการพูดและการอ่านแม้ว่าภาษาไทยจะเขียนติดกันเป็นพืดไปเลยก็ตาม แต่เมื่อพูดหรืออ่านแล้วจะมีช่องเว้นวรรคเป็นจังหวะอยู่เสมอ

    เมื่อใดเราจับจังหวะของการพูดและการอ่านได้แล้วก็จะฟังภาษานั้นๆ ได้สะดวกขึ้น

    คุณเจมส์บอกผมว่าเขาต้องดูละครน้ำเน่าแบบละครหลังข่าวช่วงค่ำระหว่างเรียนภาษาไทย ซึ่งมีอัดเป็นซีดีไว้ขายเยอะแยะที่อเมริกาเพราะจำเป็นต้องเรียน "ภาษาหัวใจ" ด้วย

    ภาษาหัวใจคือภาษาที่เกี่ยวกับใจนั่นเอง เช่น ชอบใจ เสียใจ ดีใจ ฯลฯ ตลอดจนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก เช่น รัก ชัง หมั่นไส้ (อันนี้คุณเจมส์ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก เพราะคนต่างชาติต่างภาษาจะลึกซึ้งถ่องแท้กับความหมั่นไส้อันเป็นนิสัยประจำชาติของคนไทยนั้นหายากมาก)

    ภาษาหัวใจที่คุณเจมส์อ้างถึงนี้มักไม่ค่อยมีในหนังสือเรียนหรอก อ้อ! มีอีกอย่างที่น่ารู้ น่าขำมากๆ คือหน้าข่าวกีฬาในหนังสือพิมพ์รวมทั้งรายงานข่าวกีฬาทางโทรทัศน์ด้วยที่สร้างความพิศวงงงงันให้กับคุณเจมส์จนทุกวันนี้ โดยเฉพาะชื่อทีมฟุตบอลทั่วโลกในข่าวกีฬาของไทย กล่าวคือ ทีมโสร่ง ทีมลอดช่อง ทีมโสมแดง-โสมขาว ทีมอิเหนา ทีมโรตี ฯลฯ นี่เฉพาะของเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียนะ

    ส่วนทีมฟุตบอลในยุโรปที่ทำเอาคุณเจมส์แทบสิ้นศรัทธาเรียนภาษาไทยเลยครับ โดยเขาหยิบหนังสือพิมพ์สยามกีฬาที่ลูกชายของผู้เขียนซื้อมาวางอยู่บนโต๊ะขึ้นมาชี้ให้ดูหัวข้อข่าวซึ่งมีดังนี้

    เลติเซีย รับเคยมีเซ็กซ์กับ โด้ ยกยอดชายตัวจริง

    ผีพิจารณารีไทร์เสื้อเบอร์ 11 ของ กิ๊กส์

    ม้าลายฟอร์มบู่ คิเอโวไล่เสมอ โรมาเฉือน 2-1

    เรือใบ เสียบแทนหงส์ล่าตัว เอโต เสริมคม

    ฯลฯ

    ผู้เขียนก็ปลอบใจคุณเจมส์ว่าผู้เขียนเองทั้งๆ เป็นไทยก็มีปัญหาเรื่องข่าวกีฬาภาษาไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะทีมฟุตบอลเยอรมันคือ ทีม "บาร์เยิน-มิวนิค" เนื่องจากหากอ่านตามแบบเยอรมันก็ต้องเป็น "บาร์เยิน-มึนเช่น" เพราะบาร์เยินเป็นชื่อแคว้น ส่วนมึนเช่นเป็นชื่อเมือง แต่ถ้าจะเอาแบบอังกฤษผู้ที่หากออกเสียงของภาษาอื่นไม่ถนัดก็จะเปลี่ยนชื่อเสียเลย เช่น แคว้นบาร์เยินนี้อังกฤษจะเรียกว่าแคว้นบาวาเรีย ส่วนเมืองมึนเช่นนั้นอังกฤษเรียกว่ามิวนิค ดังนั้น ถ้าเรียกแบบอังกฤษก็ควรจะเป็นทีม "บาวาเรีย-มิวนิค" สำหรับคนไทยนั้นมั่วก็เลยเรียกแบบไทยคือ "บาร์เยิน-มิวนิค" ให้ทั้งคนเยอรมันและคนอังกฤษงงทั้งคู่ก็แล้วกัน

    เฮ้อ! ขนาดภาษาไทยยากๆ อย่างนี้ฝรั่งอย่างคุณเจมส์ยังเรียนแค่ 10 เดือน คำถามอยู่ที่ว่า "แล้วคนไทยที่จบมหาวิทยาลัยทั้งหลายที่เรียนภาษาอังกฤษ (ที่ง่ายกว่าภาษาไทย) กันคนละ 16 ปี ทำไมจึงพูดและฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง?"

    แปลกดีนะ!

    จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
    22 เมษายน 52 ฉบับที่ 11365
    โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

    ************************************************

    เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่จะเก่งภาษาได้ไม่ว่าใครหรือชาติไหนก็ตามจะมีบางอย่างที่เหมือนๆกันอยู่อย่างหนึ่งคือ "ทักษะในการเรียนรู้ที่ถูกจริตของตัวเองและลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ" แต่คนไทยเราหลายๆคนที่เรียนไปไม่ถึงไหนด้วยเพราะ มีแต่ความอยากเก่งแต่ไม่ค่อยลงมือทำ ขอแต่เทคนิคลัด หรือไม่ก็รอแต่หวังให้ครูป้อนให้...การเรียนภาษาต่างประเทศในบ้านเราจึงสูญเปล่าอย่างที่เห็นเช่นนี้แล

    จากคุณ : joechou - [ 22 เม.ย. 52 10:59:10 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com