เทศกาลจีน / เทศกาลกินขนมบ๊ะจ่างที่คนไทยรู้จักกันดีได้เวียนมาถึงในวันที่(28พค.) คือเทศกาลตวนอู่เจี๋ย (端午节) ในจีน ที่จัดขึ้นทุกปีในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ประเทศแถบเอเชีย อาทิ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี บางส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่ ไทย ฯลฯ ที่มีชาวจีนโพ้นทะเลและชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆอาศัยอยู่ จะมีการฉลองเทศกาลตวนอู่คล้ายคลึงกัน
ในรอบสัปดาห์ระหว่างเทศกาลนี้ หลายครัวเรือนจะห่อขนมบ๊ะจ่าง หรือขนมจ้าง( จีนกลางออกเสียง粽子-จ้งจึ) ที่ทำจากข้าวเหนียว ข้างในห่อเนื้อสัตว์ เห็ด ถั่วแดง ไข่เค็ม และเครื่องปรุงต่างๆ เป็นรูปปิรามิดสามเหลี่ยม บ้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใช้เชือกมัดแล้วนำไปนึ่ง
ขนมบ๊ะจ่าง ขนมจ้าง หรือออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า จ้งจึ
ขนมบ๊ะจ่างแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างในรายละเอียดของสิ่งที่ห่ออยู่ในข้าวเหนียวนี่เอง เช่น ขนมบ๊ะจ่างทางเหนือของจีน เช่นในปักกิ่งจะห่อไส้ถั่วแดงล้วนๆ บ้างเป็นผลไม้ เช่นลูกเจ่า(小枣) หรือลูกจ๊อ (แต๊จิ๋ว) เกาลัท และมีบ้างที่ใส่เนื้อสัตว์ มีเครื่องอย่างอื่นบ้าง แต่ไม่มากเท่าขนมจ้างในบ้านเรา ส่วนบ๊ะจ่างทางใต้ของมณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) หรือในบ้านเราที่คงไม่ต้องแจกแจงว่ามีเครื่องหลากหลายเพียงใด รสชาติเข้มข้นถูกปากคนเมืองร้อน-อบอุ่น
นอกจากกินขนมบ๊ะจ่างแล้ว ในเทศกาลตวนอู่นี้ยังมีการละเล่นที่ขาดไปไม่ได้คือ แข่งเรือมังกร(龙舟赛) โดยเฉพาะในฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า และในแม่น้ำฉางเจียงในจีน(แยงซีเกียง) มีการจัดกันยิ่งใหญ่ทุกปี
ประเพณีการกินขนมบ๊ะจ่างและการแข่งเรือมังกรในเทศกาลตวนอู่เจี๋ย เกี่ยวเนื่องอย่างแนบแน่นกับเรื่องราวโศกนาฏกรรมของนักกวีแห่งนครรัฐฉู่(楚国) ผู้รักชาติยิ่งชีพปลายสมัยจั้นกั๋ว(475-221 ปีก่อนคริสตศักราช) นามว่า ชีว์หยวน(屈原- 340-278 ปีก่อนคริสตศักราช)
ตำนวนเล่าว่า ชีว์หยวนซึ่งเดิมทีกินตำแหน่งขุนนางใกล้ชิดฮ่องเต้ฉู่หวัง ได้กราบทูลแนวคิดรวมกำลังเขตแคว้นน้อยใหญ่โดยรอบ เพื่อเตรียมต่อกรกับนครรัฐฉินซึ่งเรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น ทว่าฮ่องเต้ถูกเป่าหูโดยขุนนางฝ่ายฉิน นอกจากไม่ยอมรับความคิดของชีว์หยวน ยังเนรเทศเขาออกนอกนครรัฐไปถึง 2 ครั้ง ภายหลังทหารฉินยกทัพมาถล่มนครรัฐฉู่จริงๆ และยึดครอง อิ่งเฉิง(ปัจจุบันอยูในพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย) เมืองหลวงของนครรัฐฉู่สำเร็จ ชีว์หยวนเมื่อทราบเรื่องถึงกลับช้ำใจสุดแสน กระโดดน้ำฆ่าตัวตายด้วยความทุกข์ระทมที่แม่น้ำมี่หลัวเจียง(汨罗江)
ในวันที่ชีว์หยวนกระโดดน้ำตายตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 เมื่อ 278 ปี ก่อนคริสตศักราช ขณะนั้นเขาเป็นที่รักและเคารพของราษฎรนครรัฐฉู่ เนื่องจากเป็นขุนนางผู้มีจิตวิญญาณรักชาติสูงส่ง ราษฎรต่างเห็นอกเห็นใจในความจงรักภักดีของเขาอย่างมาก เมื่อทราบข่าวว่าชีว์หยวนกระโดดน้ำตาย จึงพากันนำเรือออกไปในแม่น้ำ เพื่อหวังว่าจะช่วยชีวิตชีว์หยวนไว้ แต่ก็ไม่เป็นผลชาวเมืองเมื่อหาศพชีว์หยวนไม่พบ จึงเกรงว่าปลาจะมาแทะร่างอันไร้วิญญาณของเขา จึงคิดทำขนมข้าวเหนียวห่อใบไผ่โยนลงไปในแม่น้ำให้ปลากินแทน และนั่นเป็นกำเนิดของประเพณีกินบ๊ะจ่างและการแข่งเรือมังกร ที่เจริญงอกงามสืบทอดมาถึงปัจจุบันตำนวนดังกล่าวทำให้เทศกาลกินขนมบ๊ะจ่างในจีน ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งว่าเป็น เทศกาลของกวี ที่ระลึกถึงความภักดีและรักชาติของชีว์หยวนอีกด้วย
กิจกรรมที่จัดในประเทศจีนนอกจากจะกินจ้งจึกันแล้ว ยังมีกิจกรรมนิทรรศการรำลึกถึงกวีนิพนธ์ของชีว์หยวน จัดแข่งขันอ่านและเขียนบทกวีของเหล่ากวีจากทั่วประเทศ เป็นต้น โดยเฉพาะในปีนี้ กระแสการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีโบราณของชาติเริ่มตื่นตัวอย่างมากในจีน จึงมีความเคลื่อนไหว และงานฉลองต่างๆจัดขึ้นคึกคักและกว้างขวางกว่าทุกปี.
เทศกาลกินขนมจ้างในเมืองหนานจิง(นานกิง)และเมืองใกล้เคียง ชาวเมืองยังมีประเพณีแขวนไข่เค็มด้วย
ขอบคุณที่มาคะ blog คุณ jeab
http://www.tlcthai.com/club/view_topic.php?club=china_chiness&club_id=1162&table_id=1&cate_id=562&post_id=2934
จากคุณ :
sawkitty
- [
27 พ.ค. 52 09:55:40
]