 |
ความคิดเห็นที่ 15 |
10.IRIS CHANG นักประพันธ์
ไอริส ชาง ผู้เขียนหนังสือ The Rape of Nanking ที่บันทึกประวัติความโหดร้ายที่ทหารญี่ปุ่นทำกับชาวจีนในทศวรรษ 1930 ได้ฆ่าตัวตายแล้วขณะอายุ 36 ปี
The Rape of Nanking ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามารุกรานจีนในปี 1937 ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1997 และหนังสือเล่มนี้ช่วยกระตุ้นให้ญี่ปุ่นหันมาทบทวนประวัติศาสตร์อันดำมืดของประเทศตัวเองอีกครั้ง
เทอร์แรนซ์ เฮล์ม จากสำนักงานนายอำเภอเขตซานตา คลารากล่าวว่า ตำรวจพบศพของชางในรถยนต์ที่จอดอยู่บนถนนทางตอนใต้ของซานฟรานซิสโก โดยตำรวจกล่าวว่าชางเสียชีวิตจากกระสุนหนึ่งนัดที่เจาะเข้าที่ศีรษะ โดยสามีของชางแจ้งว่าเธอหายตัวไปในวันจันทร์ และตำรวจก็พบศพของเธอในเช้าวันอังคารที่ 9 พ.ย.
"นักสืบของเราระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย" เฮล์มกล่าว
ซูซาน ราบิเนอร์ ซึ่งเป็นเอเยนต์ของชางกล่าวว่าชางป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และเคยเข้าโรงพยาบาลในช่วงต้นปีนี้ และราบิเนอร์ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ชางทิ้งข้อความไว้ให้กับครอบครัวของเธอ โดยขอให้ครอบครัวของเธอจดจำเธอในสภาพก่อนที่เธอจะล้มป่วย
The Rape of Nanking ออกจำหน่ายในปีที่ 60 หลังกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดเมืองหลวงนานกิงของจีน โดยหนังสือเล่มนี้ติดอันดับขายดีและเอเยนต์ของเธอบอกว่าหนังสือเล่มนี้ทำยอดขายได้ถึง 500,000 เล่ม
ชางเขียนไว้ในหนังสือว่า "มีการประเมินกันว่ามีผู้หญิงจีน 20,000-80,000 คนถูกข่มขืน นอกจากนี้ ทหารหลายคนยังทำมากกว่าการข่มขืน โดยได้ผ่าท้องของผู้หญิง, เฉือนนมของผู้หญิง, ตอกผู้หญิงเหล่านี้เข้ากับข้างฝาทั้งเป็น และทหารเหล่านี้ยังบังคับให้พ่อข่มขืนลูกสาวของตัวเอง และบังคับให้ลูกชายข่มขืนแม่ของตัวเองขณะที่สมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวถูกบังคับให้มองการกระทำนี้"
"สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำไม่ได้มีเพียงแค่การฝังคนทั้งเป็น, การตอนคน, การกรีดเฉือนอวัยวะ และการนำคนมาย่างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทรมานคนอย่างโหดร้ายด้วยวิธีการอื่นๆอีกด้วย"
ประเทศญี่ปุ่นไม่ค่อยเต็มใจยอมรับความโหดร้ายของการกระทำของตัวเอง และบันทึกของชางก็ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นโกรธเคือง โดยในปี 1998 นั้น เอกอัครราชทูตของญี่ปุ่นประจำสหรัฐได้จุดปะทุปัญหาทางการทูตเมื่อเขากล่าวหาหนังสือของชางว่าสร้างความเข้าใจผิด
The Rape of Nanking ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ในญี่ปุ่นถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา โดยชางเคยกล่าวกับรอยเตอร์ในปี 2001 ว่า "ฉันคิดว่าการที่ฝ่ายขวาออกมาโจมตีสำนักพิมพ์ในญี่ปุ่นส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั่วทั้งญี่ปุ่นรู้สึกหวาดกลัว"
ชางใช้เวลา 2 ปีในการเขียน The Rape of Nanking ในช่วงที่เธอมีอายุเกือบจะเข้า 30 ปี โดยข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตในประเทศจีน
ผลงานดังกล่าวทำให้ชางมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากถึงแม้เธอเป็นเพียงนักประวัติศาสตร์อายุน้อย และเว็บไซท์ของเธอก็ระบุว่าเธอได้รับเชิญให้ไปปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนหลายสิบครั้งในช่วงระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.ปีนี้
"เมื่อใดก็ตามที่ไอริสออกทัวร์เพื่อพูดคุยถึงเรื่อง The Rape of Nanking ก็จะมีคนหลายคนมาหาเธอเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของความทุกข์เข็ญและความโหดร้ายเลวทราม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับฝ่ายใดก็ตาม สิ่งนี้ช่วยให้เราเปิดใจกว้างในการพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์กับพวกเธอ" เวนดี โวลฟ์ หนึ่งในบรรณาธิการของชางในสำนักพิมพ์ไวกิ้ง เพนกวินกล่าว
ราบิเนอร์กล่าวว่าก่อนที่ชางจะเสียชีวิต เธอกำลังเตรียมเขียนหนังสือเกี่ยวกับกองทหารสหรัฐที่เคยรบที่คาบสมุทรบาทานในประเทศฟิลิปปินส์ในสงครามโลกครั้งที่สอง
ชางเกิดที่เมืองพรินซ์ตันในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และเป็นลูกของผู้อพยพชาวจีน เธอเติบโตขึ้นมาที่รัฐอิลลินอยส์และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ในปี 1989 หลังจากนั้นเธอได้ทำงานให้สำนักข่าวแอสโซซิเอเท็ด เพรส (AP) และหนังสือพิมพ์ชิคาโก ทริบูน ก่อนที่จะทำงานเป็นนักประวัติศาสตร์เต็มเวลา โดยเธอใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซันนีเวลในรัฐแคลิฟอร์เนีย
หนังสือเล่มล่าสุดของชางคือ "The Chinese in America: A Narrative History" โดยเธอทิ้งสามีกับลูกชายอายุ 2 ขวบไว้เบื้องหลัง
วิเคราะห์การเสียชีวิตของไอริส ชาง
ราอูล ฮิลเบิร์ก ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ใช้เวลากว่า 50 ปีในการศึกษาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดเผยว่า เขาพยายามแยกชีวิตส่วนตัวของเขาออกจากงาน แต่ก็ยอมรับว่าในบางครั้งเขาก็ตกอยู่ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากเรื่องราวที่เขาศึกษา
"ถึงแม้คุณเขียนงานของคุณเสร็จแล้ว และประสบความสำเร็จในการนำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน และถึงแม้คุณได้รับคำชื่นชมจากการทำงานดังกล่าว ในเช้าวันหนึ่งคุณก็จะตื่นขึ้นมาและพูดกับตัวคุณเองว่า 'ชาวยิวพวกนั้นยังคงตายไปแล้ว' และนั่นคือปฏิกิริยาที่ลึกที่สุดที่คุณได้รับจากการทำงาน" ฮิลเบิร์กกล่าว โดยเขาเป็นผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ชื่อ The Destruction of the European Jews
ไอริส ชาง นักเขียนวัย 36 ปีฆ่าตัวตายใกล้ซานฟรานซิสโก โดยชางเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ The Rape of Nanking ที่เล่าถึงเหตุการณ์อันโหดร้ายที่ทหารญี่ปุ่นทำกับชาวจีนในขณะบุกยึดกรุงนานกิงในปี 1937
การฆ่าตัวตายของชางทำให้มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทางจิตวิทยาที่เกิดจากการรับรู้เรื่องราวของโศกนาฏกรรมในอดีต และผู้เชี่ยวชาญก็กล่าวว่าคนแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไปต่อการรับรู้โศกนาฏกรรม
ชางซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์เพิ่งทำการวิจัยเรื่องโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่เมืองบาทานในประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก่อนที่เธอจะฆ่าตัวตาย
โศกนาฏกรรมที่บาทานเกิดขึ้นในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกมาที่ฟิลิปปินส์ โดยในครั้งนั้นทหารฟิลิปปินส์กับทหารสหรัฐราว 70,000 นายที่คาบสมุทรบาทานยอมแพ้อย่างเป็นทางการต่อญี่ปุ่นในปี 1942 และญี่ปุ่นก็บังคับให้เชลยศึกเหล่านี้เดินเท้าไปทางเหนือเป็นระยะทางราว 100 กิโลเมตรเพื่อเข้าค่ายนักโทษ
อย่างไรก็ดี เชลยสงครามเหล่านี้ได้รับความทุกข์ทรมานในระหว่างการเดินทางและมีผู้ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก โดยประเมินกันว่าเชลยที่เดินทางไปถึงจุดหมายมีจำนวนราว 54,000 คนเท่านั้น
"การได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ การได้ยินเรื่องเหล่านี้ติดต่อกันทุกปี อาจส่งผลให้เธอมีอาการซึมเศร้า แต่นี่เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น" เบรทท์ ดักลาส ซึ่งเป็นสามีของชางกล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโก โครนิเคิล
เดวิด สปีเกล ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกจิตแพทย์และพฤติกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่านักวิจัยบางคนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ "คนบางคนอาจมีอาการเคร่งเครียดผิดปกติหลังจากผ่านเหตุการณ์ทุกข์ทรมานได้โดยไม่ต้องผ่านเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเอง"
"ถึงแม้นักบรรเทาทุกข์และนักบำบัดไม่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายด้วยตัวเอง ในบางครั้งพวกเขาก็อาจมีอาการเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาได้โดยผ่านทางการตอกย้ำ"
"นี่เป็นอันตรายที่เกิดจากการทำงานอย่างหนึ่ง แต่ผมคิดว่าการทำงานในเรื่องที่น่าหดหู่ไม่จำเป็นจะต้องก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าตามมาเสมอไป" สปีเกลกล่าว
ฮิลเบิร์กกล่าวว่าเขาเริ่มทำงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตั้งแต่ปี 1948 และในระหว่างการทำงานนี้ เหตุการณ์เล็กๆบางเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อเขาอย่างรุนแรง โดยเขากล่าวว่าเขาล้มป่วยหลังจากเขาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับชาวยิวคนหนึ่งที่ฟ้องร้องรัฐบาลนาซีเพื่อขอสิทธิในการซื้อกาแฟ
"ผมรู้สึกคลื่นไส้เพราะเห็นได้ชัดว่าชาวยิวคนนี้ถูกเลือกให้ไปเข้าค่ายกักกันเอาช์วิทซ์หรือที่ใดก็ตามที่ถูกส่งไปและเขาก็ตาย ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใดเหตุการณ์นี้ถึงส่งผลกระทบต่อผมในขณะที่ผมสามารถอ่านเรื่องราวการสังหารหมู่เรื่องอื่นๆได้ด้วยจิตใจสงบ" ฮิลเบิร์กกล่าว
ฮิลเบิร์กเกิดที่กรุงเวียนนาซึ่งเต็มไปด้วยร้านกาแฟ และเขากล่าวว่าเหตุการณ์นี้กระตุ้นความทรงจำในวัยเด็กของเขา นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมว่าเขาเคยฝันว่าตัวเองเป็นเหยื่อที่ถูกส่งไปเอาช์วิทซ์ด้วย
โรเบิร์ต คองเควสท์ ซึ่งมีอายุ 87 ปีเป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นนำในการศึกษาเรื่องภัยอดอยากและความโหดร้ายภายใต้การปกครองของสตาลิน โดยมีประชาชนล้มตายไปหลายสิบล้านคนภายในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี คองเควสท์กล่าวว่าในบางครั้งเขาเองก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เล็กๆมากกว่าโศกนาฏกรรมขนาดใหญ่
"มีเหตุการณ์เล็กๆบางอย่างซึ่งอาจไม่ใช่เหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดในทางทฤษฎี แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คุณรู้สึกว่าบางทีโลกนี้อาจเลวร้ายกว่าที่เราเคยคิด" คองเควสท์กล่าว โดยเขาเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ The Great Terror และ Harvest of Sorrow
คองเควสท์ยกตัวอย่างถึงเอกสารที่ระบุว่านักเรียนในยุคสตาลินถูกบังคับให้ยืนอยู่หน้าโรงเรียนและฟังคำด่าทอหลังจากที่พ่อแม่ของนักเรียนกลุ่มนี้ถูกจับกุมตัว
"พวกเขาต้องฟังคำด่าประณามพ่อแม่ของเด็กคนหนึ่งเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง และเมื่อเด็กคนนั้นออกมาอยู่ข้างหน้า พวกเขาทุกคนก็ตะโกนใส่เด็กคนนั้น เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงระดับความเลวร้ายที่พวกเขาเผชิญ มันเลวร้ายมาก" คองเควสท์กล่าว
แต่ทั้งฮิลเบิร์กและคองเควสท์กล่าวว่าความปรารถนาของทั้งสองในการบอกเล่าให้โลกรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้คือเกราะที่ช่วยคุ้มกันพวกเขาออกจากความโศกเศร้าในหนังสือ โดยคองเควสท์กล่าวว่า "สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งไปกว่าเหตุการณ์เหล่านี้ก็คือการที่ชาวตะวันตกทำตัวเหมือนคนตาบอดที่ไม่ยอมรับรู้เรื่องราวของชาวโลก"
สปีเกลกล่าวว่าการมีจุดมุ่งหมายสามารถเป็นเกราะกำบังนักประวัติศาสตร์ออกจากความโหดร้ายของประเด็นที่พวกเขาศึกษา
"คนหลายคนสามารถปรับตัวให้เข้ากับงานนี้ได้ และสิ่งที่พวกเขาทำก็คือการค้นหาบางแง่มุมของสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ซึ่งเป็นแง่มุมที่ทำให้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมและกำลังทำบางสิ่งที่มีคุณค่า" สปีเกลกล่าว
"ผมคิดว่าบางคนที่เขียนหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมนานกิงน่าจะมองว่าการทำงานนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การสังเกตโศกนาฏกรรม แต่เป็นการทำตามความเชื่อของซานตายานาที่ว่าผู้ที่ไม่รับรู้ประวัติศาสตร์จะทำให้ประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นซ้ำรอย บางทีจุดประสงค์ในการทำงานนี้ก็คือการช่วยกันทำให้โศกนาฏกรรมนี้ไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก" สปีเกลกล่าว
จอร์จ ซานตายานา เป็นนักเขียนและนักปรัชญาที่มีชีวิตระหว่างปี 1863-1952 โดยเขาเคยเขียนหนังสือปรัชญา Realms of Being (1927-1940) ที่มีจำนวน 4 เล่มจบ และแต่งนิยายเรื่อง The Last Puritan (1935)
โรเจอร์ เบล ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่ปลดเกษียณแล้วของมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลในรัฐเคนตักกี กล่าวว่าผู้ที่พบกับความรุนแรงในการทำงานอาจได้รับความทุกข์ได้ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถทิ้งงานไว้ข้างหลังขณะใช้ชีวิตส่วนตัว
"ในบางครั้งคนเราจะเริ่มนำสิ่งที่พวกเขาทำมาปะปนกับสิ่งที่พวกเขาเป็น โดยเฉพาะถ้าหากคุณเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังหรือเป็นเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย คุณก็มีแนวโน้มที่จะนำสิ่งนั้นมารวมกับตัวตนของคุณเอง" เบลกล่าว
จากคุณ : Madeleine de Scudery - [ 6 ก.พ. 48 20:07:09 A:202.176.184.12 X: TicketID:002703 ]
เครดิต http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8097349/K8097349.html
จากคุณ |
:
โตนิค
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ก.ค. 52 17:07:38
|
|
|
|
 |