Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
พระราชดำรัสจากการถวายฎีกาของนิสิต จุฬาฯ เมื่อ ปี ๒๕๐๖  

"บวรศักดิ์" ยืนยัน พ.ร.ฎ.2457 วิธีการทูลเกล้าฯถวายฎีกายังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ยกวิทยานิพนธ์ กรณีนิสิตจุฬาฯถวายฎีกา ระบุพระราชดำรัส "ที่จะถวายฎีกานั้น" จะต้องมีสำนึกผิดจริงๆทางใจด้วย

"บวรศักดิ์"ยันพ.ร.ฎ.2457ยังใช้อยู่

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต เขียนบทความอีกครั้งโดยยืนยันว่าพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) วางระเบียบวิธีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 ยังคงมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน หลังจากที่เขียนบทความ การใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณีŽ ปรากฏว่านายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรค พท. ออกทักท้วงว่า พ.ร.ฎ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว

ศ.ดร.บวรศักดิ์ระบุว่า ต้องเขียนบทความเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้การเมืองมาบิดเบือนความถูกต้อง โดยวิทยานิพนธ์ของคุณเพ็ญจันทร์ โชติบาล เรื่อง พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ไทย ระบุไว้ชัดเจนว่า หลักเกณฑ์และวิธีการใดๆ ในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.วางระเบียบวิธีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 เท่านั้นที่ถูกยกเลิกไป เพราะมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้แล้ว คุณเพ็ญจันทร์ไม่ได้ระบุไว้ในที่ใดว่า พ.ร.ฎ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไปทั้งฉบับ

ยกกรณีนิสิตจุฬาฯถวายฎีกา

ศ.ดร.บวรศักดิ์ระบุว่า มีวิทยานิพนธ์อีกเล่มของคุณวรรธนวรรณ ประพัฒน์ทอง เรื่อง พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์ ยืนยันไว้ในหลายที่ว่า พ.ร.ฎ.วางระเบียบวิธีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 ยังคงใช้บังคับอยู่ นอกจากนี้ยังระบุถึงกรณีฎีกานิสิต จุฬาฯ ไว้ ความดังนี้

"กรณีของฎีกานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2506 นั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำสั่งลงโทษนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ก่อเรื่องวิวาทร้ายแรงระหว่างนิสิตต่างคณะ โดยการไล่ออกและพักการศึกษาครั้งนั้น เป็นเรื่องที่เป็นกรณีที่รุนแรงระหว่างนิสิตกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งอธิการบดี ความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะก่อตัวเป็นความแตกร้าวระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 20 กันยายน ขณะที่เสด็จออกจากประตูพระตำหนักจิตรลดารโหฐานนั้น นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จำนวน 9 คน ได้เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแทบพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

มีพระราชดำรัส"ต้องสำนึกผิดด้วย"

ในวิทยานิพนธ์ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณรับฎีกา และมีพระราชดำรัสว่า ในการที่จะถวายฎีกานั้น จะต้องมีความสำนึกผิดจริงๆ ทางใจด้วย ต้องยอมรับว่าที่ได้กระทำไปแล้วเป็นความผิดจริง จึงจะอภัยกันได้ มิใช่เป็นการถวายฎีกาแต่เพียงลายลักษณะอักษร

"เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามหมายกำหนดการแล้ว มีพระราชดำรัสเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ที่ประชุมฟังเกี่ยวกับที่นิสิตทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา และมีพระราชดำรัสว่า ฎีกานี้นิสิตทั้งหลายที่ถูกทำโทษเขียนมารับว่าทำผิดจริง การรับว่าทำผิดนี้แสดงว่าเขารู้ตัวว่าผิด คนเราทำผิดครั้งเดียวนับว่าเก่ง นิสิตพวกนี้ไม่เคยบอกว่าทำผิดมาก่อน การที่เขาทำผิดและฎีกามาบอกในวันนี้ จึงอยากจะให้อธิการบดีและคณาจารย์อภัยเขาเสีย เนื่องในงานวันนี้"

"ด้วยพระราชดำรัสดังกล่าวนี้เอง ทำให้อธิการบดีรับสนองพระราชประสงค์ และประกอบพิธีลดโทษนิสิตเหล่านั้น โดยให้ทุกคนปฏิญาณต่อหน้าอาจารย์ แล้วคืนสภาพแห่งความเป็นนิสิตอีกครั้ง"


จากอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์

จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่เวลามีเสด็จฯต้องมีการตั้งซองรับเสด็จ นิสิตหญิง-ชายนั่งพับเพียบกับพื้นถนนและก้มกราบบนพื้นเวลามีรถยนต์พระที่ นั่งผ่าน และสาเหตุของการตั้งซองรับเสด็จฯ

เกิดจาก"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ ที่ 20 กันยายน 2506 ณ 15.00น.ยังจารึกอยู่ในความทรงจำผู้ที่เกี่ยวข้องหรือทราบเรื่องราวโดยตลอด โดยเฉพาะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะที่รถยนต์พระที่นั่ง แล่นออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จะเลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระราม 5 มีนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งเรียงรายรอเฝ้ารับเสด็จอยู่ ได้คุกเข่าลงและเข้าหมอบแทบประตูพระที่นั่งซึ่งทำให้จำต้องหยุดรถชั่ว ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถามถึงความประสงค์ที่มารอดัก หน้ารถพระที่นั่งครั้งนี้ ว่ามีความประสงค์อย่างไร นิสิตซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มได้กราบบังคมทูลโดยย่อ แล้วนำฎีกาขึ้นทูลถวายเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับฎีกาแล้วทรงมีพระราช ดำรัสแก่นิสิตเหล่านั้นเล็กน้อย แล้วรถยนต์พระที่นั่งก็เคลื่อนที่ต่อไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยใกล้ชิด ดั่งเช่นทุกปีมา ฎีกาที่กลุ่มนิสิตทูลเกล้าฯ นั้น ได้ขอพระราชทานอภัยโทษอันสืบเนื่องมาจากสาเหตุเกิดการพิพาทกันระหว่างนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ 9 คน กับรองอธิการบดีฝ่ายปกครอง ซึ่งโดยสาเหตุอันแท้จริงนั้นไม่อาจสืบทราบได้ถ่องแท้ เพียงแต่ทราบว่า นิสิตวิศวฯ 2 คน ถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนมหาวิทยาลัยนอกนั้นมีความผิดหนักเบาลดหลั่นกันลงไป โดยได้รับโทษให้พักการเรียนมีกำหนดและเพิกถอนสิทธิในการสอบไล่ ซึ่งปรากฏว่าภายหลังที่ทางมหาวิทยาลัยได้ออกคำสั่งลงโทษดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีการอุทธรณ์ การประท้วง และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ซึ่งมีทีท่าว่าไม่อาจจะยุติลงได้ ครั้นถึงเวลาดังกล่าวข้างต้นด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้น กระหม่อม เหตุการณ์อันทำท่าจะรุนแรงและลุกลามไปใหญ่โต ได้กลับคืนสู่สภาพปกติ เมื่อนิสิตทั้ง 9 คนได้ถวายฎีกาแล้ว


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสทรงตักเตือนนิสิตว่า“ในการที่จะ ถวายฎีกานั้น จะต้องมีความนึกผิดจริง ๆ ทางใจด้วยต้องยอมรับว่ากระทำไปแล้วเป็นความผิดจริง จึงจะให้อภัยกันมิใช่เป็นการถวายฎีกาแต่เพียงโดยลายลักษณ์อักษร” เมื่อรถยนต์พระที่นั่งแล่นคล้อยไป นิสิตทั้ง 9 คนก็แยกย้ายกันกลับไม่ตามเสด็จไปทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากอยู่ในระหว่างลงโทษ...ทรงมีพระราชดำรัสให้ที่ประชุมทราบถึงกรณีที่ เกิดขึ้นหน้าตำหนักจิตรลดารโหฐาน เกี่ยวกับนิสิตทูลเกล้าฯถวายฎีกาพร้อมทั้งนำฎีกาออกไปให้ที่ประชุมดูรวมทั้ง คำสั่งของมหาวิทยาลัย “ฎีกานี้นิสิตทั้งหลายที่ถูกทำโทษเขียนมารับว่าทำผิดจริง การรับว่าทำผิดนี้แสดงว่าเขารู้ตัวว่าทำผิด คนเราทำผิดครั้งเดียวนับว่าเก่ง นิสิตพวกนี้ไม่เคยบอกว่าทำผิดมาก่อนการที่เขาทำผิดและฎีกาบอกมาวันนี้ จึงอยากจะให้อธิการบดีและคณะอาจารย์อภัยเขาเสีย เนื่องในงานวันนี้” ...


ภายหลังที่กระแสพระราชดำรัสให้อภัยโทษแก่นิสิตจบลง บรรดานิสิตที่มีจำนวนล้นหอประชุมและคณาจารย์ ได้พากันปรบมืออยู่เป็นเวลานาน รวมทั้งอธิการบดีด้วย บรรยากาศภายในและภายนอกห้องประชุมมีแต่ความสดชื่น ร่าเริง เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษไม่มีโอกาสได้รู้เห็น ซึ่งคงจะก่อให้เกิดความปิติปราโมทย์ ยิ่งกว่าจะได้ยินคำบอกเล่าจากเพื่อนฝูง"


ป.ล.ปัจจุบันการหมอบกราบรับเสด็จตามทางเสด็จพระราชดำเนิน ไม่มีแล้ว เพราะเมื่อปี ๒๕๕๐ มีคนสติไม่ดีที่เฝ้าฯอยู่ริมทาง วิ่งมาทางรถยนต์พระที่นั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สารถีจคงหักหลบไม่ให้ชนคนนั้น แต่ก็หวิดไปทับนิสิตที่หมอบกราบเฝ้าฯอยู่ ธรรมเนียมนี้จึงเห็นเป็นอันตราย จึงเปลี่ยนเป็นการตั้งซองยืนรับเสด็จแทน

แก้ไขเมื่อ 16 ส.ค. 52 22:15:12

จากคุณ : natthaset
เขียนเมื่อ : 16 ส.ค. 52 11:39:11




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com