ความคิดเห็นที่ 2 |
|
จนกระทั่งขณะนี้ ก็ยังมีผู้เข้าใจว่า ขุนหลวงหาวัด หมายถึงท่านบวชหลายหนจำพรรษาหลายวัด ต้องหาวัดที่จะประทับจำพรรษาอยู่เรื่อยๆ จึงทรงพระฉายานามว่า ขุนหลวงหาวัด
ที่จริง หา เป็นคำโบราณ แปลว่า อยู่ ขุนหลวงเจ้าฟ้าอุทุมพร หรือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ ได้เพียง ๒๕ วัน ก็สละราชสมบัติ ถวายราชสมบัติแก่พระเชษฐาธิราช คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ แล้วเสด็จออกทรงผนวช เมื่อเสด็จออกทรงผนวช ท่านเป็นขุนหลวง คือพระเจ้าแผ่นดินแล้วทรงสละราชย์ ราษฎรจึงเรียกท่านว่า ขุนหลวงหาวัด คือ ขุนหลวงผู้เสด็จออกมาประทับอยู่วัด ตั้งแต่บัดนั้น
เมื่อเสียกรุงแก่พม่า ขุนหลวงหาวัดในสมณเพศ ทรงถูกพม่านำพระองค์ไป พร้อมกับกวาดต้อนพระราชวงศ์ ขุนนาง ชาวบ้านอพยพไปอยู่พม่ามากมาย ดังที่ทราบๆ กันอยู่
เป็นธรรมเนียมซึ่งประเทศได้เชลยศึกไปจะต้องสอบถามความเป็น
ไปของประเทศคู่ศึกแล้วจดไว้ ในรัชกาลที่ ๔ ได้จดหมายเหตุ บันทึกไว้เป็นภาษามอญจากพระสงฆ์รามัญองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้แปลเป็นภาษาไทย และเรียกหนังสือนี้ว่า พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ ต่อมาโรงพิมพ์หมอสมิทคงจะได้ฉบับแปลเป็นภาษาไทยนี้ แล้วนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ โดยให้ชื่อเรื่องว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสประเทศพม่า ไปทรงเห็นจดหมายเหตุบันทึกเป็นภาษาพม่าในหอหลวง จึงทรงขอให้หอพระสมุดวชิรญาณไปขอถัดมา แล้วให้แปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า คำให้การชาวกรุงเก่า เพราะทรงเห็นว่าข้อความทั้งหลายคงจะได้มาจากการสอบถามเชลยหลายคน มิใช่แต่ขุนหลวงหาวัดพระองค์เดียว แต่ทั้งฉบับภาษามอญ ที่แปลเป็น คำให้การขุนหลวงหาวัด และฉบับภาษาพม่า ที่แปลเป็น คำให้การชาวกรุงเก่า ทั้งสองฉบับ มีข้อความและสาระสำคัญคล้ายๆ กัน ผิดกันบ้างแต่ข้อปลีกย่อย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯได้ทรงสันนิษฐานว่า แรกเริ่มทีเดียวคงจะจดบันทึกถ้อยคำ หรือที่มาเรียกกันตามศัพท์หมอสมิทว่า คำให้การ เป็นภาษามอญก่อน เนื่องจากมอญสนิทกับไทยพูดจากันรู้เรื่องกว่าพม่า แล้วจึงแปลจากมอญเป็นภาษาพม่าเพื่อเก็บเข้าหอหลวง เมื่อแปลเป็นภาษาพม่าก็คงจะตัดตอนข้อความบางส่วนออก คำให้การ ฉบับภาษามอญ ขุนหลวงหาวัด จึงมีที่แปลกแตกต่างไปบ้างจาก คำให้การ ฉบับภาษาพม่า ชาวกรุงเก่า
คำให้การขุนหลวงหาวัด ท่านทรงเล่าถึงพี่น้องของท่านรวมทั้งองค์ท่านเองด้วย ที่ร่วมพระราชบิดาเดียวกันนั้นถึง ๑๐๘ พระองค์
ที่เป็นเจ้าฟ้ามี ๑๘ พระองค์
พระอัครมเหสี กรมหลวงอภัยนุชิต หรือพระพันวสาใหญ่ มีพระราชโอรส พระองค์เดียว คือเจ้าฟ้ากุ้ง หรือนราธิเบศร์ หรือธรรมาธิเบศร์ กวีเอกผู้ทรงพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือ อันลือลั่น เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ อีก ๖ องค์ ต่อๆ ลงมา เป็นพระราชธิดาทั้งสิ้น
พระมเหสีรอง กรมหลวงพิพิธมนตรี เรียกกันว่า พระพันวสาน้อย มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือเจ้าฟ้าเอกทัศ (ขุนหลวงสุริยมรินทร์) และเจ้าฟ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) สองพระองค์นี้พระชนมายุ ห่างกันเกือบ ๒๐ ปี พระพันวสาน้อยมีพระราชโอรสธิดา ๘ พระองค์ เจ้าฟ้าเอกทัศ เป็นลำดับที่ ๕ เจ้าฟ้าอุทุมพร ลำดับที่ ๘ เป็นน้องสุดท้อง ท่านถึงทรงเกรงพระทัยพระเชษฐานัก ส่วนอีก ๖ พระองค์เป็นเจ้าฟ้าหญิงหมด เท่ากันกับพระพันวสาใหญ่ ซึ่งมีพระราชธิดา ๖ พระองค์เช่นกัน
พระมเหสีลำดับที่ ๓ คือเจ้าฟ้าสังวาล ซึ่งเมื่อพระเจ้าบรมโกษฐ์ทรงรับเป็นพระมเหสี พระชันษาคงจะน้อยอ่อนว่าเจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสองค์ใหญ่ มีผู้สันนิษฐาน (แกมจินตนาการจากพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง) ว่าอาจจะทรงรักใคร่กันอยู่กับเจ้าฟ้ากุ้ง ก่อนได้เป็นพระมเหสี เจ้าฟ้าสังวาลนี้ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่า สมเด็จตำหนักกลาง เป็นเจ้าฟ้ามาแต่ประสูติ เพราะพระบิดาเป็นพระองค์เจ้า พระราชนัดดาพระเพทราชา ส่วนพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า พระราชนัดดา พระเจ้าท้ายสระ
เจ้าฟ้าสังวาล มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ นักอ่านวรรณกรรมเรื่องอิเหนา คงจะรู้จักพระนามเจ้าฟ้า ๒ พระองค์นี้เป็นอย่างดี คือ เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ ผู้ทรงนิพนธ์เรื่องอิเหนาใหญ่ (ดาหลัง) และ อิเหนา แต่พระนิพนธ์เก่านั้นศูนย์หายไปเกือบหมดครั้งกรุงแตก ทว่าบางสำนวนก็มีผู้จดจำไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา (เล็ก) ขึ้นใหม่ ตามเค้าโครงเรื่องเดิม ส่วนพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งของเจ้าฟ้าสังวาล ว่าพระนามเจ้าฟ้าอาภรณ์
พระพันวสาน้อยนั้น ในคำให้การขุนหลวงหาวัด พระราชธิดา ๖ องค์ มีพระนามว่า ๑. เจ้าฟ้าประชาวดี ๒. เจ้าฟ้าประภาวดี ๓. เจ้าฟ้าพินทวดี ๔. เจ้าฟ้ากษัตริย์ ๕. เจ้าฟ้าจันทรวดี ๖. เจ้าฟ้านวน
พระนามเหล่านี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ท่านทรงว่าอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะถ่ายทอดจากภาษามอญ และพม่า
พระราชธิดาองค์สำคัญที่เสด็จหนีรอดจากการถูกกวาดต้อนมาได้ คือ เจ้าฟ้าพินทวดี
ท่านทรงมีพระชนม์ยืนยาวจากกรุงธนบุรี มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๓๔๕ ในรัชกาลที่ ๑ ได้เล่าแล้วว่า สมเด็จเจ้าฟ้าพินทวดี ท่านทรงเป็นที่ยกย่องในราชสำนักฝ่ายในทั้งสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้า ท่านเป็นผู้ทรงแนะสอนเอาไว้ตามแบบแผนพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างครั้งกรุงเก่า เพราะท่านเคยลงสรงโสกันต์ด้วยพระองค์เองมาแล้ว
เมื่อต้นรัชกาลที่ ๑ ในระยะเวลา ๑๐ ปีนั้น มีเจ้าฟ้า ๗ พระองค์ ถึงเวลาที่จะทรงโสกันต์ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ เจ้าฟ้าพระภาคิไนย (หลานน้าลูกพี่สาว) ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าในกรมพระราชวังหลัง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มหาราช ทรงเป็น ปู่น้อย) ๑ พระองค์ และเจ้าฟ้า พระราชนัดดา (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ๑
แต่ในระยะเวลา ๑๐ ปี เมื่อถึงปีที่ควรจะต้องมีพิธีโสกันต์แต่ละพระองค์ ก็มีการรบทัพจับศึกวุ่นวายอยู่ไม่มีช่องที่จะได้ทำการพระราชพิธีเลย จึงโปรดฯให้ทำกันแต่พอสังเขปทุกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเจ้าฟ้าพินทวดีเอาไว้ในเรื่อง ประเพณีลงสรงโสกันต์ ว่า
เจ้าฟ้าพินทวดีซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาโบราณนั้น ท่านเคยลงสรงโสกันต์ด้วยพระองค์เอง แลเห็นการงานต่างๆ เมื่อเวลาลงสรงโสกันต์เจ้า พี่เจ้าน้องของท่าน ท่านทราบการทุกอย่าง เป็นผู้แนะนำอย่างธรรมเนียมโบราณอื่นๆ ต่างๆ หลายอย่างหลายประการในกรุงเทพฯนี้
เมื่อท่านเห็นว่าเจ้าฟ้า ๗ พระองค์ ที่โสกันต์ไม่ได้ทำตามตำราพระราชพิธี แต่สักพระองค์หนึ่ง จนหมดเจ้าฟ้าไปแล้ว ท่านก็บ่นนักว่าการอย่างธรรมเนียมพระราชพิธีลงสรงโสกันต์ เจ้าจะสาบศูนย์ไปเสียแล้ว ท่านก็ทรงชราแล้ว เมื่อไม่มีพระชนม์ท่าน ถ้าการสืบไปมีเวลาที่จะได้ทำขึ้น ใครจะมาแนะชี้การให้ถูกต้องตามแบบแผนได้เล่า ท่านจึงคิดอ่านจดหมายการงานลงสรงโสกันต์ต่างๆ ลงไว้ แล้วชี้แจงให้ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างหน้าข้างในเรียนดูรูไว้ด้วยกันมาก เพื่อจะไม่ให้การสาบศูนย์ไป
ทางฝ่ายสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาสุรสิงหนาท ทรงทราบพระปรารภวิตกของเจ้าฟ้าพันทวดี จึงกราบบังคมทูลขอแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ให้โปรดเกล้าฯ ให้ พระองค์ท่านทำการโสกันต์พระราชโอรสธิดา ของพระองค์ท่านที่เป็นแต่เพียงพระองค์เจ้า ซึ่งถึงเวลาโสกันต์ ให้สมมติเป็นดังเจ้าฟ้า เพื่อให้เห็นทันเวลา เมื่อเจ้าฟ้าพินทวดียังทรงพระชนม์อยู่ เพราะทางวังหลวง เวลานั้นหมดพระองค์เจ้าฟ้า ที่จะต้องทรงโสกันต์แล้ว แม้เจ้าฟ้าพระองค์เล็กๆ ก็ยังไม่มี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็โปรดฯให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ
กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงสร้างเขาไกรลาส มีพระมณฑปยอด มีสระอโนดาตและท่อไขน้ำจากปากสัตว์ทั้ง ๔ ในป่าหิมพานต์ตามอย่างที่เจ้าฟ้าพินทวดีชี้การให้ทำ
การพระราชพิธีโสกันต์พระองค์เจ้า สมมติเป็นเจ้าฟ้าที่มีเขาไกรลาส และพระมณฑปบนยอด ในวังหน้ามีถึง ๓ ครั้งแล้ว จึงได้มีการพระราชพิธีในวังหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ห่างจากที่ทำครั้งสุดท้ายในวังหน้า ๗ ปี เจ้าฟ้าพินทวดีสิ้นพระชนม์แล้ว ๗ ปี เช่นกัน
นั่นคือ พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุกธิดาเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต
เป็นการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณีครั้งกรุงเก่าเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
จากคุณ |
:
นิดจัง
|
เขียนเมื่อ |
:
17 ส.ค. 52 16:51:41
A:125.24.33.68 X: TicketID:225557
|
|
|
|