 |
ความคิดเห็นที่ 41 |
|
# คุณ ....4จุด
ถ้าให้ผมเดา ผมจะเดาดังนี้ครับ ทำไมสยามไม่บุกพม่า
๑..สภาพภูมิประเทศ ถ้าลองดูดี ๆ จะพบว่า การที่สยามจะเดินทัพไปตีพม่า กับ การที่พม่าจะเดินทัพมาตีสยาม ความยากง่ายของสองอาณาจักรนี้จะต่างกันอยู่พอสมควร สยามต้องเดินทางข้ามเขาไปตีพม่า แต่พม่าเดินลงจากเขามาตีสยาม
อาณาจักรมอญ ที่เป็นแหล่งพักทัพชั้นดีของอาณาจักรใหญ่ทั้งสอง(สยาม,พม่า) หรือจะเป็น ลานนา ก็มีพลวัตรทางการเมืองที่สูงมาก และแน่นอนว่า การเดินทัพลงมาตีย่างกุ้ง หรือ เมาะตะมะ ง่ายกว่า การที่จะยกทัพข้ามเขาจากอยุธยาไปตีเมาะตะมะ เพราะแค่ล่องอิรวดีมา ก็ไวกว่าการเดินทัพข้ามเขาตะนาวศรีไปตีแน่ ๆ อยู่แล้ว ปัจจัยเรื่องเวลาในการเข้าถึงยุทธภูมิก็ต่างกันแล้ว ดังนั้นไม่น่าแปลกใจ ที่ทำไมพม่าถึงมักจะได้เปรียบทางยุทธวิธีในการควบคุมหัวเมืองมอญมากกว่าสยามอยู่เสมอ
ส่วนทางลานนา กว่า สยาม จะเข้าไปมีบทบาทจริง ๆ จัง ๆ ก็ต้องรอให้หมดยุคกษัตริย์ที่ทรงปรีชาแห่งราชวงศ์มังรายหมดไปเสียก่อน (รอถึงยุคพระนางจิรประภา พม่าเองก็ต้องรอยุคนี้เช่นกัน แต่พม่าไวกว่าอยุธยาเยอะ)
๒.. ความมั่นคงทางการเมืองภายในอาณาจักรสยามเอง ถ้าเราดูประวัติศาสตร์เอาเฉพาะอยุธยาตั้งแต่ตั้งกรุงฯ มา จนถึง กรุงแตกครั้งที่ ๒ เราจะสามารถนับรัชกาลที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองเข้มแข็ง สามารถนับเป็นพระองค์ได้เลย
ที่เหลือ ก็จะทรงหมดเวลาไปกับการ จัดการการเมืองระหว่างพระญาติพระวงศ์ , ไม่ก็ต้องทรงหมดเวลาไปกับการจัดการหัวเมืองฝ่ายเหนือ / กบฏ (พม่าก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน หลังจากหมดยุคพระเจ้านันทบุเรง)
๓.. ถ้ามองเรื่องความคุ้มทุน การแผ่ขยายอาณาเขตไปยังพม่า แทบไม่มีผลประโยชน์อะไรที่จะคุ้มทุนเลย แต่ถ้าแผ่ไปยังหัวเมืองมอญ สยาม จะมีทางออกทะเลด้านอ่าวเบงกอล ทำให้สามารถควบคุมเส้นทางการค้าด้านอ่าวเบงกอล ซึ่งจะต่อไปยัง อินเดีย,เปอร์เซีย,ยุโรป ได้อย่างสบาย ๆ
การขยายอาณาเขตมายังแหลมมลายูก็เช่นเดียวกัน และ ก็เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตไปยัง เขมร(ทั้งในฝั่งและหัวเมืองชายทะเล โดยเฉพาะหัวเมืองชายทะเล ที่มีกลุ่มพ่อค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งสถานีการค้าอยู่ อย่างเช่นที่เมืองพุทไธมาศ) และ ลาว
โดยเฉพาะ เขมร และ ลาว ซึ่งสามารถเดินทางไปได้สะดวกกว่า ที่จะเดินทางเข้าไปยังพม่า
๔.. กษัตริย์พม่า มีคติความเชื่อเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิ ที่จะต้องปราบไปทุกทิศ และในทุก ๆ ครั้ง คตินี้จะสำเร็จลงได้ ก็ต้องปราบทิศสุดท้าย ก็คือ อยุธยา ซึ่งคตินี้ มันจะเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ส่งต่อมาถึง บุเรงนอง มาเรื่อย ๆ จนถึง พระเจ้าอลองพญา และ สุดท้ายไปจบที่พระเจ้าปดุง
ในขณะที่ทางอยุธยา ถ้าให้ผมเดา กษัตริย์อยุธยาไม่ได้เน้นในคติความเชื่อเรื่อง พระเจ้าจักรพรรดิที่ต้องปราบไปในทิศานุทิศมากเท่าพม่า
อยุธยาเน้นความมั่งคั่ง ร่ำรวย ของอาณาจักรมากกว่า ดังจะเห็นได้จากบรรดาศิลปกรรม หรือ เครื่องใช้ไม้สอย ที่ทำออกมาสวยหรู และ ส่วนใหญ่จะเน้นวัสดุที่ทำด้วยโลหะมีค่า อย่าง ทองคำ , เงิน ,อัญมณี ต่าง ๆ รวมไปถึง สิ่งก่อสร้าง ถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่ชาวสยามสร้างขึ้นมา ทั้ง วัด วัง สถูป เจดีย์ ฯลฯ เพราะฉะนั้น สยามอยุธยา จึงไม่เน้นการไปทำสงครามในอาณาบริเวณที่ อยุธยาคิดไว้แล้วว่า ทำสงครามไปก็ไม่ได้กำไร นั่นเอง
พูดง่าย ๆ ความเป็น "ราชาธิราช" ของพม่า กับ ของสยาม มองกันคนละมุม (ความเห็นส่วนตัวของผม มีสิทธิผิดได้)
๕.. การปกครองต่ออาณานิคม(ประเทศราช) ของ สองอาณาจักร ระหว่าง สยาม และ พม่า ก็ต่างกัน
ของสยาม ประเทศราช ก็คือประเทศราช มีหน้าที่ส่งบรรณาการมาประจำเท่านั้น ไม่มีการส่งคนของตัวเองไปควบคุมแต่อย่างใด จะมีการส่งกำลังเข้าไปจัดการก็ต่อเมื่อ มีความคิดจะเป็นอื่น
แต่ของพม่า เมื่อตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าแล้ว พม่าก็จะส่งคนของตัวเองเข้ามาปกครองอีกที ทั้งหัวเมืองมอญ , ลานนา , ลาว ,อยุธยา ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น
๖..จากข้อ ๕ มันก็จะนำมาซึ่งแนวคิดที่ว่า ทำไม สยาม มองพม่าในทัศนคติที่ไม่ดี ก็เพราะ รูปแบบการเข้าปกครองเขตอิทธิพลของสยามกับพม่าต่างกันนั่นเอง
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ หากพม่าจะสงสัยว่า พวกเขาก็ไม่เคยทำอะไรและไม่เคยคิดมองสยามในแง่ไม่ดี ก็เพราะเขาเคยชินกับการปกครองในรูปแบบของเขา และ เช่นกันในมุมมองของ สยาม ก็ไม่เคยชินกับรูปแบบและพฤติกรรมการปกครองแบบพม่า เพราะฉะนั้น ชาวสยาม จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมเมื่อพม่ายึดอาณาจักรของตัวเองได้ จึงปฏิบัติไม่เหมือนกับที่ตัวเอง ทำกับ ลาว และ เขมร
ถ้าจะเปรียบเทียบกัน ในการยึดครองอาณาจักรอยุธยาทั้งสองครั้ง ชาวสยาม ดูจะมีอคติกับการยึดครองครั้งที่สองเสียมากกว่าการยึดครองครั้งแรก ดังที่เราท่านทราบกันนั่นเอง
นี่ก็คือ มุมมองของผมต่อคำถามของคุณ ๔ จุด ที่ได้ถามผมมา
จากคุณ |
:
ศรีสิทธิสงคราม
|
เขียนเมื่อ |
:
20 ส.ค. 52 10:03:42
A:124.121.137.201 X: TicketID:197085
|
|
|
|
 |