 |
ความคิดเห็นที่ 4 |
|
ขออนุญาตเอาบางส่วนของ (ร่าง) วิทยานิพนธ์ของผมมาให้อ่านนะครับ เพราะมันตรงกับเรื่องที่เจ้าของกระทู้ถามมาพอดี ---------------------------------------------------------------
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่มีปฏิสัมพันธ์กับจีนทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมมาเป็นเวลานานนับพันปีแล้ว ดังปรากฏหลักฐานการติดต่อในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับอาณาจักรฟูนัน (Funan) บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 (ฮอลล์, 2549, น. 27-33) อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของจีนปรากฏชัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ดังกรณีของเวียดนามซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 จนกระทั่งถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ที่ราชวงศ์ถังล่มสลายลงและจีนเข้าสู่ยุคแห่งความแตกแยก เวียดนามจึงสามารถปลดแอกตนเองได้สำเร็จ แต่กระนั้นเวียดนามก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนและรับเอารูปแบบการปกครองตามลัทธิขงจื๊อของจีนมาใช้ตราบจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรืออีกกรณีหนึ่งคือ พม่า ซึ่งการรุกรานของราชวงศ์หยวนได้นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิพุกาม (Bagan) ใน ค.ศ. 1287 กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า จีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความเจริญและการล่มสลายของอาณาจักรต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรก็เช่นกัน แม้ว่าจะมีที่ตั้งที่ห่างไกลจากจีนและได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนน้อยกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป หากแต่จีนก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจในดินแดนแถบนี้ไม่น้อย การที่จีนเป็นอาณาจักรใหญ่ที่ผูกระบบบรรณาการเข้าไว้ด้วยกันกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่รัฐบรรณาการ ทำให้อาณาจักรต่างๆพากันแสวงหาการรับรองจากจีน ซึ่งจะช่วยให้อาณาจักรเหล่านั้นมีสถานะที่ได้เปรียบอาณาจักรข้างเคียงหรืออาณาจักรที่เป็นคู่แข่ง เห็นได้จากกรณีของอาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya) ที่ได้รับการรับรองจากจีนและกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ดังที่ Milton Osborne ได้บรรยายไว้ในหนังสือของเขา (ดู ออสบอร์น, 2544, น. 39) ความว่า
"ข้อเท็จจริงของการเป็นรัฐบรรณาการ แน่นอนว่า ย่อมเป็นเรื่องของการตกลงที่จะไม่กระทำการใดๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจีน แต่สัมพันธภาพนี้ยังมีนัยอีกด้วยว่า จีนจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบรรณาการของตนจากผู้ที่อาจจะลองดีด้วย สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับรัฐที่ทำการค้าอย่างศรีวิชัยคือ การได้รับการรับรองจากจีน ซึ่งก็เป็นไปพร้อมๆกับการได้รับสถานภาพรัฐบรรณาการ สถานภาพนี้เชื่อมโยงกับสิทธิที่จะค้าขายกับจีนด้วย เมื่อจีนมอบสถานะดังกล่าวให้แก่ศรีวิชัย รัฐการค้าทางทะเลอื่นๆ ซึ่งเป็นคู่แข่งของศรีวิชัยจะตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอย่างร้ายแรงทีเดียว"
เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรศรีวิชัยได้เสื่อมสลายลงและถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) และในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็ได้เกิดอาณาจักรการค้าทางทะเลขึ้นมาใหม่ในบริเวณแหลมมลายู นั่นคือ มะละกา (Melaka) ซึ่งงานศึกษาของสุพัฒน์ ธัญญวิบูลย์ (2539) และ O. W. Wolters (1970) ได้ชี้ให้เห็นว่ากองเรือของเจิ้งเหอและการสนับสนุนจากราชวงศ์หมิงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของอาณาจักรดังกล่าว
อาณาจักรมะละกาก่อตั้งขึ้นในต้นทศวรรษ 1400 โดยเจ้าชายปรเมศวร (Paramesvara) แห่งราชวงศ์เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา ผู้ซึ่งต้องการหนีจากอิทธิพลครอบงำของอาณาจักรมัชปาหิต ปัญหาสำคัญที่มะละกาต้องเผชิญมีสองประการ คือ (1) สภาพดินที่ไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก ทำให้ผู้คนต้องยังชีพด้วยการทำประมง และ (2) ความพยายามของอาณาจักรข้างเคียงอย่างอยุธยาและมัชปาหิตที่จะขยายอำนาจเข้ามาในแถบมะละกา ดังนั้นมะละกาจึงได้รีบสถาปนาความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนเมื่อ ค.ศ. 1405 ดังปรากฏในบันทึกของหม่าฮวนที่กล่าวถึงมะละกา (ดู Ma Huan, 1997, p. 108-109) ความว่า
"แต่ก่อนสถานที่นี้ไม่ได้มีสถานะเป็น ประเทศ ... ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินของตนเอง ปกครองโดยเพียงหัวหน้าคนเดียวเท่านั้น แผ่นดินนี้เป็นเขตอำนาจของประเทศเสียน-หลัว โดยทุกปีต้องส่งบรรณาการเป็นเงินจำนวน 40 เหลี่ยง ถ้าไม่ส่งบรรณาการไป ประเทศเสียน-หลัวจะส่งทหารเข้ามาโจมตี
ในปีที่ 7 แห่งรัชสมัยหย่งเล่อ ... ราชทูตมหาขันทีเจิ้งเหอและคณะนำพระราชโองการของจักรพรรดิ พร้อมด้วยตราเงิน 2 ตรา หมวก 1 ใบ เข็มขัดและเสื้อคลุมมามอบให้แก่หัวหน้า เจิ้งเหอได้ปักป้ายจารึกและยกสถานที่นี้ให้เป็นนคร ซึ่งต่อมาเรียกว่า ประเทศหม่าน-ล่า-เจีย หลังจากนั้นเสียน-หลัวก็ไม่กล้ามารุกราน
หัวหน้าผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินได้นำพระชายาและพระโอรสเดินทางไปยังเมืองหลวง เพื่อขอบพระทัยและนำผลิตผลท้องถิ่นถวายเป็นเครื่องบรรณาการ และราชสำนักได้มอบเรือเดินสมุทรเพื่อให้พระองค์สามารถเดินทางกลับไปปกครองประเทศได้"
Wolters (1970, pp. 154-155) มองว่าการเป็นรัฐบรรณาการของจีนได้ทำให้มะละกามีสถานะเทียบเท่ากับอยุธยาและมัชปาหิต และอำนาจทางทะเลของจีนที่แสดงออกผ่านกองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอได้ทำให้ทั้งสองอาณาจักรต่างมีความเกรงใจจีนและมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นในการขยายอำนาจเข้าสู่มะละกา หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า จีนเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับอาณาจักรที่เกิดใหม่อย่างมะละกานั่นเอง
ในทางเศรษฐกิจ การเปิดความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนได้ทำให้มะละกาได้สิทธิในการค้าขายกับจีน การปรากฏตัวของกองเรือจีนและสินค้าจีนที่มะละกาได้ช่วยดึงดูดพ่อค้าจากดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแถบใกล้เคียงอย่างหมู่เกาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อยุธยา พะโค ฯลฯ รวมไปถึงดินแดนที่อยู่ห่างไกลอย่างตะวันออกกลางและเปอร์เซียให้เข้ามาค้าขายยังมะละกา จนทำให้มะละกากลายเป็นเมืองท่าแลกเปลี่ยนสินค้า (entrepot center) ที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และถึงแม้ว่าจีนจะยกเลิกนโยบายกองเรือมหาสมบัติหลัง ค.ศ. 1433 แต่สิ่งนั้นก็มิได้มีผลทางลบต่อมะละกาแต่ประการใด เพราะในช่วงดังกล่าวมะละกาได้มีรากฐานทางการเมืองและการค้าที่มั่นคงแล้ว (สุพัฒน์ ธัญญวิบูลย์, 2539, น. 44-51) อาณาจักรมะละกามีความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนกระทั่งตกอยู่ภายใต้การยึดครองของโปรตุเกสใน ค.ศ. 1511
แก้ไขเมื่อ 23 ส.ค. 52 14:59:52
แก้ไขเมื่อ 23 ส.ค. 52 14:58:15
จากคุณ |
:
ชาวจีนศึกษา ณ TU
|
เขียนเมื่อ |
:
23 ส.ค. 52 14:56:35
|
|
|
|
 |