 |
การยึดมั่นในความดี - บทเรียนจาก "กษิต ภิรมย์"
|
|
การยึดมั่นในความดี - บทเรียนจาก "กษิต ภิรมย์"
อาทิตย์กว่าๆ ที่ผ่านมา ผมได้ไปกระทรวงการต่างประเทศเพื่อฟังวิทยากรคนหนึ่งพูดเกี่ยวกับเรื่องนโยบายการต่างประเทศ. วิทยากรคนนั้นคือ รมว.ต่างประเทศ กษิต ภิรมย์. ปรากฏว่าแทนที่ผมจะได้ฟังเรื่องนโยบายการต่างประเทศ ผมกลับได้ฟังโอวาทแทนครับ. คุณกษิตใช้เวลาส่วนใหญ่พูดถึงเรื่อง "การยึดมั่นอยู่ในความดี". เขาบอกว่าเราทุกคนต้องยึดมั่นอยู่ในความดี ไม่หวั่นไหวต่อความเกลียดชังที่อาจได้รับ ไม่ว่าจะมีคนจะด่าว่าแค่ไหนมีคนอยากสาดกระสุนใส่จนเดินไปไหนต้องมีบอดี้การ์ดรอบตัว เราก็จะต้องไม่สั่นคลอน เราต้องมั่นคงในความดีที่เราทำ. เขาบอกว่า เขารู้ว่ามีคนเกลียดเขามากมาย แต่เขาไม่เคยสนใจ และการยึดมั่นในความดีโดยไม่สนใจผู้เกลียดชังนี้ ทำให้เขาตั้งมั่นอยู่ในความดีได้ด้วยจิตใจที่แจ่มใสเสมอ. ผมคิดว่าความคิดนี้ของคุณกษิตเป็นความคิดที่ผิดพลาดและอันตราย.
คำถามที่เราควรถามคุณกษิตคือ "คนดีที่คนทั้งเมืองเกลียด นั้นมีอยู่จริงด้วยหรือ?" ถ้าเราเชื่อว่าการทำความดี คือการสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นให้ได้มากที่สุดและสร้างความเดือดร้อนน้อยที่สุด เราก็ต้องเชื่อว่า "คนดีที่คนทั้งเมืองเกลียด"นั้นไม่มีอยู่จริง. ทั้งนี้เพราะว่า ความชื่นชอบและความเกลียดของผู้อื่นต่อตัวเรานั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการกระทำของเราได้สร้างประโยชน์หรือความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นมากกว่ากัน. ถ้าเราสร้างความเดือดร้อนมาก ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่คนอื่นจะเกลียดเรา. ถ้าเราสร้างประโยชน์มาก ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ผู้อื่นจะชื่นชอบเรา. ดังนั้น ถ้าผมเชื่อว่าผมเป็นคนดี (ซึ่งหมายความว่า ผมเชื่อว่าผมสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นมากกว่าสร้างความเดือดร้อน) แต่คนทั้งเมืองกลับเกลียดผมผมก็ต้องทบทวนตัวเองล่ะครับว่าผมได้สร้างประโยชน์แก่คนอื่นจริงหรือ? และถ้าผมสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำไมเขาจึงพากันเกลียดผม? พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ผมก็ต้องทบทวนตัวเอง ว่าผมเป็นคนดีจริงหรือไม่.
แน่นอน คุณกษิตคงไม่ได้เชื่อหรอก ว่าความดีคือการสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น. เขาเชื่อว่าความดีเป็นอะไรที่absolute มี "กฎศีลธรรม" กำหนดชัดเจนเป็นข้อๆ เช่น 1.ห้ามฆ่าสัตว์ 2.ห้ามลักขโมย 3.ห้ามนอกใจคู่สมรส 4.ห้ามพูดปด ส่อเสียด เพ้อเจ้อ 5.ห้ามดื่มเหล้า. ตอนที่ผมถามที่ ก.ต่างประเทศ คุณกษิตก็พูดว่า "ผมเชื่อในศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธบอกว่าให้รักษาศีล5 ผมไม่เคยโกง ไม่เคยพูดปดปลิ้นปล้อนเหมือน.... ไม่ว่าใครจะเกลียดผมยังไง ผมก็รู้ตัวว่าผมยึดมั่นอยู่ในศีล". คุณกษิตเชื่อว่า เพียงแค่เขาปฏิบัติตามกฎศีลธรรมเหล่านี้(ซึ่งเทพเจ้าที่ไหนประทานมาก็ไม่รู้) เขาก็สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นคนดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดคำนวณเลยว่าการกระทำของเขาสร้างประโยชน์หรือความเดือดร้อนให้ผู้อื่นมากกว่ากัน. เช่นนี้ เขาก็อาจพูดได้ว่า ถึงแม้คนทั้งเมืองจะเกลียดเขา เขาก็ยังนับว่าเป็น "คนดี" ได้ ตราบใดที่เขายึดมั่นในกฎเกณฑ์ความดีเหล่านี้.
แต่ถึงแม้ว่าเราจะใช้นิยาม "ความดี" ของคุณกษิต ผมคิดว่าเราก็ยังไม่สามารถเรียกคุณกษิตว่าเป็น "คนดี" ได้อยู่ดี ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ครับ. เหตุผลแรกก็คือ ถ้าคุณกษิตคิดว่าตัวเองประพฤติตัวตามศีล 5 แต่คนทั้งเมืองเกลียดเขา เขาก็ต้องทบทวนตัวเองว่าการกระทำของเขาอยู่ในกรอบศีล 5 จริงหรือไม่? เหตุผลที่สองก็คือ ต่อให้คุณกษิตประพฤติตามศีล5 จริง แต่ถ้าคนทั้งเมืองยังเกลียดเขา เขาก็ต้องทบทวนว่า ศีล 5 เป็นหลักศีลธรรมที่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่? หรือว่าการเป็นคนดีต้องทำอะไรที่มากกว่า 5 ข้อนี้? เช่น ต้องรับฟังเสียงของผู้อื่น ต้องไม่ดูถูกผู้อื่น(เช่นคนจน) ต้องไม่พูดจาสร้างความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านหรือก่อสงคราม? คำถามที่ว่า "ผมเป็นคนดีหรือไม่?" นั้น เป็นคำถามที่ผมตอบให้ตัวเองไม่ได้หรอกครับ ผมต้องถามคนอื่น.
"การยึดมั่นอยู่ในความดี" จึงเป็นแนวคิดที่อันตราย เพราะมันมักถูกใช้เป็นข้ออ้างของคนประเภท self-righteous ที่เข้าข้างตัวเอง คิดว่านิยามความดีของตัวเองถูกและก้มหน้าก้มตาทำตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าดี (และบางคนก็ตั้งหน้าตั้งตาโฆษณาความดีแบบของเขา) โดยไม่ฟังเสียงผู้อื่น ว่าเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่เขาทำหรือไม่. คนพวกนี้ใช้คำว่า "ยึดมั่นในความดี ความถูกต้อง" เพื่อที่จะเมินเฉยต่อคำวิพากษ์วิจารณ์และความเกลียดชัง. คนพวกนี้มักเดินหน้าทำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง ถึงแม้จะมีคนเกลียดชังเพราะเดือดร้อนจากการกระทำของเขา. ตัวอย่างคนประเภทนี้ เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, เบนิโต มุสโสลินี, โจเซฟ สตาลิน, และระเบียบรัตน์ พงษ์พาณิชย์. นี่คือบทเรียนที่ผมได้จาก กษิต ภิรมย์ ครับ.
จากคุณ |
:
ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
|
เขียนเมื่อ |
:
25 ส.ค. 52 23:51:13
|
|
|
|  |