 |
ความคิดเห็นที่ 3 |
กลุ่มนางใน ในพระราชสำนักมีการแบ่งออกเป็นหลายชั้น
ชั้นสูง ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นชาววังโดยพระชาติกำเนิด
ชั้นกลาง ได้แก่ กลุ่มที่มีความสัมพันธ์แบบบริวาร บรรดาลูกผู้ดีมีตระกูล ราชนิกุลชั้น ม.ร.ว. และ ม.ล. เข้าวังโดยการถวายตัว
ชั้นล่าง ได้แก่ โขลน สนม (ทำหน้าที่เกี่ยวกับโกศและหีบศพ และคอยควบคุมดูแลเจ้านายที่กระทำความผิด ที่เราเรียกการลงโทษเจ้านายว่า "ติดสนม" นั่นแหละครับ) คนรับใช้ของชนชั้นกลาง เป็นต้น
ในกระทู้นี้คุณเจ้าของกระทู้คงจะหมายถึง กลุ่มคนอย่างแม่พลอย แม่ช้อย ป้าสาย ฯลฯ พวกนี้คือกลุ่มคนชั้นกลาง หรือบริวารของฝ่ายใน ชีวิตความเป็นอยู่ก็คงเหมือนกับในหนังสือและที่คุณข้างบนกล่าวแล้ว กล่าวคือ
คนกลุ่มนี้จะถูกส่งเข้าวังตั้งแต่ยังเด็กเพื่อรับใช้เจ้านายตามตำหนักต่าง ๆ ตามความสัมพันธ์ของตระกูลที่มีต่อเจ้านาย "ฝ่ายใน" องค์นั้น ๆ และไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับพระราชสำนัก หากอยู่ในปกครองของเจ้านายแต่ละพระองค์ไป อีกประการหนึ่ง การส่งตัวเข้ามาถวายเจ้านายฝ่ายในในวังก็เพื่อให้บรรดากุลสตรีเหล่านี้ได้ศึกษา เรียนรู้ ศิลป วิทยาการต่าง ๆ รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีในวัง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางอำนาจทั่งปวงในเมืองไทยเวลานั้น
ต่อมาเมื่อถึงเวลา บรรดาสตรีกลุ่มนี้ก็อาจจะถวายบังคมลาออกไปแต่งงานหรือใช้ชีวิตในสังคมนอกวัง แต่ก็มีบางส่วนที่ยังคงถวายงานรับใช้เจ้านายของตัวต่อไป อย่างแม่ช้อย เป็นต้น
ต่อเมื่อเจ้านายของตนหาพระองค์ไม่แล้ว ชีวิตของสาวนางในกลุ่มนี้ก็เหมือน "แพแตก" ถ้าตำหนักที่เจ้านายของตนอยู่ไม่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายในพระองค์ใดมาอยู่ ก็อาจจะอาศัยอยู่ต่อไป แต่ถ้ามีพระบรมราชโองการให้เจ้านายองค์ใหม่มาประทับ บริวารเหล่านี้ก็คงต้องหาทางขยับขยายหาที่ทางฝากเนื้อฝากตัวกับเจ้านายองค์อื่น หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องออกจากวังไปอยู่ข้างนอก
เว้นแต่นางในบางคนที่ได้ถวายตัวทำราชการ เช่น ผู้ที่มีแววทางมโหรี ฟ้อนรำ ก็จะได้รับการฝึกหัดเป็นนางละครฝ่ายใน ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เครื่องนุ่งห่มตามฐานะ (มีฐานะเช่นเดียวกับข้าราชการประจำ) ดีไม่ดีอาจได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมต่อไปก็มีตัวอย่างอยู่มาก
บางคนก็มีหน้าที่ประจำในการ "อยู่งาน" คือ สตรีสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้สอย เช่น ทรงเครื่องราชูปโภคตามเสด็จ ผลัดเวรกันอยู่บนพระราชมณเฑียรคอยรับรับสั่ง เป็นต้น กลุ่มนี้ก็มีโอกาสถวายตัวเป็นเจ้าจอมเช่นกัน
นอกจากนี้ ก็ยังมีคุณพนักงาน ส่วนมากจะเป็นเจ้านายชั้น ม.จ. และผู้สืบตระกูล ในรัชกาลที่ ๕ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกลุ่มนี้คือ อธิบดีวังฝ่ายใน (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี หรือชาววังเรียก "เสด็จอธิบดี" ทรงเป็นพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดากับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) พระภรรยาเจ้าทุกลำดับและฝ่ายใน เมื่อจะออกจากพระบรมมหาราชวังจะต้องกราบทูลเสด็จอธิบดีทรงทราบ ทั้งนี้ ทรงว่าราชการอยู่จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
แต่ในสมัยต้นรัชกาล หน้าที่บัญชาการเป็นของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (ทูลกระหม่อมแก้ว)
เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน ในหนังสือ "ในรั้ว-ในวัง", มานิตย์นเรศร์, จมื่น. อ้างใน ลาวัณย์ โชตามระ, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๙ ได้กล่าวถึงบรรดากลุ่มนางในของแต่ละตำหนักไว้ชัดเจนมาก (เพราะจมื่นมานิตย์นเรศร์ (เฉลิม เศวตนันท์) ในวัยเยาว์ท่านอยู่ในพระราชสำนักรัชกาลที่ ๕) ว่า
"...การอยู่ในวังสมัยนั้นมีหลายสถานที่คือ หลายตำหนัก ดังนั้น การศึกษาวิชาหาความรู้ ตลอดจนขนบประเพณี จึงมีความสามารถไปคนละด้าน และจะรู้ได้ว่าคนไหนมาจากสำนักหรือตำหนักไหน ด้วยการแต่งกาย มารยาท และความรู้ เช่น ข้าหลวงของสมเด็จที่บน มักจะภูมิฐานใหญ่โต แต่งตัวยิ่งใหญ่กว่าข้าหลวงตำหนักอื่น คือทั้งโก้และเก๋ และมักเป็นลูกผู้ดีชั้นหนึ่ง มารยาทเข้าระเบียบแบบแผน ความรู้ทางการงานสูง เพราะเป็นสถานที่ชั้นสูง แต่ว่ากันว่ามักหยิ่งยโส คือไว้เนื้อไว้ตัวสูงสง่ากว่าคนอื่น ต่อไปคือสำนักหรือตำหนักสมเด็จตำหนัก ข้าหลวงตำหนักนี้เคร่งครัด คมสัน หนักแน่น ความรู้ปราดเปรื่องในเรื่องการงาน เมื่อมีเรือนออกไปก็ละม้ายคล้ายกับข้าหลวงสมเด็จที่บน แต่เคร่งครัดมากกว่า
ตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ข้าหลวงตำหนักนี้ว่ากันว่าเก๋ยิ่งนัก แต่งตัวฉูดฉาดบาดตา แต่มีเสน่ห์ พูดเก่ง กล้าหาญ ว่องไว ความรู้หนักไปทางรอบตัว เมื่อออกไปมีเรือน โดยมากเป็นข้าราชการฝ่ายทหาร ต่อไปก็ถึงตำหนักพระอัครชายาเธอ คือ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเลี้ยงเด็กที่ตำบลพลับพลาชัย ข้าหลวงตำหนักนี้โดยมากถนัดทางบริการ ทำกับข้าวเก่ง ของว่างเก่ง จัดครอบครัวดี เลี้ยงลูกดี มีความรู้พื้น ๆ แต่งตัวเรียบ ๆ เสงี่ยมเจียมตัว ชำนาญทางขับร้องดนตรี
ส่วนตำหนักเจ้าจอมมารดาแพ ท่านเจ้ายศเจ้าอย่าง ท่านเก่งในทางสมาคม ชอบเลี้ยงนก เล่นต้นไม้ และหรูหรา ข้าหลวงจึงเก่งกล้าสามารถตามนาย เรียกกันได้ว่าเจ้าชู้ แต่งตัวฉูดฉาด ไว้ผมทัดยาว ชอบทัดดอกไม้หรือห้อยดอกไม้ เช่น จำปา มะลิ มัดเป็นช่อ ท่านเองก็ชอบหรือโปรดอย่างนั้น..."
คุณเจ้าของกระทู้คงจะพอมองเห็นความเจริญและความเสื่อมของนางในเหล่านี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ "นางใน สถานภาพ พฤติกรรม และสัญลักษณ์ ในวิถีชีวิตของสตรีฝ่ายในสมัย ร.๕" โดย พรศิริ บูรณเขตต์, กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, ๒๕๕๒
แก้ไขเมื่อ 28 ส.ค. 52 23:25:39
จากคุณ |
:
วศินสุข
|
เขียนเมื่อ |
:
28 ส.ค. 52 23:22:23
|
|
|
|
 |