ความคิดเห็นที่ 3 |
สำหรับบุคคลในภาพนี้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และทรงเป็นต้นราชสกุล รังสิต
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระนามเดิม พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2494) พระราชโอรสองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์(ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์จ้าสายสนิท แพทย์หลวงในรัชกาลที่ 5) หลังให้ประสูติกาลพระราชโอรสได้ ๑๒ วัน เจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์เนื่องก็ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ มาพระราชทานสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ดังนั้นสมเด็จพระพันวัสสาจึงทรงรับพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ไว้อุปการะพร้อมทั้งพระเชษฐภคินี คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท(28 สิงหาคม 2427 - 13 มิถุนายน 2477) โดยทรงเลี้ยงดูพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งทรงมีพระชนมายุใกล้เคียงกับเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช(พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9) เหมือนกับพระราชโอรสที่ประทานกำเนิดด้วยพระองค์เอง
พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ เสด็จไปศึกษาชั้นมัธยม ณ เมืองฮัสเบอรสตัด ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2442 จากนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์กโดยทรงพระประสงค์ที่จะศึกษาวิชาแพทย์ แต่ในระยะแรกทรงศึกษาวิชากฎหมาย ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงทรงเปลี่ยนไปเรียนวิชาการศึกษา และยังทรงเข้าเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการแพทย์บางอย่างเป็นส่วนพระองค์กับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นด้วย
พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษา เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร"เมื่อ พ.ศ. 2457 ทรงรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2458 ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งในสมัยนั้นยังนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณ คลอดบุตรโดยหมอตำแยกันอยู่ ทรงส่งเสริมให้ข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เข้าเรียนต่อหลักสูตรของศิริราชพยาบาล ให้สนใจศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันให้มากขึ้น ทรงปลูกฝังความนิยมในการเรียนแพทย์ให้เป็นที่แพร่หลาย จัดการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเป็นผู้โน้มน้าวสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ให้ทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์
พ.ศ. 2481-2486 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ในกบฏพระยาทรงสุรเดช ทำให้พระองค์ถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวางและตะรุเตา รวมทั้งถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์ แต่ได้มีการประกาศสถาปนาพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ตามเดิม เมื่อ พ.ศ. 2487 ในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงสมรสกับ หม่อมเอลิซาเบท รังสิต ณ อยุธยา (ชารนแบรเกอร)(Elisabeth Scharnberger) หญิงชาวเยอรมัน ณ ที่ทำการอำเภอเวสตมินสเตอร กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2455 ทรงเป็นต้นราชสกุล รังสิต ทรงมีโอรส 2 พระองค์และธิดา 1 พระองค์ ได้แก่
1.หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ประสูติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2456 เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รัชนี (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) และมีหม่อม คือ พิทักษ์ แสงฤทธิ์ -หม่อมราชวงศ์หญิงวิภานันท์ รังสิต สมรสกับ สวนิต คงสิริ และ วิลเลียม บี. บูธ -ปินิตา คงสิริ -นิตินันท์ คงสิริ -ปริศนา บูธ -หม่อมราชวงศ์หญิงปรียนันทนา รังสิต สมรสกับ มหาราช จักกัต สิงห์ แห่งชัยปุระ รัฐราชสถาน (Maharaj Jagat Singh of Jaipur) ต่อมาสมรสกับ ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล -ราชกุมารี ลลิตยา กุมารี แห่งชัยปุระ -ราชกุมาร เทพราช สิงห์ แห่งชัยปุระ -หม่อมราชวงศ์ประทักษ์ รังสิต
2.หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต ประสูติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2460 เสกสมรสกับ อามีเลีย มอนตอลติ และ นาลินี สุขนิล -หม่อมราชวงศ์พงษ์สนิธ รังสิต สมรสกับ สมใจ เลิศสุวรรณ -หม่อมราชวงศ์หญิงจารุวรรณ รังสิต สมรสกับ อเล็กซานเดอร์ ซูรซก -อเล็กซานเดอร์ คิม ซูรซก -หม่อมราชวงศ์สายสนิธ รังสิต สมรสกับ ปิยะลักษณ์ เป้าเปรมบุตร -หม่อมราชวงศ์หญิงวลัยลักษณ์ รังสิต
3.หม่อมเจ้าจารุลักษณ์กัลยาณี รังสิต (ท่านผู้หญิงจารุลักษณ์กัลยาณี รังสิต ในปัจจุบัน) ประสูติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2467 ภายหลังได้กราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เพื่อทำการสมรสกับนายแพทย์เฉลิม บูรณะนนท์ -กัลยาณี แคทรีน บูรณะนนท์ -ชัย คริสโตเฟอร์ บูรณะนนท์ -ฉันทกะ บูรณะนนท์ สมรสกับ ซิลเวีย ซีสนิส -ฉันทกะ บูรณะนนท์ Jr.
กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงจัดตั้งวิชาแพทย์ปรุงยาขึ้นในโรงเรียนราชแพทยาลัย ตามที่กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถได้ทรงปรารภเกี่ยวกับการขาดแคลนแพทย์ปรุงยาในกองทัพ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเภสัชกรรม ในปี พ.ศ. 2476 กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงได้รับการเชิดชูเฉลิมพระเกียรติ์เป็น พระบิดาของวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมแห่งประเทศไทย
-พ.ศ. 2460 ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงจัดตั้งกองนักเรียนแพทย์เสือป่า และทรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง -พ.ศ. 2461 ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุข -พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร -พ.ศ. 2468 ทรงลาออกจากราชการเนื่องจากพระอนามัยไม่สมบูรณ์ -พ.ศ. 2490 ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช -พ.ศ. 2493 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี พระราชทานยศพลเอกนายทหารพิเศษประจำกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และให้สถาปนาพระยศเป็นกรมพระชัยนาทนเรนทร และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สิ้นพระชนม์ที่วังถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2494 ด้วยพระโรคหืดและโรคพระหทัยวาย เป็นราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระชนม์ยืนที่สุด พระชนมายุ 65 ปี 4 เดือน โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2495
แก้ไขเมื่อ 11 ก.ย. 52 10:52:39
แก้ไขเมื่อ 11 ก.ย. 52 10:50:19
แก้ไขเมื่อ 11 ก.ย. 52 10:46:32
จากคุณ |
:
คนชุมพรนอนกรุงเทพ
|
เขียนเมื่อ |
:
11 ก.ย. 52 10:38:44
|
|
|
|