Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
พล นิกร กิมหงวน หัสนิยายอมตะ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย  

กันยายน 2552…

ในยุคที่หนังสือขายดีพิมพ์กันที่สามสี่พันเล่ม หนังสือขายดีอาจจะพิมพ์มากกว่านั้น แต่อย่างเก่งก็ไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นเล่ม ยุคที่นิยายที่พิมพ์ได้ขายคล่อง เป็นนิยายที่เขียนด้วยภาษาไทยผสมอีโมติค่อน นิยายที่ใช้โครงเรื่องแบบเรื่องเกาหลีญี่ปุ่น, ปีที่นิตยสารทางวรรณกรรมอย่าง “ช่อการะเกด” เริ่มพูดเรื่องการปิดตัวลงในปีต่อไป ปีที่คนอ่านหนังสือทั่วไป จำไม่ได้ว่าใครรางวัลซีไรต์ในปีนี้...

25 กันยายน 2511...

นักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย ละทิ้งลมหายใจสุดท้ายเดินทางไปสู่สัมปรายภพ ท่านผู้เขียนหนังสือมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ยุคที่คนไทยยังรู้หนังสือน้อยกว่าสมัยนี้หลายต่อหลายเท่า กลับมีนักเขียนที่สามารถเขียนนิยายที่พิมพ์ครั้งละสองถึงสามหมื่นเล่ม และขายหมดเกลี้ยงภายในสัปดาห์เดียวได้

หรือแม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอันเป็นช่วงวิกฤต กระดาษแพงและหายาก กระดาษที่มีน้อยแสนน้อยต้องใช้ในกิจการพิมพ์ที่สำคัญจริงๆ แต่หนังสือของท่านก็ยังคงสามารถเจียดจ่ายหากระดาษมาพิมพ์ได้ แม้จะเป็นกระดาษชั้นเลวหรือคุณภาพแย่เพียงใด นั่นเพราะแน่ใจว่า อักษรของท่านที่จะได้รับการพิมพ์ออกมานั้น มีคนรออ่านอยู่แน่ๆ

แม้ในวัยที่เกินห้าสิบปี ท่านยังมีแรงและพลังในการผลิตนิตยสารรายปักษ์ได้ด้วยตัวคนเดียว เขียนคนเดียวทั้งเล่ม ไม่นับว่าจะต้องเขียนเรื่องชุดสามเกลอไปลงที่อื่นอีก โดยท่านจะต้องเขียนเรื่องสามเกลอที่มีความยาวเฉลี่ยตอนละ 60-100 หน้าหนังสือพ๊อกเก็ตบุ๊ค เฉลี่ยสามตอนต่อสัปดาห์ได้อย่างไม่รู้เบื่อ ทั้งคนเขียนและคนอ่าน เชื่อกันว่าตลอดชีวิตของท่าน ท่านเขียนหนังสือเรื่องชุดสามเกลอมาแล้วไม่ต่ำกว่าพันห้าร้อยตอน เริ่มจาก “อายผู้หญิง” ถึงตอนที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นตอนสุดท้ายก่อนผู้เขียนเสียชีวิต คือตอน “เจ้าแห้วบวช” หรือนับตั้งแต่ พ.ศ. 2481 - 2511

เรื่องชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน คืองานวรรณกรรมยิ่งใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย และยังถูกตีพิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่าเจ็ดสิบปี และแม้ผู้เขียนจะวายชนม์ไปแล้ว แต่ท่านก็ยังคงสร้าง “แฟน” หนังสือรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ หนังสือของท่านยังเป็นหนังสือขายได้ และหาอ่านได้อยู่อย่างไม่รู้จัก “เชย”

สำหรับท่านที่เป็นแฟน หรือเคยอ่านเรื่องชุดสามเกลออยู่แล้ว คงไม่รู้สึกแปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไรนัก แต่สำหรับท่านที่รู้สึกว่าสองสามย่อหน้าที่ผ่านมาของผมนั้นฟังดูน่าทึ่งเกินไปเสียหน่อยละก็

ท่านสนใจจะรู้จักหัสนิยายมหัศจรรย์ชุดนี้หรือไม่ ? ท่านอยากจะลองพิสูจน์หรือไม่ว่า มันสนุกอะไรหนักหนา กับหนังสือที่เขียนมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ?

บทความนี้หมายใจในสิ่งนั้น – คือเปิดโลกของหัสนิยายสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน สำหรับผู้ไม่เคยสัมผัสหรือนักอ่านรุ่นใหม่ รวมทั้ง “ต่อเชื่อมภาพ” สำหรับนักอ่านสามเกลอที่ยังไม่ปะติดปะต่อ หรือเริ่มสนใจอยากอ่านแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

ผมจะพยายามนำท่านเข้าสู่โลกของสามเกลอให้ดีและเข้าใจง่ายที่สุด โดยตั้งใจจะเขียนบทความชิ้นนี้เพื่อเป็นการคารวะแก่ ป. อินทรปาลิต นักเขียนผู้เป็นเสมือน “ครู” ผู้จุดประกายการเขียนคนแรกๆ ของผมคนหนึ่ง ผู้ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ถึงความสนุกของการอ่านหนังสือ และอยากที่จะเป็นคนเขียนหนังสือในวัยเยาว์ เนื่องในโอกาสที่จะครบวาระ 41 ปี ของการจากไปของท่าน ในค่ำวันที่ 25 กันยายน 2511 (อันที่จริงผมตั้งใจจะเผยแพร่บทความนี้ในวันที่ 25 กันยายน แต่ความที่อยากเพิ่มเติมข้อมูลหลายๆอย่าง ทำให้บทความนี้เสร็จไม่ทันวันนั้น แต่ก็พอใจมากกว่า ที่สามารถเรียบเรียงได้สมบูรณ์ดังใจหวัง)

พล นิกร กิมหงวน และคณะพรรคสี่สหาย

เรื่องชุดสามเกลอ เป็นหัสนิยาย ซึ่งหมายถึงนิยายเพื่อความสนุกสนานด้วยอารมณ์ขันอันบันเทิงเริงใจ จบในตอน มี “โลก” ที่ใช้เป็นฉากคือกรุงเทพมหานครและประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2481 ถึง 2511 และมีตัวละครหลักเป็น “คณะชายหนุ่ม” เพื่อนรักกันสี่คน คือ พล นิกร กิมหงวน ดร.ดิเรก และผู้ใหญ่ของคณะหนึ่งคนคือ พระยาปัจจนึกพินาศ และคนรับใช้ชื่อเจ้าแห้ว เป็นหกตัวละครหลักที่สำคัญ

การที่ต้องให้ “สามเกลอ” เป็นผู้ฐานะระดับมหาเศรษฐี นั่นก็น่าจะเพราะเพื่อให้เรื่องมีเสรีในการดำเนินไปได้อย่างสนุกสนานโลดโผนอย่างไร้ขีดจำกัดเชิงความเป็นไปได้ในเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจ (ป.อินทรปาลิต เคยพยายามเขียนหัสนิยายให้ตัวละครเอกเป็นคนจนอยู่เหมือนกัน คือชุด เทพ เทวฤทธิ์ วิทย์ เทวราช แต่ก็เหมือนเข็นไม่ขึ้น ทั้งๆที่นักเขียนรุ่นหลังยอมรับว่าเรื่องนี้ตลกเนียนกว่าเรื่องชุดสามเกลอเป็นไหนๆ ก็คงเพราะข้อจำกัดในความเป็นไปได้ของเนื้อเรื่องนั่นเอง – ก็ชีวิตคนจนมันจะไปสนุกอะไรเล่าท่าน) และมีนักวิทยาศาสตร์ระดับอัจฉริยะอย่าง ดร.ดิเรก เพื่อสร้างความเป็นไปได้อันไม่จำกัดในเชิงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และมีเจ้าคุณปัจจนึกผู้เป็นนายทหารนอกราชการระดับเจ้าคุณนายพลโท ทำให้สร้างความเป็นไปได้ในทางราชการทหารเพิ่มขึ้น

ด้วยโครงสร้างเช่นที่ว่า ทำให้สามเกลอของเรา สามารถเที่ยวไปได้ทุกแห่งในพระนครหรือท่องทั่วแดนสยาม สามารถกินเที่ยวกันได้อย่างเอกเกริกโดยไม่ต้องสงสัยว่าเอาเงินมาจากที่ไหน สามารถเปิดโรงถ่ายภาพยนตร์ เทียวป่า ท่องอวกาศ ล่องหนหายตัว หลุดเข้าไปในโลกของภาพยนตร์เรื่องดังในยุคนั้น หรือแม้แต่เข้าร่วมรบในสงครามสำคัญๆ ได้อย่างเสรี เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดทั้งทางปัจจัย ความรู้ และอำนาจ นั่นเอง

อย่างไรก็ตามแม้ “สามเกลอ” อาจจะดำรงอยู่ในท้องเรื่องของเศรษฐีหรือชนชั้นสูงในสังคม แต่ก็เป็นคนชั้นสูงจากจินตนาการของ “คนชั้นกลาง” ผู้เขียน ดังนั้นรสนิยมและโลกทัศน์จึงเป็นโลกทัศน์แบบชนชั้นกลางในยุคนั้นนั่นเอง และนอกจากนี้ ผู้เขียนยังใส่ “อุดมคติ” ของ “ชนชั้นสูง” ที่ควรจะเป็น คือ รักและเคารพในเกียรติยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทอง มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากกว่า เห็นคนเป็นคนเท่าๆกัน และเจือจานต่อสังคมเท่าที่ควร

สามเกลอจึงเป็นหนังสือที่มีทุกรส สนุกสนาน ตื่นเต้น รักโศก ตลกโปกฮาแบบสุภาพเรียบร้อย (หากจะมีมุกตลกแบบสัปปะดนปนบ้าง ก็ถูกซ่อนใส่รหัสนัยไว้ชนิดเด็กอ่านไม่ใคร่รู้เรื่อง เช่น “คนฟันโยกห้ามเลี้ยงแมวตัวผู้” หรือ “ไปงานศพป้าอ้อง”) ระทึกขวัญสั่นประสาท หรือก้าวไกลไปในโลกแห่งจินตนาการอย่างนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นดี โดยผู้อ่านจะมีความรู้สึกเหมือนถูกดูดดึงไปในยุคสมัยดังกล่าว เนื่องด้วยผู้เขียนสามารถบรรยายบรรยากาศแห่งยุคสมัยออกมาได้อย่างมีชีวิตและวิญญาณ เหมือนกับการชะลอภาวะนั้นไว้ในตัวหนังสือ รอเวลาถูกปลุกคืนเข้าไปโลดแล่นในจินตนาการด้วยการอ่าน สามเกลอจึงเป็นเหมือนกับ “เพื่อน” ที่มีชีวิตอยู่ในโลกหนังสือดังกล่าวให้เราเข้าไปเยี่ยมเยือน

เรามาทำความรู้จักกับตัวละครในเรื่องชุดสามเกลอกันอย่างเจาะลึกกันเถิด...

 
 

จากคุณ : Players
เขียนเมื่อ : 28 ก.ย. 52 03:25:15




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com