ความคิดเห็นที่ 11 |
น่าจะเป็นพระฉายาลักษณ์ในช่วงที่เสด็จต่างประเทศ ทรงเล่าไว้ในหนังสือความทรงจำ ว่าฝรั่งรู้จักพระองค์ในพระนาม ปริ๊นซ์ดำรง
ความทรงจำตอนที่ ๕ เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๑๗ http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&group=8&date=02-04-2007&gblog=5
.... ตรงนี้จะเล่าเรื่องประวัติของครูแปตเตอร์สันต่อไปอีกสักหน่อย เพราะยังมีการเกี่ยวข้องกับตัวฉันอีกภายหลังและเป็นเรื่องน่าจะเล่าด้วย เมื่อครูแปตเตอร์สันไปจากประเทศนี้แล้ว ไปได้ตำแหน่งรับราชการอังกฤษเป็นครูประจำโรงเรียนของรัฐบาลที่เกาะมอรีสเซียส ในตอนนี้ดูเหมือนจะไม่มีศิษย์คนใดได้รับจดหมายจากครูเลย เพราะเกาะมอรีสเซียสอยู่ห่างไกลมหาสมุทรอินเดีย การส่งจดหมายไปมาในระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศในสมัยนั้นลำบาก ด้วยยังไม่มีกรมไปรษณีย์ ใครๆจะมีจดหมายกับประเทศอื่นก็ต้องอาศัยกงสุลอังกฤษ เพราะมีเรือกลไฟในบังคับอังกฤษเดินในระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองสิงคโปร์และเมืองฮ่องกง กงสุลอังกฤษที่ศาลาท่าน้ำของสถานกงสุลอเป็นออฟฟิศไปรษณีย์ห้อง ๑ และเอาตั๋วตราไปรษณีย์เมืองสิงคโปร์พิมพ์อักษร B (เป็นเครื่องหมายว่า บางกอก )เพิ่มลงเป็นเครื่องหมาย ใครจะส่งหนังสือไปต่างประเทศก็ไปซื้อตั๋วตรานั้นปิดตามอัตราไปรษณีย์อังกฤษ แล้วมอบไว้ที่สถานกงสุล เมื่อเรือจะออกกงสุลอังกฤษให้รวบรวมหนังสือนั้นใส่ถุง ฝากส่งกรมไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์หรือเมืองฮ่องกงไปส่งอีกชั้น ๑ แต่หนังสือของรัฐบาลนั้นกรมท่ามอบกับนายเรือให้ไปส่งกับกงสุลสยาม ทิ้งไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์ หาได้ส่งทางไปรษณีย์ที่สถานกงสุลไม่ เมื่อเรือเข้ามาถึง ผู้ใดคาดว่าจะได้รับหนังสือจากต่างประเทศ ก็ไปสืบที่สถานกงสุลอังกฤษ ถ้ามีก็รับเอามาหรือถ้าพบหนังสือถึงผู้อื่นก็ไปบอกกันให้ไปรับ เป็นเช่นกล่าวนี้มาจนตั้งกรมไปรษณีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ การส่งหนังสือจึงสะดวกแต่นั้นมา
ครูแปตเตอรสันรับราชการอยูที่เกาะมอริเซียสจนชราจึงออกมารับเบี้ยบำนาญกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเขียนหนังสือมาถึงใครในประเทศนี้ จนถึงในรัชกาลที่ ๖ เมื่อฉันเป็นกรมพระ และย้ายมาอยู่วังวรดิสแล้ว วันหนึ่งได้รับจดหมายของครูแปตเตอร์สันส่งมาจากประเทศอังกฤษ สลักหลังซองถึง "พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร" เผอิญมีใครในพนักงานไปรษณีย์เขารู้ว่าเป็นชื่อเดิมของฉันจึงส่งมาให้ ได้ทราบเรื่องประวัติของครูแปตเตอร์สันในฉบับนั้นว่า ตั้งแต่ออกจากราชการที่เมืองมอรีสเซียสแล้วกลับไปอยู่ในประเทศอังกฤษ ต้องทิ้งบ้านเดิมที่เกาะเจอสี เพราะต้องขายแบ่งมรดกกันเมื่อบิดาตาย ครูไปแต่งงานอยู่กับเมียในอิงแลนด์เป็นสุขสบายหลายปี ครั้งเมียตายเหลือแต่ตัวคนเดียวมีความลำบากด้วยแก่ชรา หลานคน ๑ ซึ่งบวชพรตเขาสงสารรับเอาไปไว้ด้วยที่เมืองคลอยสเตอร์ แกรำลึกขึ้นมาถึงศิษย์เดิมที่ในประเทศสยาม คือ เจ้าฟ้าภาณุรังษี พระองค์เทวัญ พระองค์มนุษย์ และตัวฉัน อยากทราบว่าอยู่ดีด้วยกันหรืออย่างไร จึงมีจดหมายมาถามขอให้บอกไปให้ทราบ
เวลานั้นสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯกับสมเด็จพระมหาสมณฯสิ้นพระชนม์เสียแล้ว เหลือแต่สมเด็จพระราชปิตุลาฯ ฉันนำจดหมายครูไปถวายทอดพระเนตรก็ทรงยินดี มีลายพระหัตถ์และส่งพระรูปกับเงินไปประทาน ส่วนฉันก็ทำเช่นเดียวกัน ได้บอกไปให้ครูทราบพระประวัติของเจ้านายที่แกถามถึง ส่วนตัวฉันเองบอกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เลื่อนยศสูงขึ้น เป็นเหตุให้ใช้นามใหม่ว่า "ดำรง" ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันในเวลานี้ ครูมีจดหมายตอบมาว่าเสียดายจริงๆที่เพิ่งรู้ ด้วยเมื่อตัวฉันไปยุโรป(ครั้งแรก)ใน พ.ศ. ๒๔๓๔ นั้นประจวบเวลาครูกลับไปเยี่ยมบ้านอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้ยินเขาโจษกันว่ามีเจ้าไทยองค์ ๑ เรียกว่า "ปรินซ์ดำรง" ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนถามแกว่ารู้จักปรินซ์ดำรงหรือไม่ แกตอบว่าไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่ปรินซ์ดำรง ไม่รู้เลยว่าคือศิษย์รัก(Favourite Pupil)ของแกนั่นเอง ถ้ารู้จักรีบมาหา ถึงกระนั้นเมื่อรู้ก็ยินดีอย่างยิ่ง ที่ฉันได้มีชื่อเสียงเกียรติยศถึงเพียงนี้
แต่นั้นครูกับฉันก็มีจดหมายถึงกันมาเนื่องๆ ครั้นเมื่อฉันไปยุโรป(คราวหลัง)ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตั้งใจว่าจะไปพบครูแปตเตอร์สันให้จงได้ ทราบว่าเวลานั้นอายุได้ถึง ๘๕ ปี และยังอยู่ที่เมืองคลอยสเตอร์เหมือนบอกมาแต่ก่อน หมายว่าไปพบครูเมื่อไรจะชวนถ่ายรูปฉายาลักษณ์ด้วยกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเป็นเด็ก เอามาให้ลูกหลานดู พอฉันไปถึงกรุงลอนดอนมีพวกหนังสือพิมพ์มาขอสนทนาด้วยหลายคน ทุกคนถามฉันว่าเรียนภาษาอังกฤษที่ไหน ฉันตอบว่าเรียนในบ้านเมืองของฉันเอง เขาพากันประหลาดใจถามว่าใครสอนให้ ฉันบอกว่าครูของฉันเป็นอังกฤษชื่อ มิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์สัน ตัวยังอยู่อายุได้ ๘๕ ปีแล้ว ฉันพยายาม Making a pilgrimage ไปหาให้ถึงเมืองคลอยสเตอร์ที่ครูอยู่ หนังสือพิมพก็พากันขึ้นชื่อสรรเสริญครูแปตเตอร์สันแพร่หลาย
ครั้นเมื่อฉันสิ้นกิจอื่นในลอนดอนถึงเวลาที่จะไปหาครู ฉันขอให้อุปทูตบอกไปถึงนักพรตผู้เป็นหลานว่า ฉันประสงค์จะไปเยี่ยมครู ในวันใดจะสะดวกแก่เขา ได้รับคำตอบมาว่าครูกำลังป่วยเป็นโรคชราอาการเพียบอยู่ ตั้งแต่เขาได้ยินข่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่าฉันไปถึงลอนดอน เขาก็อยากจะบอกให้ครูรู้ด้วยเขาทราบอยู่ว่าครูรักฉันมาก แต่เห็นว่าอาการป่วยเพียบจึงปรึกษาหมอๆห้ามมิให้บอกครู เพราะเกรงว่าความยินดีที่จู่โจมขึ้นแก่ครู Sudden Excitement อาจจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายก็ไม่กล้าบอก เมื่อฉันทราบความดังนั้นก็จนใจ ได้แต่ส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล เมื่อฉันออกจากลอนดอนในไม่ช้า ก็ได้รับจดหมายของนักพรตบอกว่าครูถึงแก่กรรม รู้สึกเสียใจและเสียดายยิ่งนักที่มิได้พบครูแปตเตอร์สันดังประสงค์ ....
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
จากคุณ |
:
กัมม์
|
เขียนเมื่อ |
:
6 ต.ค. 52 09:41:29
|
|
|
|