 |
ความคิดเห็นที่ 4 |
อ้างอิงจาก "จารึกวัดศรีชุม" (จารึกสุโขทัย หลักที่ ๒) ที่นักวิชาการปัจจุบันเชื่อว่าเป็นจารึกสุโขทัยที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบันนี้ และทำขึ้นก่อนจารึกใดในกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของกรุงสุโขทัยเมื่อแรกสถาปนา ซึ่งคัดมาให้อ่านบางตอน (เฉพาะที่เกี่ยวกับพ่อขุนบางกลางหาว) โดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย ดังนี้
"*เมื่อก่อนพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นไปเมืองบางยาง ให้สิริจัดพลพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดพาพ่อขุนผาเมืองผดาจกันแลกัน
พ่อขุนบางกลางหาวได้เมืองศรีเสชนาไล...พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดเอาพลมาตบกันที่บางขลง ได้เวนบางขลงแก่พ่อขุนผาเมือง แล้วพ่อขุนผาเมืองเอาพลเมือเมืองราดเมืองสคาได้.สบ.ล...บศรีเสชนาไลสุโขทัย ขอมสบาดโขลญลำพงรบกัน.แล้วพ่อขุนบางกลางหาวไป...พลพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดมาที่นี้ให้ผชุมพล
*พ่อขุนบางกลางหาวแลพ่อขุนผาเมืองขี่ช้างสราย...พระยาผสบกัน แลกันคืนให้ขี่ด้วยกันเหนือหัวช้าง
*บรคนแล้วพ่อขุนบางกลางหาวแลขอมสบาดโขลญลำพบรบกัน
*พ่อขุนบางกลางหาวให้ไปบอกแก่พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนผาเมือง...ขอมสบาดโขลญลำพงห...พายพง
*พ่อขุนผาเมืองจึงยังเมืองสุโขทัยเข้าได้*เวนเมืองแก่พ่อขุนบางกลางหาว
*พ่อขุนบางกลางหาวมิสู้เข้าเพื่อเกรงแก่พระสหาย พ่อขุนผาเมืองจึงเอาพลออก พ่อขุนกลางหาวจึงเข้าเมือง
*พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัยให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์*นามเดิมกมรแดงอัญผาเมือง*เมื่อก่อนผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระให้ลูกสาวชื่อนางสุขรมหาเทวีกับขรรค์ชัยศรีให้นามเกียรติ์แก่พ่อขุนผาเมืองเหียมพ่อขุนบางกลางหาวได้ชื่อศรีอินทราบดินทราทิตย์ เพื่อพ่อขุนผาเมืองเอาชื่อตนให้แก่พระสหายอีก เมืองสุโขทัยเพื่อนั้น
*พ่อขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์ และพ่อขุนผาเมืองเอาพลตบกันพา.ว...ทั.เมือใต้เมือเหนือเตร่ลาคลาทุกแห่งทุกพาย ต่างคนต่างเมือบ้านเมือเมืองดังเก่า
ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อพ่อขุนรามราชปรา (ช) ญ์รู้ธรรมก่อพระศรีรัตนธาตุอันหนึ่ง ในศรีสัชนาลัย หลานพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อธรรมราชาพุล รู้บุญรู้ธรรมมีปรีชญาแก่กม บ่มิกล่าวถี่เลย"
ถอดความได้ประมาณว่า พ่อขุนศรีนาวนำถุม มีลูกชายคนหนึ่งชื่อ "ผาเมือง" เป็นเจ้า ๒ เมือง คือ เมืองราด และ เมืองลุม
แต่พ่อขุนผาเมืองเป็น "ลูกเขย" กษัตริย์กัมพูชาด้วย (จารึกวัดศรีชุมเรียกกษัตริย์กัมพูชาตามประเพณีท้องถิ่นว่า "ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ") เพราะกษัตริย์กัมพูชาในสมัยนั้นยก "ลูกสาว" ชื่อ "นางสุขรมหาเทวี" ให้เป็น "เมีย" พ่อขุนผาเมือง
นอกจากนั้น กษัตริย์กัมพูชายังยกย่องให้เกียรติพ่อขุนผาเมืองโดยขนานนามอันศักดิ์สิทธิ์ว่า "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" แล้วมอบพระแสง "ขรรค์ชัยศรี" ให้เป็นเกียรติยศด้วย
พ่อขุนผาเมืองมีสหายใกล้ชิดเสมอญาติสนิทคนหนึ่งชื่อ "พ่อขุนบางกลางหาว"
จารึกวัดศรีชุมบอกว่า พ่อขุนบางกลางหาว "ขึ้นไปเมืองบางยาง" เพื่อรวบรวมกำลังพล และมิได้บอกว่าครองเมืองบางยางหรือเมืองใด (แต่จารึกสุโขทัย (หลักที่ ๔๕) มีข้อความตอนหนึ่งแสดงร่อยรอยของบรรพบุรุษของพ่อขุนบางกลางหาวว่าอยู่ในสายตระกูลของ "ผีปู่ผาคำ" อันมีชื่อ "ปู่ขุนจิตขุนจอด" เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับเจ้าเมืองน่าน)
เมื่อพ่อขุนบางกลางหาวเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองจึงให้นาม "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" (ที่ได้มาจากกษัตริย์กัมพูชา) ต่อจากนั้นก็เรียกพ่อขุนบางกลางหาวว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิตย์" จึงนับเป็นต้นตระกูลศรีอินทราทิตย์
ส่วนจะเป็น "พ่อขุนบางกลางหาว" หรือ "พ่อขุนบางกลางท่าว" ผมคิด (เอาเอง) ว่าน่าจะเกิดจากการอ่านจารึกและถอดความเป็นอักษรปัจจุบันมากกว่า
ข้ออนุญาตเสริมความรู้เกี่ยวกับ "จารึกวัดศรีชุม" ว่าคืออะไร สักเล็กน้อย เพราะเป็นที่มาของคำตอบกระทู้เรื่องนี้
ก็ตอบว่า จารึกวัดศรีชุมตัวอักษรไทย ภาษาไทย ไม่มีปีศักราชระบุไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อความบางตอนทำให้เชื่อว่าทำขึ้นหลัง พ.ศ. ๑๘๘๔ และเป็นไปได้ว่าว่าทำขึ้นหลังการได้อำนาจครองแคว้นสุโขทัยของพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐
จารึกวัดศรีชุม จารึกบนแผ่นหินดินดาน เป็นรูปใบเสมา มี ๒ ด้าน (บางแห่งชำรุด) สูง ๒๗๕ ซ.ม. กว้าง ๖๗ ซ.ม. แผ่นหินหนา ๘ ซ.ม. มีการค้นพบจารึกนี้ในอุโมงค์มณฑป "วัดศรีชุม" เมืองสุโขทัย โดย พลโทพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ถูกจัดเป็นหลักที่ ๒ เพราะต้องให้เป็นรองจากจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหง
ผู้ตรวจสอบจารึกเป็นคนแรกคือ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ รับราชการเป็นบรรณารักษ์ใหญ่ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นสภานายก พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางภาษาโบราณร่วมประชุมชำระจารึกวัดศรีชุมเพิ่มจากเดิม สำเร็จลุล่วงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ และพิมพ์เผยแพร่ในปีเดียวกันนี้เอง
ข้อความในจารึกเป็น "คำบอกเล่า" ของเจ้านายองค์หนึ่ง สมัยนั้นมีนามในจารึกว่า "สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ" (เรียกย่อ ๆ ว่า "ท่านศรีศรัทธา") เป็น "หลาน" ของพ่อขุนผาเมือง บวชเป็นภิกษุแล้วจาริกแสวงบุญไปประทับจำพรรษาอยู่ลังกาทวีปราว ๑๐ ปี จนได้รับการยกย่องจากชาวสิงหลด้วยนามดังกล่าว จากนั้นได้เดินทางกลับแคว้นสุโขทัยตามเดิม
เมื่อกลับจากลังกาทวีปมาประทับอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งของแคว้นสุโขทัย ซึ่งท่านคงจะมีอายุมากแล้ว ได้เล่าเรื่องและประสบการณ์ต่าง ๆ ในอดีตให้ญาติโยมฟัง แล้วมีบุคคลกลุ่มหนึ่งจดไว้ ภายหลังได้เรียบเรียงสลักข้อความเทศนานี้ลงบนแผ่นหินที่มีรูปแบบอย่างใบเสมา คือสิ่งที่ทุกวันนี้เรียกว่า "จารึกวัดศรีชุม" นั่นเอง
บางตอนของจารึกมีความคลุมเครือ จึงทำให้ผู้ศึกษาจารึกนี้สมัยแรก ๆ สงสัย และบางท่านถึงกับกล่าวว่า จารึกหลักนี้ "วิปริตผิดเพี้ยน" แต่ผู้รู้ได้ศึกษาพบว่ามีสาระสำคัญเป็นช่วง ๆ ถึง ๑๕ เรื่อง
ที่สำคัญมากก็คือ จารึกนี้ได้ให้ "ความรู้ใหม่" เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของแคว้นสุโขทัย คือ พ่อขุนนาวนำถุม (พระราชบิดาพ่อขุนผาเมือง) เป็นผู้สถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นมา หาใช่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ดังที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์เขียนไว้แต่เดิมไม่
(ข้อมูลจากหนังสือ "กรุงสุโขทัย มาจากไหน?" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, สำนักพิมพ์มติชน, มิถุนายน ๒๕๔๘)
แก้ไขเมื่อ 04 ต.ค. 52 22:15:06
จากคุณ |
:
วศินสุข
|
เขียนเมื่อ |
:
4 ต.ค. 52 21:58:01
|
|
|
|
 |