 |
ความคิดเห็นที่ 91 |
เรียนคุณ muk_22
ในตอนนั้น เป็นสมัยรัฐบาลปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนนั้นมีความใกล้ชิดกันอย่างมาก สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการยกย่องเชิดชูและเคารพรักจากประชาชนอย่างสูงยิ่ง ทั้งนี้ เป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนับสนุนงานด้านการกุศลของมูลนิธิต่าง ๆ จำนวนมากที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนและผู้ด้อยโอกาส
ที่สำคัญและน่าสังเกตก็คือ ช่วงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใกล้ชิดเป็นพิเศษกับกลุ่มนักศึกษามากกว่ากลุ่มบุคคลอื่น ๆ เนื่องจากนักศึกษาเป็นคณะบุคคลที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด นอกจากการพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีแล้ว ยังทรงเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อฟังการแสดงดนตรีของพระองค์อย่างเป็นกันเองอีกด้วย
หลังจากทรงดนตรีเสร็จแล้ว จะทรงมีพระบรมราโชวาทอย่างไม่ถือพระองค์ในเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่เสมอ นับเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และให้ข้อคิดแก่นักศึกษาในการตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ โดยเฉพาะพระราชดำรัสระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๖ มักจะเป็นพระราชดำรัสที่ตรัสถึงกิจการบ้านเมืองและสถานการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของนักศึกษาเป็นพิเศษ โดยมีเนื้อหาที่มีความเป็นกันเอง ไม่ถือพระองค์ และมักจะไม่ปรากฏในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่บัณฑิตในวันรับพระราชทานปริญญาบัตรซึ่งมีลักษณะเป็นพิธีการมากกว่า
เช่น ใน พ.ศ.๒๕๑๒ เมื่อรัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสในประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง และประชาธิปไตย โดยได้ทรงสอดแทรกพระอารมณ์ขันด้วย
"เมื่อปีที่แล้วมา บอกว่าปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่เราจะพบกันโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็เป็นความจริงไม่ใช่หรือว่าปีนี้เรามีแล้ว เรามีตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วยังมีการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว และจวนจะมีรัฐบาลใหม่แล้วด้วย จะเป็นรัฐบาลใหม่เก่าเก่าใหม่ก็ไม่ทราบ (เสียงปรบมือ)...หลังจากมีรัฐบาลก็จะขาดอีกอย่างหนึ่ง คือการยึดอำนาจ แต่ว่ามานึกดูดี ๆ การยึดอำนาจหรือการปฏิวัติ การอะไรก็ตามนี้ จะมีความจำเป็นหรือเปล่า หรือเราจะทำอย่างไรที่จะปฏิบัติการเพื่อให้ได้รับผลดีตามที่เราต้องการทุกคน ก็เข้าใจว่าไม่จำเป็นที่จะปฏิวัติกัน..." ("พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงดนตรี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๒", ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทพระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ๒๕๑๑-๒๕๑๒ (พระนคร : สำนักราชเลขาธิการ, ๒๕๑๓))
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ข้อคิดเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยพร้อมทั้งชื่นชมบทบาทของนักศึกษาว่า
"ประชาธิปไตยนั้น ที่แท้ก็คือประเทศที่มีประชาชนที่มีความคิด มีความพิจารณาที่รอบคอบเพื่อให้บ้านเมืองมั่นคง ให้บ้านเมืองอยู่ได้โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันแล้ว เชื่อว่าจะมีทางที่จะปฏิบัติได้โดยเฉพาะเมืองไทย...อย่างนักศึกษาเองก็มีความคิดที่ดีได้พิสูจน์แล้วว่าได้ช่วยดูแลเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาแล้ว ก็นับว่าได้ผล แล้วก็เป็นที่น่าชื่นชม" (เรื่องเดียวกัน)
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงดนตรีในวันที่ ๔ มีนาคม อันเป็นช่วงเวลา ๔ เดือนหลังการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม พระองค์ได้ตรัสถึงเรื่องนี้และพระราชทานพระบรมราโชวาทแนะแนวชีวิตของนักศึกษาว่า
"ในระยะนี้รู้สึกว่าชีวิตออกจะป่วน มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมาอยู่ในสมองของแต่ละคนอยู่เสมอ จึงทำให้แต่ละคนสงสัยว่าควรจะปฏิบัติกันอย่างไรดี จึงขอแนวทางที่จะปฏิบัติในชีวิต ปัญหาต่าง ๆ ก็มีจริง แล้วเท่าที่ได้สดับตรับฟังมา...ก็มีปัญหาเรื่องสภาที่ยุบไปแล้ว ก็มีเรื่องการปกครอง คือ การปกครองอย่างประชาธิปไตย นี่ก็เป็นปัญหาอันหนึ่งที่เกิดขึ้น" ("พระบรมราโชวาท เนื่องในโอกาสเสด็จฯ ทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๕", ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๑๔ จนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๕ (พระนคร : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร, ๒๕๑๕))
นอกจากนั้น ยังตรัสถึงเหตุการณ์ที่มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งนำพวงหรีดไปวางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลังเกิดการรัฐประหารด้วยความเข้าใจว่า
"...ก็รู้ดีว่านักศึกษาคงมีความปั่นป่วนในหัวใจ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ก็เห็น ขอพูดตรง ๆ เข้าไปถึงเรื่องเลยว่าได้เห็นว่ามีการไปวางพวงหรีดและไว้ทุกข์ แต่ที่ว่าจะขอบอกตรง ๆ คือว่า ยังไม่เข้าใจนักว่าเข้าใจถูกหรือผิด การวางพวงหรีดและไว้ทุกข์นั้นทำกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งได้สร้างขึ้นมาสำหรับเป็นการไว้อาลัยประชาธิปไตยนั่นเอง คือส่วนมากเขาตั้งอนุสาวรีย์ที่ไหนเขาก็ตั้งเอาไว้สำหรับไว้อาลัยแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือสิ่งใดที่อยากระลึกถึงแต่ไม่มีอยู่ จึงได้ตั้งอนุสาวรีย์ขึ้นมา การไปวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ก็เป็นการดี หรือเป็นการน้อมระลึกถึงประชาธิปไตย (เสียงหัวเราะ) อันนี้ก็เข้าใจ เข้าใจผู้ที่ไปวางพวงหรีด คิดว่าเป็นสิ่งที่น่าจะทำ" (เรื่องเดียวกัน)
พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นปีสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเป็นปีที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจอมพลถนอมในกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนเริ่มแพร่หลายและรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ มีการเดินขบวนประท้วงนโยบายรัฐบาล (เช่น นักศึกษาเดินขบวนคัดค้านประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๙ ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าควบคุมฝ่ายตุลาการ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนมีนาคม ๒๕๑๖ (ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม เพียง ๗ เดือน) ทรงมีพระราชดำรัสแก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ว่า
"ขอให้นักศึกษารวมพลังกันในทางที่ดี คือเป็นพลังศรัทธาในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม และปรองดองกับพลังฝ่ายอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ชาติบ้านเมืองผ่านพ้นอันตรายไปได้อย่างสงบเรียบร้อย.... เท่าที่ได้สังเกตดูมาก็เห็นว่านิสิตนักศึกษาได้สร้างพลังในทางที่ถูกขึ้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีผิดพลาดไปบ้างก็เป็นธรรมดา ขอให้ร่วมกันรักษาพลังอันนี้เอาไว้" ("สยามรัฐ" ๔ มีนาคม ๒๕๑๖)
แก้ไขเมื่อ 15 ต.ค. 52 22:07:00
จากคุณ |
:
วศินสุข
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ต.ค. 52 22:00:26
|
|
|
|
 |