Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ว่ากันด้วยเรื่องที่มาของดอก" ลั่นทม"  

พอดีว่ากำลังหาข้อมูลเรื่องดอกลั่นทมอยู่ครับ เลยไปเจอเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ มาจากคุณหนู wiki และจาก แหล่งอื่นๆ อีก  คราวนี้เลยอยากถามท่านๆ ทั้งหลายในนี้ว่า ท่านๆ คิดว่าคำว่าลั่นทม แท้จริงแล้วน่าจะมีที่มีอย่างไร ใครมีเกร็ดเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็ร่วมแบ่งปันกันได้เลยนะครับ

ผมได้ลองรวมรวมไว้เป็นข้อๆ ตามนี้ครับ

1. ลั่นทม มีเสียง พ้องกับคำว่า ระทม ซึ่งแปลว่าความทุกข์ เศร้าโศก ที่มานี้น่าจะมีคนเห็นด้วยกันมากมาก ดังจะเห็นว่าต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อดอกไม้ชนิดนี้ไปเป็น "ลีลาวดี"  เพื่อให้สามารถที่จะปลูกในบ้านได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจว่าชื่อไม่เป็นมงคล

นอกจากนี้บริเวณสุสาน หลายแห่ง(ทั้งไทย/ ฝรั่ง/ จีน/ มุสลิม) ก็เห็นว่ามักจะปลูกดอกลั่นทมอยู่หลายแห่ง ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามความเห็นข้างต้นที่ ลั่นทมดูเหมือนจะเป็นดอกไม้แห่งความเศร้าโศก หรือถ้าจะมองแบบวิทยศาสตร์หน่อยนึงอาจเป็นไปได้ว่า สมัยก่อนนิยมปลูกลั่นทมในป่าช้าเพราะมีกลิ่นหอม อาจจะช่วยในการกลบกลิ่น ไม่พึงประสงค์ในบริเวณป่าช้าก็เป็นได้ครับ  

อีกที่มานึงที่ไปอ่านเจอเขาเล่ามาว่า

ดอกลั่นทมเมื่อก่อนเป็นดอกไม้ที่มีแต่ในวัง โดยสมัยรัชการลที่ 5 ทรงนำมาจากต่างประเทศ แต่ด้วยความที่เป็นต้นไม้ที่ค่อนข้างเจริญเติบโตเร็ว และแผ่กิ่งก้านสาขาไปได้เยอะ ทางวังก็เลยมีการตัดแต่งกิ่ง แล้วกิ่งที่ถูกตัดก็เอาไปทิ้ง..

ชาวบ้านผ่านมาเห็นก็เลยเอากิ่งไปลองปักชำดู ก็เลยขึ้น.. ต่อมาคนในวังไปเห็นก็เลย คิดว่าคนที่เอาไปปลูกเป็นขโมย มาขโมยต้นไม้ในวังไปปลูก..เลยมีเรื่องมีราวขึ้น.. นำมาซึ่งความระทมทุกข์ของคนที่นำไปปลูก..เลยเรียกว่าต้นลั่นทม..(http://maama.exteen.com/20050608/entry)

อย่างไรก็ดี คงต้องหาหลักฐานมาตรวจสอบอีกชั้นนึงก่อนครับว่า มีการนำลั่นทมเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 จริงหรือไม่ หากจริงนำมาจากเมืองใด ใครพอจะมีข้อมูลเพิ่มเติมส่วนนี้บ้างครับเอามาแลกเปลี่ยนกันได้ ถ้าเข้ามาในสมัย ร 5 จริง น่าจะมีหลักฐานพอสืบเสาะได้บ้างเหมือนอย่างกรณีผักตบชวา


1.1 ลีลาวดี ถ้าแปลตามความหมายตามอักษรแล้ว ก็คือต้นดอกไม้ที่มีท่วงท่าสวยงามอ่อนช้อย  อันน่าจะมาจากลักษณะต้นที่ดูคดโค้ง อ่อนช้อยไปมา หรือไม่ก็มาจากลักษณะดอกที่ดูสวยงาม น่ารักก็เป็นได้

มีความเข้าใจผิดกันว่า ลีลาวดี นั้นเป็นชื่อพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่  เพราะเป็นชื่อพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
(http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=3190&stissueid=2601&stcolcatid=2&stauthorid=36)

2. "ลั่นทม" มาจากคำว่า "ลั่นธม"
เชื่อว่าลั่นทม เป็นไม้ที่น่าจะนำมาจากเขมรเมื่อคราวสยามไปตีนครธม ได้ชัยชนะ ก็ได้นำต้นไม้นี้เข้ามาปลูก และเรียกชื่อเป็นที่ระลึกว่า "ลั่นธม"

"ลั่น" แปลว่ ตี เช่น ลั่นฆ้อง ลั่นกลอง "ธม" หมายถึง "นครธม"
ภายหลัง "ลั่นธม" เพี้ยนเป็น "ลั่นทม"

จากข้อมูลดังกล่าวนี้ อาจจะมีมูลอยู่บ้าง แต่ส่วนตัวผมยังไม่ได้ค้นว่าจริงๆ แล้วไทยนำดอกลั่นทมมาจากเขมรจริงๆ หรือไม่

แต่บางท้องถิ่นเรียกดอกลั่นทมว่า จำปาขอม/ ต้นขอม (ref. Wiki)

ตอนไปเที่ยวบาหลี ก็เคยถามคนพื้นเมือง เค้าเรียกลั่นทมว่า Bunga Kamboja  หรือ Bunga Cambodia ซึ่งก็คือ บุหงากัมพูชา นั่นเอง

ที่บาหลีจะปลูกกันเยอะมากตามบ้าน ตามถนน แถมมีการขายดอกลั่นทมกันในตลาดสดด้วย ใครไปบาหลีคงเคยเห็นภาพหนุ่มสาวชาวบาหลีเอาดอกลั่นทมทัดหู หลังจากบูชาเทพในแต่ละครังในรอบวัน แล้วก็มีก่ีนำดอกลั่นทม ใส่กระทงใบตองหรือ กระทงใบมะำร้าว มาบูชาเทพ และวางไว้ตามที่ต่างๆ ที่เดินผ่านไป

ที่มาที่ว่า ดอกลั่นทม มาจาก ลั่นธม ก็อาจจะเป็นอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งก็เป็นได้
แต่ต้องมาถกกันเพิ่มอีกหน่อยนึงว่า บาหลี ไม่ได้ยกทัพไปตีเขมรกับสยาม แต่ทำไมเรียกว่า บุหงากัมพูชาเช่นเดียวกัน แต่ก็อีกนั่นแหละครับอย่างที่รู้กันว่า บาหลี กับ เขมร ต่างก็มีความเชื่อ และรากเหง้าที่คล้ายคลึงกันมาก ทั้งศาสนา ศิลปะต่างๆ ก็อาจจะเป็นได้ว่ากลุ่มคนดั้งเดิมที่มาตั้งรกรากที่เขมร และบาหลี น่าจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันที่มาจากทางอินเดียนั่นตอนแรกเริ่ม

พูดเรื่องนี้แล้วก็พาลให้นึกไปถึงแถบทางภาคใต้ของไทยแถวๆ คาบสมุทรสทิงพระ และบางบริเวณในแหลมมลายูที่มีอิทธิพลของคำขอมปรากฏ อยู่เช่น คำว่าสทิง ที่แปลว่า แม่น้ำ ลำคลอง และคำว่า กำปง / Kampong ที่แปลว่า หมู่บ้านในภาษามาเลย์  ดังนั้นอาจเป็นอีกที่มานึงของลั่นทม ซึ่งสอดคล้องกับที่กล่าวไว้ในพจนาุนุกรมฉบับราชบัณฑิตที่ว่าทางปักษ์ใต้เรียกลั่นทมว่า จําปาขอม  

อาไรกันเนี่ย จากดอกลั่นทม เล่าแล้วยาวมาไกล ไปเขมร- บาลี กลับมามาเลย์ เข้าสงขลาอีก หุหุ

ความเป็นไปได้อันต่อมา

3. ลั่นทม ไม่ได้แผลงมาจากไหน แต่ประสมกันระหว่าง ลั่น+ทม
ลั่นทมที่เรียกกันแต่โบราณ หมายถึง การละแล้วซึ่งความโศกเศร้าแล้วมีความสุข ดังนั้นคำว่า ลั่นทม แท้จริงแล้วเป็นคำผสมจาก ลั่น+ทม โดยคำแรกหมายถึง แตกหัก ละทิ้ง และคำหลังหมายถึงความทุกข์โศก รวมๆแล้วก็จะแปลว่าละแล้วซึ่งความเศร้าโศก ออกจะเป็นความหมายที่ดี เป็นมงคลเสียด้วยซ้ำไปครับ
เลยอาจจะมีการนำความหมายของลั่นทมอันนี้มายังการปลูกในสุสาน ที่เหมือนกับคนที่ตายไปแล้วได้หมดทุกข์พ้นโศกก็เป็นไปได้ครับ

โดยส่วนตัวผมชอบความหมายและที่มาอันนี้ เพราะดอกลั่นทมดูขาวสะอาดตา และหอมเย็น ดอมแล้วรู้สึกปลีกวิเวกดีแท้

หมายเหตุ

ขอเพิ่มความหมายจากราชบัณฑิตด้วยครับ

ลั่นทม น. ชื่อไม้ต้นหลายชนิดในสกุล Plumeria วงศ์ Apocynaceae
เช่น ชนิด P. acutifolia Poir. ดอกสีขาว หรือแดงเรื่อ ๆ กลิ่นหอม,
จําปาหอม ก็เรียก, พายัพเรียก จําปาลาว, อีสานเรียก จําปา,
ปักษ์ใต้เรียก จําปาขอม

เอาหละครับทั้งหมดนี้ก็คือความน่าจะเป็นของที่มาของชื่อ "ลั่นทม"  

ขอเชิญท่านทั้งหลายแสดงความคิดเห็นได้ตามอัธยาสัยได้เลยครับผม

(ลังเลเล็กน้อยว่าจะอยู่กลุ่มประวัติศาสตร์ หรือ ภาษาไทยดี คำตอบสุดท้ายขอเป็นห้องประวัติศาสตร์แล้วกันนะครับ )

แก้ไขเมื่อ 17 ต.ค. 52 22:39:57

จากคุณ : Oceanophila
เขียนเมื่อ : 17 ต.ค. 52 19:53:43




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com