 |
ความคิดเห็นที่ 17 |
มาช่วยคุณหนุ่มรัตนะด้วยคนนะครับ
ประวัติ "ปืนพญาตานี" ตอนที่ถูกนำมากรุงเทพฯ (ตำนานการสร้างขอยกเสียไม่ขอกล่าวถึง เพราะมีหลากหลายเหลือเกิน เสียแต่ว่าเป็นแค่ "ตำนาน" ปราศจากหลักฐานยืนยันใด ๆ)
พ.ศ. ๒๓๒๙ พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้นครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพหลวงลงมาปราบ เมื่อตีทัพพม่าแตกลงแล้ว หัวเมืองที่เคยแข็งขืนมาแต่ก่อนก็ให้มาอ่อนน้อมดังเดิม มีพระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู แต่ปรากฏว่าพระยาปัตตานียังแข็งขืนดื้อดึง ไม่อ่อนน้อมต่อสยาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทัพไปตีเมืองปัตตานีและยึดเมืองได้สำเร็จ (ผมขอตั้งข้อสังเกตเองว่า ชะรอยพระยาปัตตานีคงจะต้องการทดลองปืนใหญ่ของตัวเองด้วยกระมัง จึงกล้าแข็งเมือง)
หลังจากยึดเมืองปัตตานีได้แล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ทรงรับแจ้งว่าพบปืนใหญ่ ๒ กระบอก จึงโปรดฯ ให้นำปืนทั้ง ๒ กระบอกกลับกรุงเทพฯ เพื่อตัดรอนไม่ให้ปัตตานีแข็งเมืองได้อีกต่อไป
"แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกกองทัพเข็นปืนทองเหลืองใหญ่ในเมืองปัตตานี ๒ กระบอกลงเรือรบ แต่ปืนกระบอกหนึ่งตกน้ำเสียที่ท่า หน้าเมืองปัตตานี ได้ไปแต่กระบอกเดียว คือปืนนางพระยาปัตตานีเดี๋ยวนี้" (พงศาวดารเมืองสงขลา, ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓, ก้าวหน้า, ๒๕๐๗)
ปืนกระบอกที่ ๒ คือ "ศรีนัครี" นั้น พงศาวดารเมืองปัตตานีกล่าวไว้ต่างกัน คือไม่ได้ตกน้ำหายไป แต่จมหายไปทั้งเรือ
"ปืนกระบอกที่ ๑ ชื่อนางปัตตานีนั้น ออกไปถึงเรือหลวงก่อน ได้ยกปืนขึ้นบนเรือหลวงเสร็จแล้ว เรือที่บรรทุกปืนกระบอกที่ ๒ ซึ่งชื่อศรีนัครีตกอยู่ข้างหลัง เกิดพายุ เรือที่บรรทุกปืนกระบอกที่ ๒ ชื่อศรีนัครีล่มลงปืนก็จมสูญหายไปด้วย"
ส่วนปืนกระบอกที่ ๓ ชื่อ "มหาเลลา" นั้น ไม่มีหลักฐานใด ๆ กล่าวถึง (หายสาบสูญไปเฉย ๆ) เอกสารบางฉบับอ้างว่าแตกขณะรบกับกองทัพของปลัดจะนะ (ทัพหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ)
เมื่อปืนพญาตานี้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ กรมพระราชวังบวรฯ กราบบังคมทูลถวายปืนใหญ่แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พร้อมทั้งน้อมเกล้าฯ ถวายครัวแขก พม่าเชลย และเครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ ที่ตีได้เป็นอันมาก
ปืนพญาตานีอยู่ตรงนี้ครับ
"ปืนกระบอกใหญ่ที่ได้มาแต่เมืองตานีนั้น ก็โปรดให้แก้ไขตกแต่งลวดลายท้ายสังข์ขัดสีเสียใหม่ ให้จารึกนามลงไว้กับบอกปืนว่า 'พญาตาณี' แล้วให้ทำโรงไว้ที่ข้างหน้าศาลาลูกขุนในฝ่ายขวา" (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ โดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, ๒๕๓๑)
จากนั้นก็โปรดให้หล่อปืนขึ้นคู่กับปืนพญาตานีอีกกระบอกหนึ่ง ที่โรงหล่อริมถนน ประตูวิเศษไชยศรี พระราชทานชื่อว่า "นารายณ์สังหาร" และโปรดให้หล่อปืนขึ้นอีก ๖ กระบอก ทำโรงขึ้นไว้เป็นคู่ ๆ กันข้างประตูวิเศษไชยศรี ภายหลังจึงได้ย้ายมาไว้ที่หน้ากระทรวงกลาโหมอย่างในปัจจุบัน
ทุกวันนี้จังหวัดปัตตานียังคงใช้สัญลักษณ์ปืนพญาตานีเป็นตราประจำจังหวัดอยู่
ขออนุญาตออกนอกกระทู้ไปนิดเถอะครับคุณหนุ่มรัตนะ เพราะในคราวที่นำมาปืนพญาตานีมากรุงเทพฯ นี้ ยังมี "ครัวแขก" พ่วงมาด้วย บุคคลที่มีชื่อเสียงในกลุ่มครัวแขกครั้งนี้ก็คือ "นางประแดะ" มเหสีของท้าวประดู่
"นางก็ไร้ญาติวงศ์พงศา หมายพึ่งบาทาพระโฉมศรี โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มี อยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา"
(จากหนังสือ "ศิลปวัฒนธรรม" ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓ (มกราคม ๒๕๔๗))
แก้ไขเมื่อ 08 พ.ย. 52 12:44:13
จากคุณ |
:
วศินสุข
|
เขียนเมื่อ |
:
8 พ.ย. 52 12:38:57
|
|
|
|
 |