 |
ความคิดเห็นที่ 67 |
รัตนโกสินทร์และธนบุรี เป็นรัฐต่อเนื่องของอยุธยาอย่างแน่นอนครับผม
1. คนกรุงเทพสมัยรัชกาลที่ 1-4 ยังคงเรียกกรุงเทพแบบเป็นทางการว่า กรุงศรีอยุธยา และเรียกอยุธยาเดิมว่า กรุงเก่า นั่นก็คือพวกเขายังคงภูมิใจในความเป็นอยุธยาที่รับสืบทอดมาอยู่ สังเกตูได้จากบทกลอนสมัยนั้นครับ
ดั่งนิราศพระบาทของ สุนทรภู่
"อนิจจาธานินสิ้นกษัตริย์ เหงาสงัดเงียบไปดังไพรสณฑ์ แม้กรุงยังพรั่งพร้อมประชาชน จะสับสนแซ่เสียงทั้งเวียงวัง มโหรีปี่กลองจะก้องกึก จะโครมครึกเซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์ ดูพาราน่าคิดอนิจจัง ยังได้ฟังแต่เสียงสกุณา ทั้งสองฝั่งแฝกแขมแอร่มรก ชะตาตกสูญสิ้นพระชันษา แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ กษัตริย์สืบสุริย์วงศ์ดำรงโลก ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้ ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย หรือธานินสิ้นเกณฑ์จึงเกิดยุค ไพรีรุกรบได้ดังใจหมาย เหมือนทุกวันแล้วไม่คัณนาตาย ให้ใจหายหวั่นหวั่นถึงจันทร์ดวงฯ"
ก็คงบรรยายได้ว่า คนในสมัยรัชกาลที่ 2 อย่างสุนทรภู่คิดอย่างไรกับอยุธยา
2. พระราชสาสน์ที่พระเจ้าศิริบุญสาร แห่งล้านช้างเวียงจันทน์ส่งมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องของสานพระราชไมตรีครับ ได้บรรยายว่าทางล้านช้างเวียงจันทน์อยากจะรื้อฟื้นไมตรีกับทางธนบุรี สานต่อจากการที่ไมตรีระหว่างเวียงจันทน์และอยุธยาขาดไปช่วงเสียกรุง
หรือการที่ในปลายสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ทางราชสำนักจีนก็ยอมรับในที่สุดว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้สืบทอดราชสมบัติของอาณาจักรอยุธยาอย่างเป็นทางการ และยอมรับบรรณาการจากไทย สานต่อไมตรีดังเดิม
ซึ่งเพื่อนบ้านในยุคเดียวกันอย่างจีนและเวียงจันทน์ก็ได้ยอมรับโดยไม่มีข้อกังขาว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สืบทอดพระราชอำนาจจากบูรพมหากษัตริย์อยุธยา หรือพระองค์ก็คือพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั้นแล แต่ย้ายฐานทางอำนาจลงมาที่ธนบุรีแทน
3. ผู้นำ 4 ใน 5 ชุมนุมใหญ่ที่เกิดขึ้นภายหลังการเสียกรุงนั้น ก็เป็นขุนนางในราชสำนักอยุธยามาแต่เดิมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเจ้าพระยาพิษณุโลก, เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช, พระพิมายที่อุปถัมภ์กรมหมื่นเทพพิพิธ, หรือพระยาตากเองก็ตาม อีกทั้งข้าราชการในแต่ละชุมนุมส่วนมากก็เป็นขุนนางเดิมๆของอยุธยาทั้งสิ้น
สำหรับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น แม้ในช่วงต้นรัชกาลขุนนางคนสนิทส่วนใหญ่จะเป็นเพียงนายทหารหรือพลทหารระดับเล็กๆจากราชสำนักอยุธยาเดิม ที่ติดตามพระองค์ทำสงครามกันมา แต่ภายหลังยึดอยุธยาคืนมาได้และมาตั้งเมืองที่ธนบุรีแทน ก็ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลผู้ดีเก่าจากอยุธยาจำนวนมาก ภายหลังก็ได้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่รอดจากตอนกรุงแตกมาร่วมทำราชการด้วยก็ไม่น้อย
ธนบุรีจึงเป็นรัฐที่สืบต่อมาจากอยุธยาอย่างมิต้องสงสัยครับ
4. ในตลอดรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ได้ทรงแต่งเมืองธนบุรีให้ดูคล้ายจะเป็นราชธานีถาวรเลย แต่ด้วยกรุงเก่าเสียหายไปมาก บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย กำลังคนยังไม่พอ และงานราชการสงครามนอกในตลอดเวลา ทำให้พระองค์ต้องใช้ธนบุรีเป็นฐานทัพชั่วคราวไปก่อน นั่นแสดงให้เห็นว่า พระองค์ยังทรงต้องการที่จะกลับไปตั้งบ้านเมืองที่กรุงเก่าเหมือนเดิม แต่รอให้มีกำลังพลและกำลังทรัพย์ที่พร้อมเสียก่อน
5. การแทนที่อยุธยาของธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ไม่เหมือนกับการแทนที่สุโขทัยของอยุธยา หรือการแทนที่หริภุญชัยของเชียงแสน
สุโขทัยและหริภุญชัย ถูกอยุธยาและเชียงแสนค่อยๆรื้อถอนความเป็นแว่นแคว้นหรือรัฐอย่างราบคาบ อย่างสุโขทัยเริ่มตั้งแต่ตกเป็นประเทศราชของอยุธยาก่อน และค่อยๆกลายมาเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ถูกควบคุมจากส่วนกลางมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาอย่างสมบูรณ์และถูกดูแลจากตัวแทนของส่วนกลางอย่างแน่นหนาในราชวงศ์บ้านพลูหลวง
แต่ธนบุรีและรัตนโกสินทร์มีเจตจำนงชัดเจนในการสืบทอดความเป็นรัฐและพระราชอำนาจต่อจากอยุธยาครับ
6. การสร้างกรุงเทพมหานคร เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ ก็ทรงจะตั้งเมืองหลวงถาวรที่ดินแดนนี้ ไม่หวนกลับไปกรุงเก่าอีก จึงย้ายเอาเมืองหลวงข้ามมาฟากพระนครแทน
การสร้างพระนครใหม่ พระองค์ก็รวบรวมช่างฝีมือทั้งแผ่นดิน สร้างปราสาทราชวังต่างๆ ทั้งวัีงหลวงและวังหน้า หมู่ปราสาทพระที่นั่ง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พยายามให้เหมือนเมื่อครั้นกรุงเก่ามากที่สุด ทรงส่งคนขึ้นไปอัญเชิญองค์พระศรีสรรเพชญ ดาญาณ เพื่อนำมาปฎิสังขรณ์แต่เนื่องจากองค์พระเสียหายมาก จึงเพียงบรรจุองค์ในเจดีย์และสร้างเจดีย์พระศรีสรรเพชญ ดาญาณ ขึ้นแทน
ทรงให้ปราชญ์ตรากฎหมาย โดยอิงกฎหมายสมัยกรุงเก่าขึ้นมา รวมไปถึงกฎมณฑลเฑียรบาล, ตำแหน่งข้าราชการ ฯลฯ
ทรงให้ขุดคลองมหานาคขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านมาล่องเรือขับเสภา เหมือนคลองมหานาคเมื่อครั้นกรุงเก่า
นั่นก็คือ ชนชั้นปกครองในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ยังคงระลึกถึงบ้านเมืองที่อยุธยาไม่เสื่อมคลายครับ แต่เนื่องด้วยเหตุืทางการเมือง, ความจำเป็นด้านกำลังคนและทรัพยากร ทำให้ไม่สามารถกลับไปตั้งเมืองที่เดิมได้อีก แต่อย่างไรก็ขอทำเมืองใหม่ให้เหมือนบ้านเกิดเมืองนอนเดิมมากที่สุด นั่นก็คือพวกเขาทุกท่านยังคงระลึกตนว่าเป็นคนอยุึธยา แต่ย้ายทำเลลงมาที่กรุงเทพแทน อยุธยาจึงเป็นต้นแบบและรัฐที่สืบทอดสารพัดสิ่งให้ธนบุรีและรัตนโกสินทร์อย่างมิต้องสงสัย (ดูชื่อวัดต่างๆในกรุงเทพ จำนวนไม่น้อยก็ถอดเอาชื่อวัดมาจากวัดในกรุงเก่าทั้งสิ้น)
แก้ไขเมื่อ 11 พ.ย. 52 20:05:31
แก้ไขเมื่อ 11 พ.ย. 52 09:45:08
แก้ไขเมื่อ 11 พ.ย. 52 06:53:28
จากคุณ |
:
อุ้ย (digimontamer)
|
เขียนเมื่อ |
:
11 พ.ย. 52 06:45:41
|
|
|
|
 |