 |
ความคิดเห็นที่ 6 |
กำลังจะมาต่อเรื่องนักองด้วง พอดีคุณพระนายไวยมาช่วยเสียก่อน ขอบคุณครับ
ขออนุญาตเสริมนิดเดียวครับว่า เมื่อไทยสถาปนานักองด้วง (สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี) ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาแล้ว ได้ตั้งเมืองหลวงใหม่อยู่ที่ "อุดงมีชัย" นักองด้วงนี้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินสยามมาก ถึงขนาดล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ รับสั่งว่า "ถ้าพระหริรักษ์ฯ ยังอยู่ตราบใดก็ ไว้ใจเมืองเขมรได้"
โดยที่พระองค์หารู้ไม่ว่า "ขอม (กำลัง) แปรพักตร์" ตามพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ยืนยันความพยายามของกษัตริย์เขมรว่า ตราบใดที่มีลู่ทาง พระองค์ก็จะทรงฉวยโอกาสขอความเห็นใจจากมหาอำนาจภายนอกทันที เช่น ในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ ทรงแอบส่งจดหมายฉบับหนึ่งไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส (ผ่านสายลับฝรั่งเศสในสิงคโปร์) เพื่อให้เป็นธุระช่วยกอบกู้ดินแดนที่เคยสูญเสียไปกับญวนคืนกลับมา
จดหมายของพระองค์เริ่มต้นว่า
"บัดนี้ตูพอพระทัยรักใคร่มหาราชพระบรมนาโปเลออนคำรบ ๓ เปนเจ้านครฝรั่งเศส ก็อยากใคร่ชี้บอกใจรักซื่อตรงกับเธอ ด้วยตูเปนเจ้าเมืองเขมร ก็มีใจยินดี อยากจะผูกไมตรีกับเจ้าเมืองฝรั่งเศส จะมีประโยชน์ไมตรียืดยาวต่อไป นครก็จะได้กว้างขวางมีประโยชน์แก่ราษฎรเปนอันมาก เขมรกับฝรั่งเศสก็จะได้เปนไมตรีรักใคร่กัน" ("พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔", เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรุงเทพฯ, ๒๔๗๗)
ข้อความในลักษณะ "ปันใจให้กัน" นั้น เป็นการทอดสะพานแบบหนึ่งเมื่อได้รับแรงกดดันจากสยามมากขึ้นจนทำให้ไม่มีทางออกวิธีอื่น ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากพระบรมราชโองการจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ที่ส่งไปยังราชสำนักเขมร อุดงมีชัย โดยตรงว่า "ห้ามมิให้องค์พระหริรักษ์ฯ ทำสนธิสัญญาใด ๆ ทั้งสิ้นกับผู้แทนของฝรั่งเศสที่กำลังเดินทางไปพบ" ("ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙", ศ. ดร.เพ็ญศรี ดุ๊ก, กรุงเทพฯ, ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙)
จดหมายประวัติศาสตร์ฉบับนั้น ไม่เพียงแต่นำความสวามิภักดิ์ของเนื้อสมันที่ไร้เดียงสาไปสู่กรงเล็บของพญาราชสีห์ผู้หิวโหยเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อแสดงน้ำใสใจจริงของเจ้าประเทศราชผู้จงรักภักดี ซึ่งบัดนี้กำลัง "แปรพักตร์"
เมื่อดูท่าทีของกษัตริย์เขมรองค์นี้ไม่น่าไว้วางใจอีกต่อไป ราชสำนักกรุงเทพฯ จึงเริ่มจับตาดูความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในกัมพูชาอย่างวิตกกังวล
(ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗)
ในเล่มนี้ยังบอกถึงความกล้า ๆ กลัว ๆ ของกษัตริย์เขมรองค์ต่อมา สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ที่มีลักษณะสองจิตสองใจ ใจหนึ่งอยากจะคบฝรั่งเศสแต่อีกใจก็กลัวสยามในการพยายามแปรพักตร์ไปเข้ากับฝรั่งเศสที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นเพื่อให้ปลดแอกจากสยาม แต่ก็กลัวว่าสยามรู้เข้าจะโกรธและลงโทษ (รายละเอียดอ่านได้จากศิลปวัฒนธรรมนะครับ)
จากคุณ |
:
วศินสุข
|
เขียนเมื่อ |
:
14 พ.ย. 52 23:11:58
|
|
|
|
 |