ความคิดเห็นที่ 3 |
ที่มาครับ www.panyathai.or.th/wiki/index.php/คณะองคมนตรี
แม้ว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะทรงบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีผู้ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและรับผิดชอบใน ราชการนั้นๆ แทนพระมหากษัตริย์แล้วก็ตาม แต่พระองค์จะทรงมีพระราชวินิจฉัยก่อนลงพระปรมาภิไธยในหนังสือที่ทางราชการทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หากราชการนั้น ๆ ปฏิบัติไปในพระปรมาภิไธย ทั้งเพื่อจะได้ทรงทราบข้อเท็จจริง รายละเอียดต่าง ๆ เพื่อทรงสนับสนุนหรือพระราชทานข้อสังเกตต่อไป
เมื่อพระราชภารกิจมีมากมายเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องมีผู้รับสนองเบื้องพระยุคลบาท แบ่งเบาภารกิจไปทำเท่าที่จะทำได้ ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชสำนัก ข้าราชการที่เกี่ยวข้องและคณะองคมนตรี
คำว่า "องคมนตรี" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายความหมายว่า "ผู้มีตำแหน่งที่ปรึกษาในพระองค์พระมหากษัตริย์" มีประวัติความเป็นมาเริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะแรกนั้นยังไม่ได้เรียก องคมนตรี แต่จะใช้คำว่า ปรีวีเคาน์ซิล ปรีวีเคาน์ซิลลอร์ หรือ ที่ปฤกษาในพระองค์ ส่วนคำว่า องคมนตรี เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทั้งนี้ในรายงานการประชุมเสนาบดีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2535) และใน ประกาศการพระราชพิธีศรีสัจปานกาล พระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็ก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และตั้งองคมนตรี เมื่อ ร.ศ. 111 ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า องคมนตรี แล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย พระองค์เองแล้ว ได้ทรงแต่งตั้งข้าราชการระดับกลางจำนวน 12 คน เป็นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่หนักไปในทางนิติบัญญัติ ต่อมาในปีเดียวกันทรงแต่งตั้งที่ปรึกษาในพระองค์ จำนวน 49 คน ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ เพื่อสอดส่องเหตุการณ์บ้านเมือง ทุกข์สุขของราษฎร และกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ รวมทั้งสืบสวนข้อเท็จจริงในราชการต่าง ๆ และทรงมอบให้ดำเนินราชการแทนพระองค์ เช่น ชำระความที่มีผู้ถวายฎีกา เป็นต้น
ต่อมาในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติคำว่า "องคมนตรี" ขึ้นใช้แทนที่ปรึกษาในพระองค์ และได้พระราชทานตำแหน่งองคมนตรีแก่ข้าราชการระดับพระยาพานทอง หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควร มีจำนวนมากถึง 227 คน แต่มิได้ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการ แผ่นดินแต่ประการใด จึงกลายเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ไปโดยปริยาย
ต่อมาทรงมีพระราชดำริที่จะให้ข้าราชการได้ทดลองและปลูกฝังการศึกษา วิธีดำเนินงานแบบรัฐสภาให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น จึงได้ทรงเลือกจากองคมนตรี 40 คน ตั้งเป็นสภากรรมการองคมนตรี แต่ส่วนใหญ่เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะออกบังคับใช้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. 2470 และให้เพิกถอนตำแหน่งองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป
ครั้นถึง พ.ศ. 2490 ในรัชกาลปัจจุบัน ได้มีประกาศแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ ซึ่งมีรายละเอียดที่บัญญัติไว้ดังนี้ มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้ง หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที และ มาตรา 13 อภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งประจำมีห้านาย เป็นผู้บริหารราชการในพระองค์ และถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์ อภิรัฐมนตรีจึงเป็นทั้งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ และเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปในขณะเดียวกัน
ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ได้บัญญัติถึงบทบาท และหน้าที่ขององคมนตรีไว้ดังนี้ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี... ...คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้... นับเป็นการวางพื้นฐานบทบาท และหน้าที่ขององคมนตรีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ได้บัญญัติถึงบทบาท และหน้าที่ขององคมนตรีไว้ดังนี้ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี... ...คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้... นับเป็นการวางพื้นฐานบทบาท และหน้าที่ขององคมนตรีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
จากคุณ |
:
Max2000
|
เขียนเมื่อ |
:
19 พ.ย. 52 22:15:14
|
|
|
|