Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
4D มีเบื้องหลัง อลังการจากหยาดเหงื่อ  

ที่มา : http://www.rssthai.com/reader.php?t=lifestyle&r=16026

กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com

Life Style
วันที่ 16 ธันวาคม 2552 01:00

4D มีเบื้องหลัง อลังการจากหยาดเหงื่อ
โดย : เอกรัตน์ สาธุธรรม


เบิ้องหน้า ทุกคนมีความสุขกับ 4D Light & Sound ตลอด 9 วัน หาก 'เบื้องหลัง' ก็สุขไม่แพ้กัน แม้มันจะปะแล่มๆ ไปบ้าง เพราะ...หยาดเหงื่อ

ถูกเก็บเข้าลิ้นชักความทรงจำไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับภาพต่างๆ จากการแสดง 4D Light & Sound ภายใต้ธีม "พ่อ…The Greatest of the Kings The Greetings of the Land" ตลอด 9 วันแห่งความสุขที่ผ่านมา

คิดถึงเมื่อไหร่ก็เปิดลิ้นชักออกมา ช่วงเวลาที่มีค่าก็จะ Replay กลับมาในความรู้สึกทุกๆ ครั้ง

นอกจากค่าดำเนินการก้อนใหญ่โดยไม่พึ่งงบประมาณรัฐบาลแล้ว เบื้องหลังและมันสมองระดับ "คีย์แมน" ของงานมหามงคลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปีครั้งนี้ มี 1 ไทย กับ 1 เทศ จับมือทำงานกันอย่างทีมเวิร์ค

ฝ่ายไทยคือ วินิจ เลิศรัตนชัย Executive Producer ของงาน
ฝั่งเทศคือ ฟิลิปป์ เกสท์ (Philipp Geist) ทีมงานระดับมันสมองจากประเทศเยอรมัน

"ถือเป็นโปรเจคที่ใหญ่ และยากที่สุดในชีวิตที่ได้ทำมา" วินิจ เอ่ยเป็นคำแรก พร้อมพรั่งพรู ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตออกมาว่า

"งานครั้งนี้ ผมต้องบอกว่า ทางทีมงานได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอยู่หัว ที่ท่านทรงรับสั่งผ่านทางท่านดิสธร วัชโรทัย โดยพระองค์ท่านจะทรงตรวจงานทั้งหมดของการแสดงครั้งนี้ และทรงรับสั่งผ่านมาทางท่านดิสธรว่า ให้แก้ไขตรงจุดไหนบ้าง ทั้งในเรื่องของภาพในพระราชกรณียกิจต่างๆ รวมถึงในภาพยนตร์ ตอนแรกทางทีมงานที่เขียนบท ให้ตัวละครเรียกพระองค์ท่านว่า "ในหลวง" แต่พอท่านทรงเห็นตัวบท ทรงให้ปรับแก้ใหม่ให้ใช้คำว่า "พระเจ้าอยู่หัว" แทน นั่นเป็นที่มาว่าตัวละครทุกคนในภาพยนตร์จะเรียกว่าพระองค์ว่า พระเจ้าอยู่หัว"

นับ 1 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
วินิจ บอกว่า โปรเจคนี้ "ยาก" ตั้งแต่เริ่มคิดว่า จะใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นฉากหลังของงานแสดงครั้งนี้

"วันหนึ่งผมมานั่งกินกาแฟที่ร้านกาแฟดอยตุงแล้วเห็น พระที่นั่งฯ ในตอนกลางคืนซึ่งสวยมาก ก็เริ่มคิดโปรเจคว่าถ้าเอาภาพพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวฉายขึ้นบนพระที่นั่ง จะเป็นอย่างไร จากนั้นก็ได้เจอกับคุณดิสธร วัชโรทัย ลูกของคุณแก้วขวัญ วัชโรทัย ก็เล่าโปรเจคนี้ให้ฟัง คุณดิสธร บอกผมคำเดียวว่า โปรเจคนี้ต้องทำ"

หลังจากนั้น เขาและทีมงาน ก็เริ่มหาข้อมูล สำรวจสถานที่ และได้มีโอกาสคุยกับทีมงานต่างประเทศจากประเทศฝรั่งเศส และเยอรมัน ที่เชี่ยวชาญการทำการแสดงประเภท Light &Sound โดยใช้เทคนิคภาพ 3 มิติ และสื่อผสมต่างๆ นำโดยศิลปินชื่อดังที่เคยทำงาน  Light &Sound ให้กับอีเวนท์ใหญ่ๆ ทั่วโลกมาแล้วมากมาย

วินิจ เล่าให้เห็นภาพกว้างๆ ของงานทั้งหมดก่อนว่า เทคนิคที่ใช้ในการแสดงครั้งนี้ เป็นการผสมผสานความสามารถของซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบที่หลากหลาย ทีมงานของฝรั่งเศส จะเป็นทีมหลักที่รับผิดชอบการออกแบบ การจัดองค์ประกอบของภาพ รวมถึงการวางเนื้อหาต่างๆ

ขณะที่ทีมงานไทย จะรับผิดชอบคอนเทนท์ ด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อได้เนื้อหามาแล้ว ทีมฝรั่งเศสก็จะนำภาพมาจัดวาง ออกแบบ กะระยะกำหนดจุดลงไปว่า จะใช้รูปไหน หรือ วางตัวหนังสือไว้อย่างไร อยู่ในช่องหน้าต่างไหน หรือ อยู่ตรงส่วนบริเวณใดของพระที่นั่งฯ

หลังการจัดวางองค์ประกอบ กำหนดระยะการวางภาพบนพระที่นั่งฯ เสร็จ ทีมงานของเยอรมัน ก็จะเอาองค์ประกอบเหล่านั้น ใส่ลงไปในซอฟต์แวร์เพื่อทำการปรับรูปแบบในเชิงความมีมิติ ใส่สี ใส่ลาย ใส่กราฟฟิกลงไปให้มีความสวยงาม

"ทางทีมงานต่างประเทศเอง เขารู้สึกทึ่งเมื่อได้เห็นเนื้อหา มันยิ่งใหญ่ เขาตื่นเต้นกันมาก เนื้อหาในช่วงแรกมันมีประมาณ 45 นาที แล้วก็เพิ่มมาเรื่อยๆ ใส่ภาพ ใส่คลิป ใส่กราฟฟิกต่างๆ จนกระทั่งในวันสุดท้ายเราทำเพิ่มไปได้ถึง 2 ชม"

บุกกองบัญชาการ 4D
วินิจ เล่าว่า ส่วนสำคัญที่สุดของงาน คือ กองบัญชาการ 4D และส่วนของเทคโนโลยีการจัดแสดงทั้งหมด ซึ่งจะอยู่ในบริเวณพระที่นั่ง เป็นคลังซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ที่ถูกสร้างเป็นห้องส่งถาวร มีเครื่องโปรเจ็คเตอร์ตั้งพื้นประมาณ 4 เครื่อง ที่ต้องฉายให้สอดประสานกลายเป็นภาพบนพระที่นั่งฯ ที่มีความสูงประมาณ 70 เมตร

"ผมบอกเลยว่าเหนือสิ่งอื่นใดของเทคนิคครั้งนี้  อยู่ที่ตัวเนื้อหา คอนเทนท์ต้องเป็นหัวใจสำคัญ ต้องมีรูปพระเจ้าอยู่หัว มีเรื่องราว มีพระราชกรณียกิจ ขณะเดียวกัน ทีมงานต่างประเทศก็ทำการบ้านกันหนักมาก เพราะฉากหลังที่เราจะฉายเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม ด้วยรูปทรง เป็นตัวตึก สีเทา มีสีสนิม ด้วยความเก่า แต่เก่าแบบคลาสสิก ทำให้ทีมงานต้องใช้แม่สีเข้ามาช่วย ปรับสีใหม่ ให้ภาพ และสี รวมถึงกราฟฟิกทาบลงบนตัวพระที่นั่งแล้ว สีไม่เพี้ยน"

ความยากของการฉายภาพกราฟฟิกก็ดี ภาพพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระราชกรณียกิจก็ดี อยู่ที่การจัดวางองค์กรประกอบของภาพ เพราะทีมงานใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของพระที่นั่งฯ ในการฉายภาพครั้งนี้ ดังนั้นต้องวัดระยะให้ได้อย่างแม่นยำว่า ตัวหนังสือ "ทรงพระเจริญ" จะอยู่ในพื้นที่ส่วนไหน ประตูบานไหน ของพระที่นั่งฯ และจะต้องวางภาพไหน หรือกราฟฟิกลายใด เป็นต้น

"มีอยู่ฉากนึง ทีมงานกำหนดให้รูปพระเจ้าอยู่หัวอยู่บนโดม ส่วนที่สูงที่สุดของพระที่นั่งฯ เป็นภาพที่พระเจ้าอยู่หัวทรงงาน และมีพระเสโท (เหงื่อ) หยดลงมา เราก็เซตให้ พระเสโทของพระเจ้าอยู่ตกลงมาเป็นตัวปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ ทีมงานก็วางองค์ประกอบภาพในแนวตัวตึกแนวนอนเป็นเหมือนน้ำที่มีปลาว่าย ส่วนตัวโดม คือ ส่วนที่สูงที่สุดของตึกเราก็วางรูปพระเจ้าอยู่หัว ฉากนี้ ผมถือว่า เป็นหนึ่งในฉากที่สวยงาม และได้ความหมายมากที่สุด"

ฟิลิปส์ เกสท์  ทีมงานต่างประเทศ อาร์ทติสชื่อดังจากเมืองเบียร์ เล่าให้ฟังในเชิงเทคนิคว่า ระบบ 4D-Visual Light & Sound ที่เรียกๆ กันนั้น เราจะเรียกระบบนี้ว่า 3D + 1D

ระบบ 3D ที่ใช้กับตัวพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น เปรียบเสมือนให้ที่ตรงนั้นเป็นจอโปรเจ็คเตอร์ฉายภาพยนตร์ และใช้เครื่องโปรเจ็คเตอร์ที่ถือว่ามีความแรงของแสงมากที่สุดในโลก ติดตั้งห่างจากตัวพระที่นั่งประมาณ 30 เมตร ฉายแสงเข้าไปบนนั้นแทนจอผ้าใบ โดยไม่ใช่ผ้าขึง  

"ที่สำคัญเราไม่ได้แตะตัวโครงสร้างของพระที่นั่งเลย ส่วน 1D คือ สเปเชียล เอฟเฟคท์ต่างๆ เราเรียกการนำเสนอทั้งหมดว่า 3D+1D"

วินิจ เล่าเสริมว่า แท้ที่จริงแล้วมิติที่ 4 ของงานนี้ ที่เสริมเข้ามา คือ ตัวคอนเทนท์ต่างๆ มีการบรรเลงของวงออร์เคสตราที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีนักดนตรีฝีมือเยี่ยมจาก 4 ทวีป รวม 129 คน ในแต่ละวันจะมีศิลปินชั้นแนวหน้ามาร้องเพลงร่วมกับวงออร์เคสตราซึ่งแสดงสด เพื่อประกอบการฉายภาพต่างๆ ให้คนที่รับชมมีความรู้สึกร่วม

ทีมงานต่างประเทศคนหนึ่ง อธิบายเพิ่มว่า 4D หรือ 4 Dimension ภาพ 4 มิติ คือ การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพที่มีความกว้าง ยาว และลึก เหมือนภาพยนตร์ 3 มิติที่คุ้นตา โดยมิติที่ 4 ที่เพิ่มเข้ามา เป็นสภาพแวดล้อมระหว่างนั่งดู ซึ่งอาจเกิดจากเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ภายในบริเวณที่รับชม หรือในโรงภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสบรรยากาศประหนึ่งได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์จริง

....ควันไฟฟุ้งตลบ แสงแวบจากฟ้าแลบการสั่นสะเทือน และเม็ดฝนโปรยปราย เก้าอี้ที่รับชม มีกลไกที่สามารถขยับเขยื้อนได้ เป็นต้น

ผสมผสานเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เกสท์ เล่าว่า เขาเคยทำงานในลักษณะนี้มาแล้ว ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ไปจนถึงงานนิทรรศการที่เมืองริชมอนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นการฉายภาพ พร้อมแสง สี เสียงเหมือนกัน แต่ที่ประเทศไทยมีจุดต่าง คือ เรื่องของ "สถาปัตยกรรม" ของพระที่นั่งฯ

"พระที่นั่งอนันตสมาคมมีความสวยงาม มีการออกแบบ มุมโค้ง เหลี่ยม มีความซับซ้อนในด้านสถาปัตยกรรม แม้จะเป็นสถาปัตยกรรมของตะวันตกที่ทีมงานคุ้นเคย หากแต่เราต้องค้นคว้ารายละเอียดเพิ่ม เพราะสิ่งที่จะฉายลงบนพระที่นั่งเป็นวัฒนธรรม เป็นศิลปะที่มีเอกลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะของคนไทย  การกำหนดระยะของภาพ กราฟฟิกที่ใช้ เพื่อให้แมตช์กับพื้นที่บนตัวพระที่นั่ง ซึ่งแน่นอนว่า เราใช้พื้นที่ทั้งหมดไม่ว่าจะมุมไหน เหลี่ยมไหน"

เกสท์ บอกว่า งานที่ท้าทายสำหรับเขา คือ การสร้างเนื้อหาที่มีส่วนผสมระหว่างประเพณี วัฒนธรรมของไทย กับความคิดอันทันสมัย ผสมผสานเข้ากับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะ

"ผมก็ใช้วิธีการศึกษาด้วยตัวเอง พร้อมทั้งศึกษาจากภาพถ่ายที่ผมเคยมาประเทศไทย และเก็บไว้ในจินตนาการ แล้วผมก็ดึงสิ่งที่อยู่ในจินตนาการของผมเกี่ยวกับประเทศไทย ทำมันออกมาให้มีส่วนผสมที่กลมกลืน มีสีสัน จัดวางภาพ วางกราฟฟิก ให้ดูอ่อนช้อย งดงาม บนซอฟต์แวร์ออกแบบทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ หลายตัว ไม่ว่าจะเป็น Modul8, After Effects, Final Cut, 3D Studio Max. ฯลฯ จากนั้นก็ลองใส่ภาพทั้งหมดลงบนโมเดลของพระที่นั่งฯ จำลอง ก่อนจะทดลองฉายบนพระที่นั่งฯ จริง"

นอกจากเรื่องของเทคนิคต่างๆ แล้ว "เกสท์" ยังเล่าว่า เขาไม่เคยเห็นผู้คนมากมายขนาดนี้ มาเพื่อจุดประสงค์เดียว คือ ชมพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัว แม้จะเคยอ่านประวัติศาสตร์ และเรื่องราวต่างๆ ของพระเจ้าอยู่หัวมาบ้าง แต่นึกไม่ถึงว่าจะมีประชาชนที่รักพระองค์มากมายขนาดนี้

"ผมเตรียมงานอยู่ที่นี่ ได้เห็นคลื่นประชาชน ที่มาแน่นขนัดที่ลานพระที่นั่งฯ ทุกวัน ทุกคนใส่เสื้อสีชมพู และจุดเทียนสว่างไสวให้กับพระเจ้าอยู่หัว ผมไม่เคยเห็นแบบนี้ที่ไหนมาก่อน ทำให้ส่วนตัวรู้สึกภาคภูมิใจ และดีใจไปกับผลงานของทีมงาน และของตัวเองในครั้งนี้ด้วย"

บทภาพยนตร์ดึงหัวใจ
วินิจ เล่าว่า ในส่วนของทีมงานคนไทยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงทีมงานของบริษัทเฟรช แอร์ ของตัวเองแล้ว ยังมีบุคคลหลายภาคส่วนมาร่วมในการสร้างเนื้อหาที่ใช้ในงานแสดงครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะบทภาพยนตร์ ที่ได้คนเขียนบทภาพยนตร์มากฝีมือ เช่น สุริโยทัย, 2499 อันธพาล ครองเมือง มาเขียนบทครั้งนี้ให้

หัวเรือ บ.เฟรชแอร์ บอกอีกว่า ถือเป็นความโชคดีที่เหล่านักแสดง 4 คนหลักของภาพยนตร์ 4 มิตินี้ ไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ

คนแรกคือคุณตาเจ้าของแปลงข้าวที่ได้รับทุนพระราชทานส่วนพระองค์ ให้ที่ทำกินอยู่บนดอยทางภาคเหนือผลิดอกออกผล ซึ่งปัจจุบัน คุณตาก็ใช้ชีวิตจริงอยู่ ณ พื้นที่ตรงนั้น อย่างมีความสุขกับครอบครัว

เด็ก 2 คนน้องพรกับน้องแก้ม เป็นนักเรียนทุน 2 คนรุ่นแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงสอนหนังสือ

"เด็ก 2 คนนี้อายุ 20 กว่า ทำงานอยู่ที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้นำมาแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ และน้องดาว คนนี้อยู่ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เป็นนักเรียนที่ทางทีมงานไปแคสติ้งเอง โดยให้ทดลองเขียนในกระดาษเอ 4 ว่า เมื่อคิดถึงพระเจ้าอยู่หัวคิดถึงอะไร เด็กคนนี้เขียนภาพบ้านแล้วก็มีเครื่องหมายเป็นครุฑอยู่บนจั่วบ้าน กับต้นไม้แล้วก็มีจุดเล็กๆ  เป็นเหมือนหลังคาเล็กๆ อยู่ด้านข้าง

เราก็ถามว่าให้อธิบายว่านี่คืออะไร เขาก็บอกว่าตรงนี้คือบ้านของพระเจ้าอยู่หัว อันนี้เป็นบ้านของดาว เราก็ถามว่าทำไมเล็กแค่นี้ เขาก็บอกว่าหนูอยากเป็นแค่รั้วของพระเจ้าอยู่หัว แค่นั้นเองที่ทำให้เราเลือกเขา เพราะมันลึกซึ้งมาก" วินิจ เผยเบื้องหลังด้วยรอยยิ้ม

ซึ่งเป็นรอยยิ้มเดียวกับคนไทยนับล้านคน...
.......................................................

เอามาฝากครับ smile
ผมเองก็ไปดูมาเมื่อวันที่ ๖ ครับ  จอดรถหน้า สนง.คกก.กฤษฎีกา  แล้วเดินไปพระที่นั่งอนันตฯ (รวมทั้งเดินกลับ)
ไม่เหนื่อยเลยครับ  ตลอดถนนราชดำเนินมีซุ้มของหน่วยงานต่างๆ มีขบวนรถประดับไฟสวยงาม
มีเวทีการแสดง ซุ้มขายของ  และที่ขาดไม่ได้ ซุ้มอาหารนานาชนิดครับ

ป.ล. ตอนแรกผมก็สงสัยครับ ว่าทำไมตัวละครกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า
"พระเจ้าอยู่หัว" ไม่ใช้ "ในหลวง" ที่ฟังดูเข้ากับบรรยากาศของภาพยนตร์มากกว่า

จากคุณ : เจ้าคุณแม่ทัพ
เขียนเมื่อ : 17 ธ.ค. 52 09:42:40




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com