"ครูผู้ปลูกต้นกล้าให้แผ่นดิน" บุคคลที่ถูกลืม
|
|
หัวอกครูใต้
กว่า หลาย ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างความหวาดหวั่นต่อแม่พิมพ์ของชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวการถูกลอบทำร้ายของครู ยิ่งเมื่อ "ครูจูหลิง" สิ้นลม ก็แทบจะไม่มีใครอยากลงไปสอนหนังสือให้แก่เด็กๆอีกเลย
เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ครูฟอง บุญเพ็ชร ครูสาวจาก อ.ยะหา จ.ยะลา ถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจับตัวเข้าป่าเป็นตัวประกันนานถึง 7 วัน เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวเมียโจรที่ถูกจับกุม ครั้งนั้น นอกจากครูฟองยังมี ครูปรีชา แซ่ลิ้ม จาก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อีกคนหนึ่งซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันด้วย เรื่องจบที่ว่า ครูฟอง รอดชีวิต แต่ครูปรีชา ถูกฆ่าอย่างทารุณ ศพถูกทิ้งไว้บนเทือกเขาบูโด นับเฉพาะเพียงแค่เหตุความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พบว่า ครูเสียชีวิตจากการเป็นเหยื่อถึง 64 ราย
ปี 2547 เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ปี 2548 เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 21 ราย และปี 2549 เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 33 ราย ในขณะที่เริ่ม ปี 2550 มาไม่กี่วัน ครูเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย จากทั้งหมดนี้มีระดับผู้บริหารหรือผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างน้อย 5 ราย แนวโน้ม ยิ่งไปกว่านั้น การนำเอาชีวิตครูมาเป็นเหยื่อ จับมาเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัย ตามมาด้วยการใช้ผู้หญิงมาปลุกระดมกดดันทางการ เป็นยุทธวิธีที่ซ้ำซากน่าเบื่อแต่กลับได้ผลทุกครั้ง และทุกครั้งทางการก็ไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ ทำได้เพียงปล่อยผู้ต้องสงสัย หรือให้ประกันตัว ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ
หากครั้งไหน กลุ่มผู้ก่อการต้องการปลุกปั่นสร้างสถานการณ์ให้บานปลาย ก็เพียงแฝงชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งเข้าไประหว่างเหตุการณ์ชุลมุน แล้วทำร้ายครูให้บาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ชีวิต เท่านี้ก็สามารถสร้างข่าวให้น่ากลัวได้แล้ว ในแต่ละวันชีวิตการทำงานของครูในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องพกปืนติดตัวอยู่ตลอด เวลา แม้กระทั่งเวลาสอนอาวุธปืนจะต้องอยู่ข้างกายเสมอ เพราะไม่รู้ว่าวันไหน ชั่วโมงไหน หรือเวลาใด ที่ตัวเองจะจบชีวิตลงด้วยน้ำมือโจรใต้ ที่เหมือนจะเลือกอาชีพกลุ่มเป้าหมายที่สามารถปลิดวิญญาณแล้วได้ค่าหัวจำนวน มาก เช่น ครู ตำรวจ และมักจะเป็นบุคคลที่คนทั่วไปรักและเคารพ เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง เมื่อพวกโจรใต้จะเลือกหมายหัวพวกที่มีอาชีพมีเกียรติ เพราะฆ่าแล้วได้เงิน ได้เป็นข่าวพาดหัวไม้ ยาวไปถึง 2 – 3 วัน แต่เบื้องหลังของครูผู้เสียชีวิตเหล่านั้น ใครจะรู้บ้างว่าพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ มันน่าใจหายขนาดไหน
ดิฉันได้มีโอกาสลงไปสัมผัสพบปะชาวบ้าน และได้พูดคุยกับครูในพื้นที่ 3 จว.ใต้มาแล้ว สิ่งที่น่าทึ่งมากที่สุดที่ครูได้บอกกับดิฉันก็คือ “ครูก็ไม่รู้หรอกว่าจะตายวันไหน เพราะทุกที่ ทุกฝีก้าวที่ย่างเดิน ความตายก็มารออยู่ตรงหน้าแล้ว พวกมันอยู่ในที่มืด ในขณะที่เราอยู่ที่แจ้ง ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า มันจะออกมาจุดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ครูตั้งมั่นและเชื่อว่าจะต่อสู้กับพวกมันได้ คือ หัวใจ หัวใจของความเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่นว่า เรามาทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติ เพื่อสร้างคนให้เป็นคนอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าพวกมันจะต่อต้านเราด้วยรูปแบบใด แต่มันก็ไม่สามารถเอาชนะความดีของครูไปได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ครูจะต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่สุดแดนสยาม แต่ก็ถือว่าครูได้ตายเพราะหน้าที่ หน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นครู และจะขอเป็นครูในพื้นที่นี้จนลมหายใจสุดท้าย”
นี่คือเสียงจากครู หญิงใจเด็ดโรงเรียนใน จ.นราธิวาส เมื่อดิฉันได้ฟังก้อนแข็งๆก็มาจุกอยู่ที่ลำคอ น้ำใสๆเริ่มคลอที่เบ้าตา เพราะทึ่งในความใจเด็ดของครูคนนี้ยิ่งนัก ไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งจะยืดหยัดต่อกรกับโจรใต้ได้อย่างเด็ด เดี่ยวจริงๆ และครูหญิงใจเด็ดคนนี้เดินทางไกลมาจากภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี เลือกมาสอนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ และไม่หวั่นเกรงว่า ความปลอดจะมีหรือไม่ แต่ขอให้ทำหน้าที่ของแม่พิมพ์เพื่อเด็กไทยก็พอ เนื่องจากครูเล็งเห็นว่า เด็กๆในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้รับการศึกษาได้ดีเท่าเทียมกับเด็กๆในเมือง หรือเด็กในจังหวัดใกล้เคียง เนื่องด้วยสถานการณ์ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องปิดการเรียนการสอนตลอดเวลา ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนก็เข้าไม่ถึง ครูจึงเสียสละและอยากให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาดีๆเหมือนกับ เด็กในพื้นที่อื่นบ้าง
และเมื่อไม่นานมานี้ เหตุการณ์ที่เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนไม่ว่ากี่ยุดกี่สมัย ว่า "ครู" ยังคงเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่องคือ การจากไปของ ส.ต.ท. (ญ) สุภาวดี ตั้งประสมสุข ตำรวจตระเวนชายแดน สังกัด กก.ตชด.44 ค่ายพญาลิไท อ.เมืองยะลา คืออีกหนึ่งเหยื่อที่พลีร่าง
เธอเป็นครู ตชด.สอนอยู่โรงเรียนบ้านพีระยานุเคราะห์ 4 ตั้งอยู่หมู่ 4 บ้านป่าละเมาะ ต.ปะโด อ.มายอ ไม่ห่างจากจุดเกิดเหตุ เป็นนักเรียนทุนคุรุทายาทรุ่นที่ 4 ปี 2544 ปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนชั้นประถมปีที่ 3 และรับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก และครูพยาบาล อีกทั้งยังเป็นครูผู้ช่วยรับผิดชอบ นักเรียนทุนหม่อมงามจิตร บูรฉัตร
ตลอดการใช้ชีวิตครู ตชด. เธอมุ่งมั่นทำงานอย่างเสียสละโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย หรือหวาดผวาต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ณ วันนี้ร่างไร้วิญญาณของครูกว่า 60 ราย ได้จบลมหายใจของความเป็นครูด้วยน้ำมือโจรใต้สุดเหี้ยม
ถึงวันนี้ได้แต่ภาวนา อย่าให้ “ครู” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงกับ “วางชอล์ก” หยุดสอนหนังสือชั่วคราว เพียงเพราะกลัวถูกลอบสังหารและประทุษร้ายเลย
ข้อมูลดัดแปลงจาก Blog คุณ Only_First
แก้ไขเมื่อ 16 ม.ค. 53 02:23:18
จากคุณ |
:
nunumum
|
เขียนเมื่อ |
:
วันครูแห่งชาติ 53 02:17:53
|
|
|
|