ความคิดเห็นที่ 16 |
เอาเรื่อง วัดหลวงเมืองลื้อ มาประกอบครับ
อ่านไปถึง ตอนสุดท้าย แล้วก็ต้อง วางอุเบกขา...กรรมใครกรรมมัน
..............................................................
วัดหลวงเมืองลื้อ สิบสองปันนา ซึ่งบริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวหยวนห้าว จำกัด สิบสองปันนา ยูนนาน ได้ทุ่มเงินลงทุนเองถึง 350 ล้านหยวน เพื่อสร้างวัดนิกายหินยานหรือเถรวาท และพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในแถบนี้ มาตั้งแต่ปี 2548 สืบเนื่องจากตระหนักดีว่าศาสนาพุทธนิกายเถรวาทมีประวัติอันยาวนานในสิบสองปันนาพอๆ กับในแถบเอเชียอาคเนย์ เช่นไทย ลาว กัมพูชา พม่า
การสร้างวัดหลวงเมืองลื้อ เพิ่งจะสร้างแล้วเสร็จในเฟสแรกก่อนจะได้ฤกษ์ทำพิธีเบิกเนตรในวันที่ 3 พฤศจิกายน แต่ถ้าโครงการสร้างต่ออีกหลายเฟสแล้วเสร็จเมื่อใด สถานที่แห่งนี้นอกจากจะเป็นที่แสดงวัฒนธรรมทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ตกทอดมาช้านานแล้ว ยังจะเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยศาสนาพุทธสิบสองปันนา เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาวิจัยศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และท้ายสุด จะเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมศาสนาพุทธนิกายเถรวาท อีกทั้งยังเป็นสถานที่ชาวไต หรือไทลื้อในแถบเอเชียอาคเนย์ได้สืบค้นเรื่องราวบรรพบุรุษของตัวเองได้
นอกเหนือจากที่สามารถสืบค้นจาก "ชุมนุมพระคัมภีร์อักษรธรรมใบลาน" ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ใบลานของนิกายเถรวาทที่มีอยู่อย่างแพร่หลายตามวัดวาอารามในสิบสองปันนา ที่ได้รับการรวบรวมชำระขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งที่ครบถ้วนที่สุด แล้วพิมพ์เป็นอักษรไทลื้อเก่า ไทลื้อใหม่ ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ รวม 6 ภาค
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เชื่อว่าวัดหลวงเมืองลื้อจะเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อของสิบสองปันนาในอนาคต ไม่ใช่สำหรับชาวพุทธนิกายเถรวาทเพียงอย่างเดียว อันเนื่องจากวัดนี้ได้สร้างอย่างสวยงามบนเนื้อที่หลายพันไร่ริมเชิงเขา โดยผสมผสานศิลปะพุทธทั้งหินยาน มหายาน และทิเบต รอบๆ วัดจะมีท้าวจตุรบาลแบบจีนยืนตระหง่านอยู่สุดเชิงบันไดนาค ตรงกลางของที่พักช่วงแรกเป็นที่สถิตของพระพรหมสี่หน้าองค์ทองอร่าม ถัดขึ้นไปพระพุทธรูปปางประสูติ ซึ่งเป็นรูปปั้นเด็กมีเพียงผ้าคลุมกายพองาม ประทับยืนชี้นิ้วชี้ขึ้นฟ้าและลงดิน เหมือนกับเป็นปริศนาธรรมให้ขบคิด
ในส่วนของตัวโบสถ์ได้สร้างด้วยศิลปะผสมผสานกันระหว่างไทลื้อ พม่า ลาว แถมยังมีลวดลายคล้ายลายประจำยามและลายขนดแบบของไทยสอดแทรกอยู่ ภายในเป็นจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่เล่าเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติเรื่อยไปจนถึงปรินิพพาน
การผสมผสานของนิกายเถรวาท มหายานแบบจีนและทิเบตยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเริ่มพิธีเบิกเนตร เพราะจะเริ่มด้วยการสวดของพระนิกายมหายานแบบจีนก่อน ตามด้วยการสวดของพระทิเบต และท้ายสุดการสวดของพระนิกายเถรวาท 108 รูปที่รัฐบาลจีนเชิญจากวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
ตอนแรก พวกเราที่เป็นนักข่าวหญิงต่างเตรียมกระโปรงหรือผ้าถุงเพื่อให้กับเหมาะกับงานมหาบุญครั้งนี้ แต่ก็ได้รับการเตือนล่วงหน้าจากเจ้าหน้าที่จีนว่าพยายามแต่งกายให้ทะมัดทะแมงที่สุด เนื่องจากต้องขึ้นเขาแถมฝนก็ตกไม่หยุด ลงท้ายทุกคนก็ต้องสวมกางเกง ใส่เสื้อหนาว ใส่หมวกหรือกางร่ม เปียกปอนไปตามๆ กันแต่ก็สนุกระคนปลื้มปีติเมื่อเห็นชาวสิบสองปันนาจำนวนมากไปยืนอออยู่หน้าวัดเพื่อจะร่วมพิธีเบิกเนตรครั้งนี้ ที่เป็นหญิงก็แต่งกายตามชนชาติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นไทลื้อก็จะสวมผ้าถุงทัดดอกไม้พวงโตข้างท้ายทอย งดงามยิ่งนัก
สมแล้วกับที่ทางการสิบสองปันนาคุยว่าดินแดนแห่งนี้เป็นแดนพุทธ เพราะแม้จะมีหมู่บ้าน 600 หมู่บ้านแต่ก็มีวัดถึง 577 แห่งหรือเฉลี่ยหมู่บ้านละ 1 วัด มีเจดีย์ 215 เจดีย์ อย่างไรก็ดี คนที่เป็นชาวพุทธแท้ๆ ก็ต้องทำใจให้มากสักหน่อย หากได้รับรู้ว่าเจ้าอาวาสสามารถแต่งงานได้เหมือนกับพระในญี่ปุ่น หรือเห็นพระที่นี่ไม่ค่อยจะสำรวม หรือค่อนข้างหย่อนวินัยอยู่มาก ชนิดที่อยู่ในไทยก็ต้องถูกจับสึกฐานเป็นอลัชชี แต่กลับเป็นพฤติปฏิบัติของพระที่นี่ที่ได้รับการยอมรับไปทั่ว
ไปทำบุญแล้ว ต้องเปิดใจกว้างและปลงให้ตกถึงจะเป็นสุข
บทความโดย : บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
.......................................................
ภาพข้างล่าง เป็นที่ตั้ง วัดหลวงเมืองลื้อ อยู่ทาง ใต้ ของตัวเมือง ราว ๔ ไมล์ จากสะพานข้าม น.โขง หรือ ทางขวามือ ของสนามบินเชียงรุ่ง
จากคุณ |
:
นายช่างปลูกเรือน
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ก.พ. 53 12:05:59
|
|
|
|