ความคิดเห็นที่ 2 |
ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้อธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยอาณาจักรชิลลาและพูดถึงตัวของพระนางซอนต็อกไปในเวลาเดียวกันเลยนะครับ
ประเด็นแรกที่จะพูดถึงคือ รูปแบบและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองของชิลลาที่แตกต่างจากโคกูรยอ และแพกเจเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องยกมาอธิบายในที่นี้ด้วยเลยครับ รูปแบบทางการเมืองของชิลลานั้น หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับอาณาจักรอีกสองแห่งที่เหลือ จะพบว่ารูปแบบการปกครองของชิลลานั้นยังคงเป็นแบบ "ชนเผ่า" ที่ตกทอดมาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยกษัตริย์ที่ขึ้นมาปกครองนั้นยังต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าชนเผ่าแต่เผ่า และเวลาบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะในเรื่องสำคัญๆนั้น บรรดาหัวหน้าชนเผ่าต่างๆจะมารวมตัวกันในที่ประชุมที่เรียกว่า "ฮวาแบก" (hwabaek)
นอกจากนั้นการจัดลำดับเชื้อพระวงศ์ในราชสำนักอาณาจักรชิลลานั้นก็ยังมีรูปแบบเฉพาะของตนอีกเช่นกัน กล่าวคือ บรรดาเจ้านายที่อยู่ในราชสำนักนั้นจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยใช้ระบบ bone rank system ประกอบด้วย sacred bone ที่เป็นกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากการแต่งงานในระหว่างแซ่ปักและแซ่คิม ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือ true bone คือกลุ่มคนที่มาจากการแต่งงานที่นอกเหนือจากสองแซ่ที่ว่ามานั้น โดยคนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มแรกนั้นมีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชย์ โดยตัวพระนางซอนต็อกนั้นเป็นลูกสาวหนึ่งในสามคนของพระเจ้าชินพยอง (Chinpyeong โดยลูกสาวคนสุดท้องก็คือ พระนางซอนฮวา Seonhwa ที่ได้ไปแต่งงานกับซอดงโย หรือพระเจ้ามู แห่งอาณาจักรแพกเจนั่นเองครับ) ประกอบกับพระเจ้าชินพยองไม่มีโอรส ดังนั้นพระนางซอนต็อกจึงได้ขึ้นครองราชย์ในที่สุดครับ
นอกจากเรื่องรูปแบบของพระราชอำนาจ การสืบราชวงศ์แล้ว ประเด็นเรื่องลัทธิความเชื่อก็เป็นอีกประเด็นที่ชิลลามีความแตกต่างจากสองอาณาจักรที่เหลือ กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ชิลลาห่างจากจีนมากกว่าเพื่อนในคาบสมุทร ดังนั้นคติความเชื่อแบบ shamanism และพุทธศาสนายังมีความเข้มข้นมากกว่าอีกสองอาณาจักรที่เหลือ ทำให้แนวคิดแบบขงจื๊อยังอ่อนมากในชิลลา ดังนั้นจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ในช่วงนั้นชิลลานั้นมีกษัตริย์ที่เป็นผู้หญิงครองราชย์ติดต่อกันถึงสองคน (ซอนตอก และชินตอก) เพราะพุทธศาสนามิได้มิได้ปิดกั้นผู้หญิงแบบขงจื๊อ เป็นต้น (และหากมาดูพระนางบูเช็กเทียน ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันที่เมื่อพระนางขึ้นครองราชย์แล้ว ก็หันมานับถือศาสนาพุทธแทน เพื่อยืนยันความชอบธรรมในการปกครอง โดยสิ่งที่เป็นประจักษ์พยานคือ การแกะสลักพระพุทธรูปที่ถ้ำตุ้นหวงครับ)
จากคุณ |
:
ภารตยุทธ (ภารตยุทธ)
|
เขียนเมื่อ |
:
9 เม.ย. 53 17:34:03
|
|
|
|