Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เสือร้าย พล.1 ตอนที่ 5{แตกประเด็นจาก K9138726}  

เข้าร่วมกบฏบวรเดช
กลางปี 2476 ผู้ไม่พอใจการปกครองของคณะราษฎร์ก็เคลื่อนไหวกันอย่างลับๆโดยมี พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ-คุณตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์)เป็นแกนหลัก มีบันทึกไว้ว่าตัวพระยาเสนาสงครามนั้นได้รับมอบหมายให้เกลี้ยกล่อมทหารในนครสวรรค์มาเป็นพวก โดยอาศัยฉากบังหน้าว่าจะลงสมัคร สส.ที่นั่น และต่อมาก็ได้พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้าเรียกว่า"คณะกู้บ้านเมือง"ยกกำลังทหารหัวเมืองมายึดดอนเมืองเมื่อ 11 ต.ค.2476 แล้วเกิดการสู้รบกันอย่างรุนแรงแถวทุ่งบางเขน แต่สุดท้ายก็ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต้องถอยทัพกลับนครราชสีมา พระยาศรีสิทธิสงครามซึ่งอาสาเป็นกองระวังหลังสะกัดกั้นการรุกของฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตที่บ้านหินลับ ปากช่องเมื่อ 23 ต.ค.2476

ฝ่ายกบฏถอยเข้านครราชสีมาปักหลักเตรียมสู้ฝ่ายรัฐบาล ตรงนี้มีบันทึกเกี่ยวกับพระยาเสนาสงครามไว้ว่าเนื่องจากเป็นทหารม้าเก่าจึงได้รับมอบให้บังคับบัญชาทหารม้า ม.พัน 4 เตรียมตั้งรับทหารจากอุดรซึ่งแปรพักตร์ไปร่วมกับฝ่ายรัฐบาล

ต่อมาเมื่อชัดเจนว่าจะต้องพ่ายแพ้คณะผู้นำก็พากันหนีออกนอกประเทศ พระองค์เจ้าบวรเดชพร้อมพระชายาเสด็จทางเครื่องบินจากสนามบินนครราชสีมาเมื่อ 25 ตุลาคม 2475 และในเช้ามืดของวันถัดมา พลตรีพระยาเสนาสงครามซึ่งไปรวมพลอยู่ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ก็ได้สั่งการมอบหมายภารกิจยอมจำนนแก่ ร.อ.หลวงหาญรอนรบ(เจือ สาลิคุปต์)ผู้บังคับกองร้อย ม.พัน 4 นำทหารและอาวุธกลับไปนครราชสีมารอมอบตัวฝ่ายรัฐบาลที่นั่น
จากนั้นพระยาเสนาสงคราม พระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์ และพระยาศรีสรศักดิ์ก็พากันควบม้าผ่านช่องเสม็ดเข้าสู่เขมร และต่อมาผมก็พบว่ามีกล่าวถึงตัวท่านพระยาเสนาสงครามไว้ใน"แม่ทัพบวรเดช"ของ"ไทยน้อย"ว่าท่านได้เดินทางไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนังเมื่อปี 2478

ครั้นเมื่อ 12 พ.ย.2476 รัฐบาลก็มี"คำสั่งถอดยศพวกกบฏ"รวม 24 ท่านด้วยกัน พล.ต.พระยาเสนาสงคราม มีชื่อเป็นลำดับที่ 2 รองจาก พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

และที่ปีนังนี่เองที่คุณหญิงแสจะได้แสดงถึงจิตใจอันกว้างขวางงดงามสมความเป็นนางสิงห์ต่อเพื่อนร่วมชะตากรรมในกบฏบวรเดชด้วยกัน

น้ำใจนางสิงห์
ใน “ฝันร้ายในชีวิตของข้าพเจ้า พันเอก พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) โดย มนัส จรรยงค์” มีบันทึกถึงพระยาเสนาสงครามแต่ระบุถึงคุณหญิงแสไว้น่าสนใจอีกตอนหนึ่ง กล่าวคือหลังจากท่านกับพรรคพวกอีก 4 คนได้แก่ พระยาศราภัยพิพัฒน์ นายหลุย คีรีวัฒน์ ขุคอัคนีรัฐการ และนายแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชร์รัตน์ ได้เสี่ยงตายหลบหนีออกจากคุกตารุเตาเมื่อ 18 ตุลาคม 2482 มาขึ้นเกาะลังกาวีแล้ว ต่อมาก็ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองโดยพักอาศัยอยู่ที่เมืองอลอสตาร์ แต่เนื่องจากขาดแคลนเงินทองที่จะใช้จ่ายทั้งค่าอาหารการกินและค่าเช่าที่พัก ฯลฯ จำเป็น
ต้องหาเงินมาใช้โดยด่วน จึงพากันเดินทางไปที่เกาะปีนังแล้วเข้าไปขอพบเชื้อพระวงศ์ท่านหนึ่ง เป็นราชเลขาธิการ ร.7 แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้าซึ่งสร้างความผิดหวังและเสียใจให้กับท่านและเพื่อนๆเป็นอย่างมาก แม้ต่อมาจะเปลี่ยนพระทัยให้เข้าเฝ้าได้ แต่ทั้ง 5 ท่านก็ไม่ยอมไปเฝ้าเลยสักคนเดียว ตอนนี้มีบันทึกไว้ว่า

“ เมื่อแผนดินมันยังกว้างอยู่ ยังไม่ไร้เท่าใบพุทรา ข้าพเจ้าก็เดินทางไปหาคุณหญิงแสร์ (คุณหญิงเสนาสงคราม) เพื่อขอยืนเงินท่าน ท่านก็ยินดีให้ทันที

“เจ้าคุณต้องการเงินเท่าไหร่ ?”

“ผมอยากจะได้สัก 200 เหรียญ”

คุณหญิงจ่ายให้ข้าพเจ้าโดยไม่ต้องการหลักฐานอะไรเกี่ยวกับสัญญา ยิ่งไปกว่านั้นเสียอีก คุณหญิงพาเราไปยังร้านแขกอินเดียในปีนัง ซื้อผ่าห่มนอนแจกพวกเราคนละผืน...”

หมายเหตุไว้นิดหนึ่งว่า นามของคุณหญิงนั้น บางแห่งก็เขียนว่า “แส” แต่บางแห่งก็เขียนว่า “แสร์”

ต่อมาพระยาเสนาสงครามและคุณหญิงก็โยกย้ายไปลี้ภัยอยู่ในสิงคโปร์เพื่อหนีห่างจากการรบกวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากไทย ตอนนี้มีบันทึกของพระยาสุรพันธเสนีอีกว่า...

“ เรามีสมัครพรรคพวกที่เป็นพระยาด้วยกันถึง 4 คน คือ พล ต.พระยาเสนาสงคราม พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒน์ และตัวข้าพเจ้าเอง พ.อ.พระยาสุรพันธเสนี เราทั้ง คนได้พากันเที่ยวไปรอบๆเกาะสิงคโปร์เกือบทุกวันเพื่อทัศนาจรหรือศึกษาภูมิประเทศก็ตามแต่จะเรียก

ในเวลากลางวันวันหนึ่ง เราได้แวะรับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง ในขณะที่รับประทานกันอยู่นั้น เจ้าคุณศราภัยฯได้ปลงอนิจจังตัวเองออกมาว่า โลกเรานี้ช่างไม่
เที่ยงแท้และชีวิตคนเรานี่ก็ช่างไม่แน่นอนเสียจริงๆ เมื่อ 7 ปีก่อนนั้น (เวลานั้น 2473) พล ต.พระยาเสนาสงครามเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และเป็นผู้บังคับบัญชาของ พ.อ.พระยา
ฤทธิอัคเนย์ แต่ในที่สุดเมื่อ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์เข้าร่วมมือเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 ก็เป็นคนหนึ่งใน 4 ทหารเสือ แล้วผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยนั้นก็เล่นงานพระยาเสนาสงครามเสียเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด โดยท่านถูกยิงและถูกตีด้วยพานท้ายปืน พระยาศราภัยพิพัฒน์เป็นนายนาวาเอก เป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม และ พ.อ.พระยาสุรพันธเสนีเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลราชบุรี เมื่อเกิดการกบฎกันขึ้นและตั้งศาลพิเศษ พระยาฤทธิอัคเนย์เป็นกรรมการศาลพิเศษและได้พิพากษาให้ประหารชีวิตพระยาสุรพันธเสนี และในขณะที่พวกเราติดคุกกันอยู่ในบางขวาง และพระยาฤทธิอัคเนย์ก็เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นนายของพวกเรา แต่ทว่ามาบัดนี้ เจ้าคุณศราภัยฯกล่าวต่อไปอีกว่า

“มาบัดนี้เจ้าคุณฤทธิฯก็ตกอยู่ในสภาพของผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างพวกเรา และได้มาร่วมโต๊ะรับประทานอาการร่วมกันกับเราอยู่เดี๋ยวนี้” แล้วก็หัวเราะออกมาอย่างครื้นเครง

นี่ก็เป็นบทเรียนของชีวิต ความเปลี่ยนแปลงผันแปรที่ปราศจากความแน่นอน เป็นแบบฉบับที่คนเราควรจะคิดถึงไว้มากๆ”

หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช อีก 12 ปีต่อมาคือ พ.ศ.2488 ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ซึ่งขึ้นมาแทนรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อกลางปี 2487 ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกรุ่น รวมทั้งกรณีกบฏบวรเดชนี้ด้วย พระองค์เจ้าบวรเดชเสด็จกลับเมืองไทยเมื่อ 12 พ.ค.2492

มีพรรคพวกที่ทราบว่าผมสนใจเรื่องของพระยาเสนาสงครามจึงได้จัดส่งหนังสือในงานพระราชทานเพลิงศพท่านมาให้ ซึ่งผมดีใจจนขนลุก จึงทำให้ทราบว่า พระยาเสนาสงครามก็เดินทางกลับเมืองไทยเนื่องจากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้เช่นเดียวกัน เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ท่านก็เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร

หนังสือชื่อ “ตัวตายแต่ชื่อยัง” โดย “เสาวรักษ์” บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“พระยาเสนาสงครามมรณภาพขณะเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศน์ใน พ.ศ.2507 อุปสมบทมาแล้ว 7-8 พรรษา ก่อนบวชถืออุโบสถศีลอยู่ 2-3 ปี เคยเรียนถามว่า หายขุ่นเคืองพวกศัตรูทางการเมืองหรือยัง แม้จะยังเป็นฆราวาส ท่านก็ยิ้มอย่างเต็มไปด้วยกุศลจิตร แล้วตอบว่า “อโหสิกรรมให้หมดแล้ว ทั้งคนยิงและคนสั่งให้ไปยิง”

เรื่องราวของพลตรีพระยาเสนาสงครามและคุณหญิงเท่าที่ผมรวบรวมได้ก็มีเพียงเท่านี้ หากลูกหลานของท่านมีข้อมูลใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบเพื่อเรื่องราวของท่านจะได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น…

สำหรับผมขอกราบคารวะต่อวิญญาณอันหาญกล้าและเด็ดเดี่ยวของท่านและคุณหญิงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย.

จากคุณ : Gen.Bunchon
เขียนเมื่อ : 2 พ.ค. 53 03:33:33




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com