 |
ความคิดเห็นที่ 8 |
ควรจะอ่านหนังสือและฟังอาจารย์แนะร่วมกัน การฟังอาจารย์จะช่วยรวบรัดกระบวนการคิดได้อย่างรวดเร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะทำให้สมองเราตีบด้วยคิดว่าเรารู้แล้วเพราะมีอาจารย์สอน และจบการสืบค้นของเราอยู่แค่นั้น ปรัชญาถ้าเห็นว่าเป็นวิชามันไม่มีวันตาย ในอดีตมันเป็นหัวหอกทะลุทะลวงความไม่รู้ของมนุษย์เป็นตะเกียงนำทางปัญญามนุษย์ เป็นอาวุธที่ล้มล้างความอยุติธรรมในสังคม ในปัจจุบัน ปรัชญาแปลงสภาพตัวเองเป็นหางเสือให้กับวิชาอื่นๆ ไปในทิศทางที่สร้างสรร โดยถือเป็นศาสตร์เหนือชั้นของศาสตร์นั้นๆ โดยจะเห็นได้จากวิชา Philosophy of sciences, Philosophy of social sciences, Philosophy of psychology, Philosophy of linguistic, Philosophy of Art และอีกหลาย Philosophy of... วิชารัฐศาสตร์ถ้าขาดปรัชญาเป็นหางเสือปลายทางคือเผด็จการ วิชาวิทยาศาสตร์กายภาพหากขาดปรัชญาเป็นเครื่องนำทางแล้วเราคงได้เห็นนักวิทยาศาสตร์โจรที่เห็นอยู่ในหนัง แม้แต่ในวิชาภาษาศาสตร์เอง ปรัชญาก็คลุกเคล้าให้เป็นหนังสือที่อ่านได้อย่างสนุกสนานเชื่อมโยงเข้ากับวิถีชีวิตมนุษย์ ในทางวรรณกรรม ปรัชญาทำหน้าที่ถอดความรหัสนัยของผู้ประพันธ์ เข้าถึงจิตใจผู้อ่าน ถึงแก่นแท้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรพี ทรพา การผจญภัยของโอดิซิอุส นักจิตวิเคราะห์ในอดีตล้วนแล้วแต่ใช้วิธีคิดทางปรัชญาในการถอดรหัสการทำงานของจิตใจมนุษย์ ที่มิใช่นิยายปรัมปราอีกต่อไป นั่นคือปรัชญาจะเป็นเครื่องมือให้วิชาต่างๆ สดใหม่อยู่เสมอ
ปัญหาการเรียนปรัชญาส่วนใหญ่อยู่ที่การทำความเข้าใจศัพท์ที่นักปรัชญาใช้และยิ่งมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเก่าๆ ก็ยิ่งทำให้การทำความเข้าใจปรัชญายากขึ้นเท่านั้น แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการทางความคิดปรัชญา ความจริงปรัชญาไม่ใช่เรื่องยากเพราะนักคิดปรัชญาพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ใจตัวเรา ยิ่งปรัชญาที่ว่าเป็นนามธรรมที่สุดที่ยากทำความเข้าใจมากที่สุดคือ เมตาฟิสิกค์ ก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในตัวเรา ผิดแต่ว่านักปรัชญาใช้ความคิดอย่างจริงจัง และไม่ยอมให้ปัญหาหนึ่งปัญหาใดหลุดไปง่ายๆ โดยที่มิได้พิจารณาไตร่ตรอง อย่างรอบด้าน ความยากของปรัชญาไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของมัน แต่อยู่ที่ การใช้ความคิดอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุดของมนุษย์เพราะเป็นการเอาชนะตัวเองของผู้คิดให้หลุดพ้นจากความไม่รู้ การอ่านหนังสือปรัชญาจึงควรอ่านช้าๆ ถ้ารู้สึกเมื่อยล้าเมื่อใด ก็หยุดอ่านทันที คำทุกคำที่ใช้ในการเขียนปรัชญาจะถูกพินิจพิเคราห์อย่างถ้วนถี่ วิตเกนสไตน์ ถึงกับตัดปัญหาการบรรยายทางปรัชญาโดยการเขียนความคิดของเขาไว้เป็นข้อๆ เพื่อตัดปัญหาเรื่องการตีความซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ปรัชญาเป็นสิ่งที่ยุ่งเหยิงและน่าเบื่อหน่ายสำหรับคนที่ไม่เข้าใจในเนื้อหาปรัชญา
จากคุณ |
:
นกเถื่อน (นกเถื่อน)
|
เขียนเมื่อ |
:
22 พ.ค. 53 14:09:26
|
|
|
|
 |