Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ดูการอภิปรายฯ นึกได้สำนวนจีน  

จากการชิมลางตั้งกระทู้เรื่อง "เรื่องเล่าจากสามก๊ก" ยินดีมากที่มีผู้เข้ามาแสดงความเห็น ต่อยอดความคิด แนะนำมุมมองใหม่ๆ

เมื่อเขียนบทความใหม่แล้วจึงนึกได้ว่า ควรนำมาแบ่งปันใน "จีนศึกษา" ด้วย
บทความนี้เขียนระหว่างการอภิปรายเมื่อสองวันก่อน ขออนุญาตนำมาร่วมแสดงความคิดเห็นไว้ ณ ที่นี้ด้วย กรุณาชี้แนะขอรับ

*** *** ***


ขี้นรถ อยู่บ้าน ก็จะเปิดฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังไม่ขอวิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอาจทำให้เสียรูปคดี (น่าน) แต่เนื่องจากนั่งฟังคนอื่นพูดเยอะๆ นานๆ ทำให้นึกถึงสุภาษิตคำพังเพยของจีนที่เกี่ยวข้องกับการพูด

เอ จะว่าไป ของไทยมีไหมหนา... ผมนึกถึงขายหัวเราะฉบับเมื่อเร็วๆ มีมุกหนึ่งที่นักเขียนเอาถ้อยคำต่างๆ มารวมกลุ่มกันเป็นรูปของชายอ้วนๆ แล้วชายที่ประกอบร่างจากถ้อยคำต่างๆ ก็จิกด่าพนักงานคนหนึ่ง---คำพูดเป็นนายเรา

คมดีแถกเน่อ


*** *** ***

ผมมีแนวคิดเรื่อง "การพูด" อยู่อย่างหนึ่งคือ พูดมากผิดมาก พูดน้อยผิดน้อย คำพูดเป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดอย่างมาก บ่อยครั้งมันไม่สามารถสื่อความคิด ความเข้าใจของเราได้ครบด้าน พอเราพูดว่า "ขาว" ก็จะสามารถตีความว่า "ไม่ใช่ดำ" ได้ทันที แม้ในใจของเราจะเปล่านึกเช่นนั้นก็ตาม เมื่อจะพูดถึงขาว ก็ต้องพร่ำอธิบายอีกว่า เปล่านะ ไม่ได้ปฏิเสธดำ ทีนี้... นายไม่ปฏิเสธดำ งั้นนายก็เป็นฝ่ายดำ... เป็นการปฏิเสธขาวทันที...

เรื่องมากจริง งั้นขอ "เทา" ก็ได้วุ้ย

เอาล่ะ งานเข้า เทางั้นรึ งั้นก็หมายความว่าไม่ใช่ทั้งขาว ไม่ใช่ทั้งดำ... โอ้ว หม่าย ก้าด


*** *** ***


เอาล่ะครับ บ่นแค่นี้ไว้เป็นน้ำจิ้ม พูดมากจะผิดมาก เข้าเรื่องที่มัพ้นตัวดีกว่า


นิทานสุภาษิตสองเรื่องที่ เกี่ยวกับ "การพูด" ที่ผมนึกขึ้นได้ในขณะนี้คือ

1. 黔驴技穷 เฉียน หลีว์ จี้ ฉยง qian2 lv2 ji4 qiong2 (ออกเสียงไม่ถูกก็ช่างมันนะครับ)

2. 自相矛盾 จื้อ เซียง เหมา ตุ้น zi4 xiang1 mao2 dun4

มาฟังกันดูก่อนดีกว่า



*** *** ***



เรื่องที่หนึ่ง

黔 เฉียน=เป็นชื่อสถานที่ ปัจจุบันคือเมืองกุ้ยโจว
驴 หลีว์=แปลว่าลา สัตว์สี่เท้าคล้ายม้านั่นแหละ
技 จี้=เทคนิค ฝีมือ ลูกไม้
穷 ฉยง=อับจน หมดสิ้น

แปลตรงตัวก็คือ "ลาในเมืองเฉียนน้ำยาหมด" นั่นเอง



黔驴技穷 qián lǘ jì qióng

1.at one's wit's end
2.All trick have been exhausted.
3.The Guizhou donkey has exhausted its tricks

http://baike.baidu.com/view/16602.htm


ณ เมืองเมืองหนึ่งที่ชื่อว่าเฉียน (กุ้ยโจว) ไม่เคยมีลามาก่อน วันหนึ่งก็มีคนคนหนึ่งลองนำลาเข้ามา แต่ใช้ไปใช้มาก็รู้สึกว่ามันไร้ประโยชน์สิ้นดี จึงนำไปปล่อยทิ้งไว้ที่ชายเขา

ทีนี้มีเสือตัวหนึ่งมันก็มาเห็นลา...

"เหวอ ตัวประหลาดอะไรฟะ" มันเห็นว่าลานั้นสูงใหญ่ (ก็คงเตี้ยกว่าม้านิดนึง) คงมีพิษสงน่าดู จึงเฝ้าสังเกตอยู่ในป่า ค่อยๆ ย่องเข้ามาดูใกล้ๆ หมายจะศึกษา ว่าเจ้าลามันมีเขี้ยวเล็บตรงไหน

ทันใดนั้น เจ้าลาก็ส่งเสียงร้องลั่น เสือยักษ์สะดุ้งเฮือก วิ่งไปหลบอยู่ไกลๆ เพราะนึกว่าเจ้าลาจะกัดตน แต่หลังจากเจ้าเสือพิจารณาดูอีกที นอกจากเสียงร้องประหลาดแล้ว เจ้าลาดูเหมือนไม่ได้มีฤทธิ์เดชอะไรอีก และเมื่อนานเข้ามันก็เริ่มคุ้นชินกับเสียงร้องของลา

เจ้าเสือเริ่มเดินเข้ามาใกล้ลา ล้อมหน้าล้อมหลัง แต่ก็ยังไม่กล้าโจมตี

สักพักหนึ่ง เจ้าเสือก็ใจกล้าขึ้น มันเข้ามาใกล้ขึ้น สะกิดๆ ดูบ้างล่ เขี่ยๆ ดูบ้างล่ะ เพื่อยั่วโมโห ปรากฏว่าเจ้าลาขี้โมโหก็โกรธจริงๆ มันจึงดีดขาหลังเตะใส่เสือโคร่งไปหนึ่งที

"โฮะๆๆ ไอ้ตัวประหลาดน่าโง่ ที่แท้เอ็งก็มีน้ำยาแค่นี้!" เจ้าเสือหัวเราะร่า ไม่คอยท่าตะปบเจ้าลาด้วยกรงเล็บ คมกริบ กัดกร๊วบเข้าที่คอยหอย (ลามีคอหอยป่ะ) แล่เนื้อเถือหนัง กินจนพุงปลิ้นแล้วก็จากไป


*** *** ***


ถ้าเจ้าลามันหันมาทำหน้าขรึมๆ จ้องมองด้วยสายตาเย็นเยียบ แล้วหันหลังเดินจากไปด้วยมาดนิ่ง... มันอาจยังรอดจนแก่ตายก็เป็นได้นะครับ


*** *** ***


ปัจจุบัน สุภาษิตจีนคำว่า "ลาในเมืองเฉียนน้ำยาหมด" นำมาใช้เสียดสีเหน็บแนม ว่าคนมีฝีมืออยู่เพียงกระจิ๊ดริดนั่น ไอ้น้ำยาที่มีอยู่น้อยนิดนั้น ก็ใช้หมดเกลี้ยงแล้ว...

แต่ในบางสำนักนำมาเปรียบว่า การ "พูด" หรือการ "แสดงความคิด" ของผู้คนนั้น เมื่อเอ่ยปากก็จะเห็นภูมิ เห็นการศึกษา เห็นธาตุแท้ เห็นสติปัญญาของคนผู้นั้นทันที แหวะ ที่แท้ก็ท่าดีทีเหลวนี่หว่า...

(คล้ายๆ กับปลาหมอตายเพราะปาก แต่ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว)


*** *** ***


เรื่องที่สอง

自相 จื้อเซียง=ในตัวของมันเอง
矛 เหมา=หอก
盾 ตุ้น=โล่

แปลตรงตัวก็... หอก โล่ ในตัวของมันเอง... เง้อ... เอาแบบภาษาที่คนเข้าใจก็คือ ขัดแย้งในตัวเองนั่นแล


自相矛盾 zì xiāng máo dùn

1.self-contradictory; inconsistent; paradoxical
2.self-contradiction; antilogy
3.to argue against oneself; to contradict oneself

http://baike.baidu.com/view/78454.htm


การจะทำความเข้าใจสำนวนนี้ ก็ต้องมาดูนิทานประกอบสั้นๆ

ที่กำเนิดของสุภาษิตคำนี้ มีบันทึกอยู่ในตำราของหันเฟยจื่อ ยุคสมัยชุนชิว (ยุคที่ประเทศจีนแตกเป็นแว่น แคว้นน้อยใหญ่ ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ)


*** *** ***


ณ แคว้นฉู่ มีพ่อค้าเร่คนหนึ่ง ขายสินค้าสองประเภทได้แก่หอกและโล่

ลองนึกภาพพวกตระเวนขายยาวิเศษ กอเอี๊ยะสารพัดประโยชน์ ฯลฯ ตามตลาดนัดดูนะครับ ทุกคนต้องตะโกนร้องปาวๆ ว่า เจ้าข้าเอ้ย สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามา... (เอ่อ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากโชว์งู โชว์เชือดคอเลือดกระฉูด แล้วก็ตามด้วยโชว์อับดุลย์ หุหุ)

เข้าเรื่องดีกว่า นายพ่อค้าขายโล่/ทวน นี่ก็เช่นกัน (ส่วนใหญ่จะเริ่ม จากการรำมวยจีน... แต่นั่นก็นอกเรื่องอีกนั่นแหละ) เมื่อการโชว์เรียกน้ำย่อยข้างหน้าเสร็จลง ก็ต้องตามด้วยวัตถุประสงค์หลัก และนี่คือคำโฆษณาชวนเชื่อ


"พ่อแม่พี่น้อง พี่ป้าน้าอา ปู่ยาตาทวด โปรดฟังทางนี้ อันโล่ของข้านั้น เหนียวแน่นแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะใช้อาวุธใดๆ ก็มิอาจแทงทะลุ"
อู้หู อื้อหือ งึมงำๆ โน่นนี่นั่นอึ๊อ๊ะอึ๊อ๊ะ

ว่าแล้วเขาก็หยิบหอกของเขาขึ้ นมา สาธยายสรรพคุณต่อไปว่า

"พ่อแม่พี่น้อง พี่ป้าน้าอา ปู่ยาตาทวด โปรดฟังทางนี้ อันหอกของข้านั้น คมกริบเป็นที่หนึ่ง สามารถแทงทะลุทุกสิ่งอย่าง อย่าหวังจะต้านทาน"
อู้หู อื้อหือ งึมงำๆ โน่นนี่นั่นอึ๊อ๊ะอึ๊อ๊ะ

ขณะนี้เอง ก็มีคนเอ่ยถามเขาว่า

"แล้วถ้าใช้หอกของเจ้า ไปแทงโล่ของเจ้าล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น"

เง้อ...



*** *** ***


มันก็เท่านั้นแหละครับ หอกโล่ในตัวเอง อย่าให้ผมต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมเลย


*** *** ***



ปล. สำนวนจีนยอดนิยม เกี่ยวกับคำพูดอีกอย่างคือ

一言既出,驷马难追
yī yán jì chū,sì mǎ nán zhuī

คำพูดเมื่อพูดออกไป ม้าสี่ตัวก็ไล่ตามไม่ทัน


ใครนึกถึงคำไหน เป็นสำนวนจีนเกี่ยวกับเรื่องการพูดได้เพิ่มบ้างไหมครับ

จากคุณ : beer87
เขียนเมื่อ : 3 มิ.ย. 53 16:37:38




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com