หลังจากได้ทบทวนคำสอนท่านพุทธทาส
|
|
ต้องการตั้งกระทู้เฉพาะกิจขึ้นในเรื่องท่านพุทธทาส แต่ในห้องศาสนาสำหรับผู้เป็นสมาชิกจะโพสต์ได้เท่านั้นค่ะ และวิธีสมัครสมาชิกของพันทิปในขณะนี้ ยังไม่สะดวกสำหรับดิฉัน เพราะยุ่งยากและมากขั้นตอนอยู่ ขอความกรุณาท่านผู้มีจิตเมตตา ตั้งกระทู้ทำลิงก์ไปให้ี่ที่ห้องศาสนาด้วยเถิดค่ะ จะเป็นพระคุณอย่างสูง
..............................................
จากที่ได้เคยถกเถียงกับคุณเฉลิมศักดิ์ที่ห้องศาสนาเมื่อปีกลาย ในเรื่องความเป็นสัมมาทิฏฐิของท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์ ทำให้ดิฉันได้กลับไปทบทวนทั้งในด้านปริยัติ จากพระไตรปิฏกบ้าง และปฏิบัติตามพระไตรปิฏกคืออานาปานสติสูตร และสติปัฏฐานสูตร ตามแนวทางของท่านพุทธทาส และเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุณี วัดมหาธาตุมาค่ะ
ดิฉันก็ยังมีความเห็นเช่นเดิมว่าท่านได้สอนถูกต้องแล้ว เมื่อได้ปฏิบัติก็แค่ได้รู้เพิ่มขึ้นมาว่า สามัญลักษณะไม่ใช่อยู่แต่ที่รูป คือความเสื่อมโทรม ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ของสังขารซึ่งเป็นการประกอบกันเข้าของสิ่งทั้งหลายมีร่างกาย บ้านเรือน ยวดยานพาหนะ เครื่องใช้ไม้สอย ดินฟ้าอากาศ แต่เดิมดิฉันก็มองเห็นเพียงเท่านี้ค่ะ เมื่อปฏิบัติก็เห็นครอบคลุมถึงสามัญลักษณะของนามคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ว่ามันไม่เที่ยง ก็เป็นอันว่ารูปนามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตัน บาลีว่า สัญญา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน สังขาร ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน วิญญาน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ดังนี้เป็นต้น ซึ่งที่สุดแล้วก็แปลว่าตัวกูของก็ไม่มี นั่นทานก็สอนถูกแล้ว ไม่มีจะถูกไปกว่านี้อีกแล้วค่ะ เพราะว่าทุกอย่างนั้นมีแต่รูปแต่นามทั้งนั้น ไม่มีตัวสัตว์ ตัวบุคคล
เวลาจะวิปัสนาก็มุ่งให้เห็นอย่างนี้ทั้งนั้น เป็นต้นว่าอานาปานสติ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสยกย่องว่า เป็นเครื่องที่จะทำให้องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้เกิดขึ้นได้บริบูรณ์ ก็ได้แก่กายานุปัสนา จิตตานุปัสนา ธัมมานุปัสนา ก็เพื่อให้เห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ไม่เที่ยง ค่ะ ตัวสัตว์ ตัวบุคคล เขาเรา ไม่ได้มีเลย มีแต่รูปกับนามลมเข้าออกเป็นนาม ความรู้สึกตามดูลมเข้าออกอยู่นี่เป็นนาม เวทนา ปิติ สุข เกิดขึ้นก็เรื่องรูปกับนามทั้งนั้น ใจเป็นรูปเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นนาม ไม่ได้มีตัวตนผู้เสวยเวทนาเลย ดังนี้เป็นต้น จะบอกว่ามันไม่มีอัตตาตัวตนไม่มีอยู่จริงเลย มันก็ได้เหมือนกัน นี่ว่าโดยการสอบสวนในทางปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติไปยังไม่เห็นอนัตตาอย่างนี้ มันก็ใช้ไมได้
ว่าทางด้านปริยัติดิฉันก็ไม่เคยเห็นสักแห่งเดียวที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่ามีตัวตน มีอัตตาเที่ยงแท้ ในทางตรงกันข้ามทรงสอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ไม่เที่ยง ดังนั้นจึงเป็นทุกข์ ควรหรือจะเห็นว่าเป็นตัวตน คำสอนของพระองค์ทั้งหมดรวมอยู่ที่ว่า อุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นตัวทุกข์ ไม่ได้มีอย่างอื่นยิ่งไปกว่านี้เลย ตรัสว่าขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก บุคคลแหล่ะเป็นผู้แบกของหนักพาไป พระอริยเจ้าสลัดของหนักทิ้งเสียแล้ว ทั้งไม่หยิบฉวยของอื่นขึ้นถืออีก
คือถ้ามองละเอียดแล้ว การยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ทั้งห้านั่นเองคือการมีอัตตาไม่เป็นอื่น เป็นต้นว่าได้กลิ่นเหม็น กลิ่นกับจมูกคือรูปถูกกันเข้าเกิดผัสสะ เมื่อยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าอยู่ ก็ย่อมเกิดเวทนา สัญญา สงขารตามมา ซึ่งทุกอย่างมันเกี่ยวแนบเนื่องใกล้ชิดอยู่กับอัตตาทั้งสิ้น รู้สึกว่าตนเสวยเวทนาสุขทุกข์พอใจไม่พอใจ สัญญาจำได้ว่าตนได้ในอารมณ์นั้นๆ สังขารปรุงแต่งอยากหรือไม่อยากจะให้ตนได้เสวยเวทนานั้นอีก ขันธ์ห้ามันเกิดนั่นเพราะมีอัตตาเสมอ อัตตาทำให้เกิดความยึดมั่นในขึ้นห้า ถ้าไม่มีอัตตาคือไม่ยึดมั่นในรูปใดๆ เลย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ใจ ก็สักแต่ว่าเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ใจ ไม่มีอัตตายึดมั่นว่ามันเป็นนั่นเป็นนี่คือนั่นคือนี่ ย่อมไม่มีตัวตนเสวยเวทนาสุขทุกข์พอใจไม่พอใจ นั่นคือสภาพจิตของพระอรหันตร์ซึ่งสลัดของหนักทิ้งลงเสียแล้ว และเมื่อเวทนาไม่มีแล้ว สัญญา สังขาร วิญญาน ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ นั่นก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง หรือถ้าไม่ใช่สภาพจิตของพระอรหันตร์ แต่เป็นปุถุชนธรรมดาอยู่ มันก็ห้ามขันธ์ห้าให้เกิดไม่ได้ ดังนั้นเราก็ใช้การกำหนดขันธ์ห้านั่นเองเป็นวิปัสนา เพื่ออาศัยให้เกิดปัญญาเห็นการเกิดดับ การสลัดคืน การจางคลาย ว่าโดยฝ่ายปริยัติท่านก็ยังไม่ผิดอยู่นั่นเอง การจะบอกว่ามันมีแต่รูปกับนามคือเรื่องขันธ์ห้าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กับเรื่องไม่มีตัวตน (รูป) ของตน (นาม คือเวทนา สัญญา สังขาร) มันคือเรื่องเดียวกันแท้ๆ เลยค่ะ
นี่คือความจริงๆ ทั้งหมดของพระศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนอยู่เรื่องเดียวเท่านี้ การได้รู้อย่างนี้คือได้รู้ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าคุณจะบอกว่าท่านพุทธทาสสอนผิด เช่นนั้นแล้วก็อย่าได้นับถือศาสนาพุทธต่อเลยค่ะ เพราะเท่ากับว่าคุณไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเสียแล้ว การที่คุณกล่าวหาท่านพุทธทาสเช่นนี้ ก็เท่ากับกล่าวหาพระพุทธองค์ด้วยถึงสองต่อ ซึ่งนั้นร้ายแรงเสียยิ่งกว่าการที่คุณกล่าวหาว่า ท่านพุทธทาสติเตียนการสอนเรื่อง นรก สวรรค์ของพระพุทธองค์ เพราะนี่ก็เท่ากับกับว่าคุณติเตียนความจริงที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เช่นกัน และเป็นหลักการสำคัญหนึ่งเดียวของพระศาสนา ไม่ใช่คุณเสียแล้วที่จะต้องเตือนผู้อื่นว่า อาจารย์ท่านสอนผิดท่านรู้ผิดแล้ว แต่คุณเองต่างหากที่ควรจะได้สำเหนียกว่ากำลังเห็นผิดอย่างยิ่ง
เรื่องทิฏฐิสองขั้วนั้นก็อย่าได้หยิบยกมาอ้างเลยค่ะ มันก็มีอยู่แค่นี้เองว่า พวกหนึ่งเห็นว่ามีอัตตา ดังนั้นตายแล้วไม่สูญ พวกหนึ่งเห็นว่าไม่มีอัตตา ดังนั้นตายแล้วสูญ เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสอง ดังนั้นจึงต้องเห็นว่าเป็นอนัตตา แต่ตายไม่สูญ จึงจะไม่เป็นทิฏฐิ จะไปเป็นอัตตาไม่ได้ล่ะค่ะ ก็เท่ากับทรงสอนขัดแย้งกันแล้ว เพราะทรงสอนไว้มากนักเรื่องอนัตตา แต่จะตายแล้วสูญก็ไม่ได้ เพราะทรงสอนไว้มากนักเรื่องสังสารวัฏ โลกหน้า ดังนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากยังไม่เห็นอนัตตา แต่กลับเห็นเป็นอัตตาอยู่ดังนี้ ก็เชื่อว่าเป็นอวิชชาโดยแท้ คือไม่รู้จักธรรมชาติตามความเป็นจริง และไม่อาจถึงนิพพานซึ่งเป็นความดับสูญจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งมีมูลเหตุมาจา
พระพุทธองค์ทรงรู้จักที่จะสอนเวไนยสัตว์แตกต่างกัน นั่นจึงเป็นเหตุให้มีโลกุตระธรรม โลกียธรรมปะปนกันไป ดูอย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลแม้ทรงมีโอกาสได้ฟังธรรม ทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้าได้ อยู่จนพระชนมายุแปดสิบ ก็ไม่อาจทรงบรรลุธรรมวิเศษได้ เช่นเดียวกันพระพุทธองค์ย่อมทรงเล็งเห็นว่าผู้ได้มีอินทรีย์แก่กล้าพอจะทรงสั่งสอนได้ หรือผู้ได้ไม่มีอุปนิสัยจะบรรลุธรรมวิเศษได้เลย ก็ย่อมทรงแสดงโลกียธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเหล่านั้นให้ได้มีสุขคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หากก็ไม่มีผู้ได้จะได้สำร็จมรรคผลจากโลกียธรรมเลย หากต้องเห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์ของขันธ์ห้าหรือความเป็นอนัตตาดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ก็การจะได้ทำพระนิพพานให้แจ้งแก่ตนเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธบริษัทไม่ใช่หรือ ก็นับเป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้วที่พระสงฆ์ท่านสอนแต่ความจริง แล้วไฉนจึงไปติเตียนท่านเสียเล่า ในการที่ท่านเอาความจริงมาพูด จะเกิดประโยชน์อะไรให้พูดถึงนรก สวรรค์ บุญกุศล นั่นสำหรับไว้สร้างศรัทธาปสาธะให้แก่กล้า สำหรับให้พุทบริษัทที่ไม่อาจมีโอกาสได้สัมผัสโลกุตรธรรม ได้ดำรงมั่นอยู่ใน ทาน ศีล ภาวนา เพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ได้ถึงพระนิพพานในกาลภายหน้า
แต่คุณต้องทำความเข้าใจว่านั่นไม่ใช่แก่นของพระศาสนา ดิฉันไม่เห็นควรติเตียนท่านที่ไม่สอนเรื่องเหล่านี้ ตรงกันข้ามท่านใดที่ม่สอนความจริงที่เป็นโลกุตระเสียเลย เอาแต่สอนเรื่องโลกีย์ ไม่เป็นทางให้พ้นจากกามภพได้ต่างหากควรแก่การถูกติเตียน ก็ท่านพุทธทาสนั้นสอนแต่ความจริงที่เป็รปรมัตถ์ ควรหรือจะมาโจมตีท่านเช่นนี้ ถ้าไม่เข้าใจก็ทำใจเสียเถิดว่า ท่านไม่สอนสำหรับตน ท่านสอนให้คนอื่นต่างหาก มันเป็นสิทธิของท่านแท้ๆ ที่จะเลือกสอนแก่คนเหล่าใด ไม่ได้ผิดพระธรรมวินัย และใครจะไปกะเกณฑ์ท่านไม่ได้
ที่สำคัญต้องไม่ลืมปณิธานสามประการอันยิ่งใหญ่ สมกับเป็นพุทธสาวกอันทรงไว้ซึ่งประโยชน์แก่เหล่าเวไนยนิกรยิ่งนัก คือไม่ได้ต้องการเพียงทำประโยชน์ให้แก่พุทธบริษัทเท่านั้น แต่เพื่อมนุษยโลกไม่เลือก ชั้นวรรณะ ศาสนา เผ่าพันธุ์ แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว แต่ผลงานของท่านที่ทิ้งเอาไว้จะคงอยู่ไปอีกยาวนาน ดังนั้นคติความเชื่อที่เฉพาะในพระพุทธศาสนาบางประการ ก็จำเป็นอยู่เองที่ท่านจะต้องละเว้น และสอนแต่ความจริงอันไม่เปลี่ยนแปลงเท่านั้น เพราะความจริงก็คือความจริง ซึ่งที่สุดแล้วมนุษย์ไม่ว่าชาติภาษาใดย่อมต้องมองเห็นและไม่อาจปฏิเสธได้ และเป็นความรู้ที่จะทำให้บุคคลทำความทุกข์ตนให้น้อยลงไปตามส่วน อันที่จริงแล้วแม้ไม่มีวาระ จะเผยแพร่พุทธรรมไปนานาชาติ ดิฉันว่าเรื่องเหลือเช่อนั้นบางทีไม่พูดก็จะดีกว่า เพราะสมัยนี้คนศรัทธาอ่อนมาก การที่จะเชื่อเรื่องเล่านี้ได้ก็ต้องมีศรัทธากล้าอยู่ ดังนั้นถ้าพูดไปแล้วเค้าเชื่อเพราะศรัทธามีกำลังอยู่ก็ดีไป แต่ถ้าไปถูกคนไม่มีศรัทธาแล้วนอกจากไม่มีประโยชน์ในการสอน คือเขาไม่เชื่อ แล้วยังทำให้เขาเกิดความสงสัยคลางแคลง เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือปฏิบัติธรรมเสียอีก สอนแต่ความจริง ที่เห็นกันได้ทุกคน ไม่มีทางเสียหาย
ในเรื่องความเห็นของท่านต่ออรรถกถานั้น ก็เป็นธรรมดาอยู่เองไม่ใช่หรือ ที่จะเห็นคำสอนของศาสดาตนถูกต้องบริสุทธิ์ กว่าของสาวกด้วยกัน ซึ่งจะเห็นว่าฟั่นเฝือทำให้ผู้ศึกษาไขว้เขวได้ก็ไม่แปลก หากพระองค์ใดบอกให้ศึกษาแต่วิสุทธิมัคค์ อย่าแตะต้องพระไตรปิฏกเสียอีก จึงจะนับว่าน่าติเตียน อันที่จริงอภิธรรมหรืออรรถกถาถ้ามีปัญญาเท่าทันหรือโชคดีไม่หลงทางไป ก็จะเป็นประโยชน์มาก แต่ก็มีตัวอย่างอยู่มากว่าบางทีก็ทำให้หลงผิดไปได้เหมือนกัน เช่น เพ่งกสิณ หรือทำอนุสติกรรมฐาน ทั้งที่เป็นสมถะ ก็เข้าใจไปว่าเป็นวิปัสนาแล้ว
จากคุณ |
:
บัว
|
เขียนเมื่อ |
:
12 ก.ค. 53 03:01:29
A:110.49.205.138 X: TicketID:273350
|
|
|
|