 |
ความคิดเห็นที่ 10 |
ผมขอยืนยันในคำตอบของคุณพระนายไวยครับ ว่าไม่มีประเทศใดๆ เลย ที่พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดจะทรงพระเดชานุภาพยิ่งไปกว่าพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีเลยครับ,, ในประเด็นนี้ผมหมายความถึงว่า พระราชอำนาจในการทรงปกครองแผ่นดินนั้น สำเร็จเด็ดขาดอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดินแต่เพียงพระองค์เดียว (ในกรณีที่ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว) ส่วนการที่พระราชชนนีจะทรงแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินได้นั้น เป็นเรื่องของ "บารมี" ส่วนพระองค์ครับ
ในส่วนของประเทศจีน ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น และประเทศในแถบเอเชียนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากทางศาสนาค่อนข้างมาก คือนับถือบรรพบุรุษ ดังนั้นการที่พระเจ้าแผ่นดินจีนต้องทรงคุกพระชานุลงทรงรับตราแผ่นดินจากสมเด็จพระราชมารดา (ไม่ว่าพระราชินี หรือพระมารดาแท้ๆ ก็ตาม) เป็นการถวายพระอิสริยยศในฐานที่ทรงเป็น "พระมารดา" คือเป็นพระราชินีในรัชกาลก่อนครับ,, หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงยอมรับพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมโกศ ต้องขอตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ตรงนี้เลยว่า พระบรมราชชนนี ผู้จะพระราชทานตราแผ่นดินนั้น ต้องเป็น "พระราชินี" ในรัชกาลก่อน ไม่ใช่พระมารดาแท้ๆ ของพระมหากษัตริย์
แม้พระอิสริยยศจะแปลในทำนองเดียวกัน แต่พระมารดาของพระเจ้าแผ่นดินที่มิได้เป็นพระราชินีมาก่อน จะต่ำกว่าพระราชินีซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยง ในฐานะที่ว่า พระราชินีทรงเป็นแม่แห่งแผ่นดินครับ
ถ้าในฝั่งยุโรป จะไม่มีการถวายความเคารพเช่นนี้ อย่างเช่นพระเจ้าจักรพรรดิแห่งราชอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ นั้น จะไม่ทรงคุกพระชานุให้กับมนุษย์ผู้ใดในโลก จะทรงถวายความเคารพแต่เฉพาะพระองค์ผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เท่าที่ผมทราบ เคยมีอยู่ครั้งเดียวคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ ทรงคุกพระชานุลงถวายพระบรมศพพระราชมารดา คือสมเด็จพระราชินีินาถโจอันนา แห่งคาสตีล (ฮันน่าผู้บ้าคลั่ง)
ในขณะที่ได้ทรงเข้าเฝ้าฯ พระราชมารดาเป็นครั้งแรกนั้น ชาร์ลส์ที่ ๑ ทรงครองฮัปสบวร์กอยู่แล้ว (โดยพระปิตุจฉาเจ้าทรงสำเร็จราชการ) สมเด็จพระราชินีนาถโจอันนา ได้ทรงรับสั่งห้ามมิให้พระองค์ทรงคุกพระชานุลงทำความเคารพ ในขณะเดียวกัน มิได้ทรงห้ามเจ้าหญิงเอลิเนอร์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์โต มิให้คุกพระชานุลงถวายความเคารพด้วย,, อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นพระบรมเดชานุภาพ ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตรีย์ มากกว่าที่ทรงเป็นพระราชมารดาครับ และในส่วนของประเทศอังกฤษนั้น เมื่อเจ้าฟ้าหญิงแมรี่ พระน้องนางในพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ ซึ่งได้เสด็จไปเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสมาหนึ่งรัชกาล เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว พระองค์มิต้องทำความเคารพพระเชษฐาแต่ประการใด เพราะถือว่า ศักดิ์เสมอกัน แต่ก่อนที่จะเสด็จไปฝรั่งเศสนั้น เมื่อได้เข้าเฝ้าพระเชษฐา จะต้องทรงคุกพระชานุลง หรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องทรงถอนสายบัวถวายครับ
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ท่านเสด็จฯ วังบางขุนพรหม สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งทรงรับเสด็จอยู่ จะทรงหมอบพระองค์ลงกราบถวายบังคม ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จะทรงหมอบกราบลงถวายบังคมสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เช่นกัน
เคยอ่านบันทึก แต่จำไม่ได้ว่าเป็นของท่านผู้ใดครับ ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เสด็จไปทรงเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ต่างฝ่ายต่างก็รีบลดพระองค์ลงหมอบกราบอีกพระองค์หนึ่ง
ในประการนี้อาจเป็นเพราะทั้งสมเด็จพระศรีสวรินทิรา และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ท่านทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในชั้นผู้ใหญ่ แต่ในส่วนของฝ่ายหน้านั้น เท่าที่ผมเข้าใจ ไม่มีนะครับ เช่นสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววะวงศ์วโรปการ นั้น ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ ๖ แต่ในเวลาถวายน้ำสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ทรงหมอบลง และถวายคนโฑน้ำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงรับและสรงพระองค์เอง (สมเด็จพระพันปีทรงถวายน้ำที่พระปฤษฏางค์) สมเด็จกรมพระยาวเทวะวงศ์ฯ นั้น เมื่อทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันปี ท่านก้อทรงหมอบพระองค์ลงกับพื้น ประสานพระหัตถ์และประทับพับเพียบครับ ในเวลาที่ทรงพระสาสน์ไปถวายสมเด็จพระพันวัสสา ก็ทรงแทนพระองค์ว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" และแทนพระองค์พระพันวัสสาว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" ทั้งๆ ที่ทรงเป็นพระเชษฐษร่วมพระครรโภธร กับสมเด็จทั้งสองพระองค์แท้ๆ
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด คงจะมองเห็นได้นะครับว่า พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินนั้นเป็นของพระเจ้าแผ่นดินโดยเฉพาะ ส่วนพระมเหสี พระสนมในรัชกาลก่อน จะมีิอิทธิพลอย่างไรก็เป็นเรื่องของส่วนพระองค์นั้นๆ แต่ในส่วนของการถวายความเคารพนั้น ก็เป็นไปตามธรรมเนียมของแต่ละประเทศ และพระราชอัธยาศรัย แลพระอัธยาศรัยของแต่ละพระองค์ครับ
จากคุณ |
:
ohmygodness
|
เขียนเมื่อ |
:
13 ส.ค. 53 17:57:48
|
|
|
|
 |