Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
[ลบทำไมครับ] คนวงนอกอยากออกตัว (21/8/2010) : อย่ารีบยัดเยียดเรื่องเงินกับเด็กได้ไหม?  

-----------------------

จะลบทำไมครับ? ถ้าบอกว่าผมตั้งหลายห้อง ปกติกระทู้่บางกระทู้ผมก็ตั้งหลายห้อง และถ้าอันไหนจะโดนลบ ก็จะลบเฉพาะห้องที่ไม่เข้าข่ายแค่นั้นเอง ( ที่ห้องสมุดก็ลบด้วย ไม่เข้าข่ายตรงไหน? )

----------------------

คนวงนอกอยากออกตัว : อย่ารีบยัดเยียดเรื่องเงินกับเด็กได้ไหม?


โดย : TonyMao_NK51
E – Mail : tonymao_nk51  hotmail.com


“ เรียนให้เก่งๆ นะลูก โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ”

“ แกต้องเรียนให้ดี โตขึ้นจะได้เป็นหมอหรือทนายความ ”

“ ขึ้น ม.ปลายต้องเข้าวิทย์ – คณิตละ จะได้เป็นหมอ วิศวะ หรือไอที เพราะจบมาแล้วเงินดีมาก ”

สวัสดีครับ หลังจากอาทิตย์ที่แล้วผมบ้าบออยู่กับการไล่โต้ตอบ “ เธอผู้เป็นมารดาแห่งลัทธิกิเลสนิยมสาขาประเทศไทย ” ( และสาวกของเธอคนนั้นคงรำคาญผม ก็นะ! นักเขียนโนเนมที่ต้องเรียนรามฯ ถึง 5 ปีกว่าจะจบ มีหรือจะสู้นักเรียนทุนเมืองนอกที่มีงานตีพิมพ์ในสื่อใหญ่ระดับประเทศได้ ผมคงต่ำชั้นเกินไปที่จะสู้กับเธอนะครับ แฮ่ๆ ) วันนี้ก็ขอกลับมาเขียนอะไรๆ ที่เป็นทางเดิมของผมตามปกติน่าจะดีกว่า

หลายคนอ่านแล้วคงจะงง วันนี้ไอ่คุณเหมามันยกประโยคบ้าบออะไรมาตั้งเป็นหัวคอลัมน์วะเนี่ย ผมจะบอกว่าจริงๆ แล้วในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีเรื่องถึงสองเรื่องที่จะเขียน เรื่องแรกคือ “ เบื่อการเอาหน้าของผู้ใหญ่ ” ไล่ตั้งแต่เคอิโงะตามหาพ่อ น้องหม่องพับเครื่องบินได้แชมป์ประเทศไทยไปแข่งที่ญี่ปุ่น และล่าสุดคือน้องไบเบิ้ลผู้ร้องเพลงหาเงินรักษาแม่ ที่มาพร้อมกับบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายๆ วงการเข้าไปหาเด็กกันหมด ( แต่ไม่รู้มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า? ) กับอีกเรื่องหนึ่งคือผมไปเจอกระทู้ๆ หนึ่งในบอร์ดวิทยาศาสตร์ยอดนิยมของสังคมไซเบอร์เมืองไทย พูดถึงเรื่องที่ว่า “ ทำอย่างไรเด็กจะสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ ” แล้วผมก็รู้สึกขัดใจว่าทำไมหลายๆ ความคิดเห็นจึงตอบไปในทางเดียวกันที่ว่า “ เพิ่มจำนวนเงินนักวิทย์ฯ สิ ” หรือว่า “ สอนให้เด็กรู้ว่าเรียนวิทย์ฯ แล้วโตไปจะได้เงินเยอะแค่ไหน ” อะไรทำนองนี้ จึงเป็นที่มาของคอลัมน์และข้อความเกริ่นนำข้างต้นนั่นละครับ

ข้อความแรกเป็นคำสอนอมตะของคนไทยเมื่อสัก 30 กว่าปีก่อนขึ้นไป ในยุคที่ข้าราชการมีอำนาจบารมีล้นฟ้า ( บางคนอาจจะงงว่าวันนี้ข้าราชการก็มีอำนาจ แต่ผมจะบอกว่าข้าราชการสมัยนี้สู้สมัยก่อนไม่ได้หรอกครับ สมัยนี้ระเบียบเยอะ คนจ้องตรวจสอบก็เยอะ แต่สมัยก่อนนี่อภิสิทธิ์ชนขนานแท้ ยิ่งข้าราชการมีสี ไม่ว่าเขียวหรือกากี แทบจะมีรัศมีคลุมกายประดุจเทวดากันเลยทีเดียว) ข้อความที่สองมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องหนึ่งที่คนเป็นพ่อทำงานทุกอย่างแม้แต่การรับจ้างทวงหนี้เพื่อให้ลูกมีเงินเรียนสูงๆ จะได้เป็นหมอหรือทนายความ ( ท่าทางสังคมอเมริกิน หมอกับทนายน่าจะมีรายได้ดีที่สุดในอาชีพมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ) และข้อความสุดท้ายผมได้ยินตั้งแต่เด็กๆ เมื่อสัก 20 กว่าปีก่อนได้ ในยุคที่ผมอ่านข่าว นสพ. แล้วพบว่าช่วงฤดู “ เอ็นสะท้าน กระดูกสะเทือน ” หรือการสอบเข้ามหา’ลัย แล้วมีคนสอบไม่ได้ ไปผูกคอตาย โดดตึกตาย ฯลฯ เพราะไม่อาจจะกลับไปสู้หน้าพ่อแม่ ในช่วงนั้นคณะอย่างแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะยอดนิยมที่พ่อแม่อยากให้ลูกเรียน ถ้าสมัยนี้จะต้องเพิ่มคณะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ( ไอที ) ไปด้วย เพราะรายได้ดีมาก

แน่นอนละครับ ใครๆ ก็อยากทำงานที่มีรายได้เยอะๆ ครั้งหนึ่งผมก็ถูกคนใน MSN ต่อว่าว่าทำไมผมไม่สนใจเรื่องทำธุรกิจบ้าง ทำไมพอใจกับการเป็น “ มนุษย์เงินเดือน ” เอ่อ! ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมบรรทัดฐานของโลกนี้ สิ่งที่มีประโยชน์คือสิ่งที่ต้องตีเป็น “ ตัวเงิน ” ได้เท่านั้นหรือ? แล้วก็จัดเรียงกันไปอีกว่าอะไรทำเงินได้เยอะ ก็มีประโยชน์มาก อะไรทำเงินได้น้อย ก็เหมือนจะไม่มีประโยชน์ การสอนและการให้คุณค่าแบบนี้ ผมว่าเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างมากทีเดียว

ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินข่าว หรือได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “ ภาวะบัณฑิตล้นตลาด “ กันมาบ้างไม่มากก็น้อย รอบๆ ตัวผมก็มีคนบ่นว่าเรียนไอทีมาก็ตกงานต้องไปทำอย่างอื่นบ้าง เรียนวิศวะฯ มาก็ตกงานต้องไปอย่างอื่นบ้าง หรือคณะอื่นๆ ที่ใครๆ เขากล่าวกันว่า “ เรียนๆ ไปเถอะ โตขึ้นเรียนจบ รายได้ดีแน่ๆ ” ( อย่าว่ากระนั้นเลย ผมเรียนรัฐศาสตร์เอกปกครอง วันนี้ก็ตกงาน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือผมเรียนเพราะอยากเรียน ไม่ได้เรียนตามโฆษณาชวนเชื่อเรื่องรายได้ ) นี่ละครับผลของการสอนลูก ผลของการให้คุณค่ากับ “ ตัวเงิน ” มากจนเกินไป เช่นเดียวกับสมัยก่อนที่คนไทยให้คุณค่ากับ “ บารมี ” มากจนเกินไป คนไทยมุ่งรับราชการกันหมด ที่สู้ไม่ได้ก็กลับไปทำการเกษตร ผลคือ “ การค้าขาย ” ที่สร้างรายได้มหาศาลถูกละเลยและดูถูกจากคนท้องถิ่น จนกลายเป็นเรื่องของ “ ชาวจีนอพยพ ” กันหมด และก็เป็นแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ คือกิจการใหญ่ๆ และนักธุรกิจเก่งๆ ระดับแนวหน้าของไทย เป็นลูกหลานจีนอพยพแทบทั้งสิ้น ( คนไทยสมัยก่อนมีคำกล่าวว่า “ สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง ” นี่คือสิ่งที่ชี้ว่าคนไทยสมัยก่อนมองว่าข้าราชการเป็นอาชีพดีที่สุด )

เห็นกันแบบนี้ ยังจะไปบ้าบอสอนลูก หรือกำหนดนโยบายให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เรียนวิทยาศาสตร์โดยการต้องยัดเยียดเรื่องเงินอีกหรือ? เดี๋ยวยุคหน้าถ้าผมยังไม่ตาย หรือมีครอบครัวไปก่อนคงได้มาเขียนเรื่องนี้อีก เพราะจะต้องได้ยินข่าวว่า “ บัณฑิตวิทยาศาสตร์ตกงานอื้อ เหตุเพราะล้นตลาดแรงงาน ” แบบเดียวกับที่วิศวะฯ บัญชี บริหาร หรือไอทีกำลังเป็นอยู่ตอนนี้ ก็เพราะว่าเราไปสอนลูกกันแบบนั้น ผลคือเด็กก็เลยไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ชอบอะไร ไม่ต้องคิด คิดไม่เป็น พ่อแม่เอย สื่อเอย ครูเอย บอกกันเข้าไปว่าอาชีพนั้นดีเพราะเงินเยอะ แต่เด็กก็ไม่ชอบ ไม่ถนัด แล้วทำอะไรได้ ก็พ่อแม่บังคับ สื่อล้างสมอง ครูกดดัน ก็ต้องทนๆ เรียนกันไป บางคนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ ก็เลยวัยหนุ่มสาวไปแล้ว พลังกายพลังใจที่มีก็เสื่อมลง ต้องกลายเป็นแค่ “ สิ่งผิดพลาดทางสังคม ” ใช้ชีวิตไปวันๆ รอแค่วันที่จะจากโลกนี้ไปเท่านั้น เพราะทำงานที่ไม่ชอบ ไม่รัก แต่ต้องทำเพราะเรียนมาทางนี้ ไม่อาจจะโดดไปเสี่ยงทำอย่างอื่นได้ด้วยภาระทางครอบครัวและวัยที่เพิ่มขึ้น นั่นคือผลร้ายในแง่ปัจเจกบุคคล

ส่วนผลร้ายกับสังคมโดยรวมก็คือ เมื่อคุณเรียนไม่ดี เกรดไม่ดี แต่ก็จบมาได้แบบปริ่มน้ำ ผลคือผมเชื่อได้ว่าคนจำพวกนี้ไม่ค่อยแสวงหา “ ความรู้นอกตำรา ” ในอาชีพของตัวเองหรอกครับ และนั่นคือหายนะของระบบงานในองค์กร เพราะบุคลากรไม่กระตือรือร้น ( ถ้าเอกชนอาจจะกระตือรือร้นกันพักหนึ่ง ถ้าไม่ไหวก็ออกไป แต่หลายคนคงต้องอดทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ แต่ต้องทำเพื่อให้มีรายได้ นี่ก็เป็นปัญหาสังคมอีกเพราะดัชนีความเครียดมวลรวมจะเยอะขึ้น ) สมองคนเราก็เหมือนร่างกายครับ ถ้าร่างกายที่แข็งแรงฝึกฝนด้วยการออกกำลังกาย สมองที่ฉับไวก็ฝึกฝนได้ด้วยการคิด และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่ Update อยู่เสมอตามกระแสโลก แต่ถ้ามีอะไรทำให้สมองเฉื่อยชา ไม่ว่าจะเกิดจากวัฒนธรรมองค์กร ( ระบบอุปถัมภ์ ) หรือเกิดจากตัวปัจเจกบุคคลที่อยู่แบบ “ ทนอยู่” ก็ตามที แต่ผมจะให้น้ำหนักกับ “ การแก้ปัญหาการทนอยู่โดยไม่ได้รัก ” มากกว่า เพราะระบบอุปถัมภ์คือการพึ่งพา ผู้น้อยต้องพึ่งพาผู้ใหญ่คือต้องสอพลอเพราะผู้น้อยก็ไม่รู้ว่าเก่งไหม? ผู้ใหญ่ก็ต้องเลี้ยงดูผู้น้อยไม่ว่าจะเหมาะสมหรือไม่เพราะผู้ใหญ่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเก่งแค่ไหน? ( เพราะคนที่เก่งๆ หรือคนที่ใจรัก มันไม่ทำอยู่แล้ว มันไปทำอย่างอื่นที่รายได้ดีกว่าหมด ) แต่ถ้าสังคมถูกจัดระเบียบใหม่ เราให้ค่านิยมกับการเรียนในสาขาที่ตนรักตนชอบ ท้ายที่สุดองค์กรแต่ละภาคส่วนก็จะมีแต่บุคลากรที่ “ ใจเดียวกัน ” เข้าไปทำงาน ไม่ได้ทำงานเพราะทนอยู่ แต่ทำงานเพราะใจรัก และสนุกกับงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ไปสักระยะหนึ่ง ( ผมให้สัก 15 – 30 ปีเพราะคนไทยนิสัยเดิมคือเชื่องช้า ถ้าเทียบกับคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ) ระบบอุปถัมภ์ก็จะลดความสำคัญลงไปเอง

ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องรายได้ อาชีพที่เรียนยาก หาคนเก่งคนกล้ายาก ค่าตอบแทนก็ควรจะสูง แต่เราไม่ควรจะโฆษณาชวนเชื่อกันว่าให้ทุกคนเข้าไปเรียน เพราะทุกอาชีพล้วน “ เลือกคน ” แล้วถ้าคนๆ นั้น “ ไม่ใช่ ” มันจะเสียเวลาชีวิต และคนที่เข้าไปได้ถ้าไม่ใช่ หรือใจไม่รัก ก็ไปเบียดบังคนอื่นที่เขารักเขาชอบจริงๆ แต่ไม่มี “ กำลังภายใน ” พอที่จะฝ่าเข้าไปอยู่ในองค์กรนั้นๆ ได้ กลายเป็น put the wrong man on the wrong job ไปอีก ประเทศชาติมันถึงได้แปลกๆ แบบนี้ คือคนที่ทำงานอยู่ก็ไม่แน่ใจว่าเก่งไหม คนที่ตกงานก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร และดัชนีความเครียดมวลรวมก็เพิ่มขึ้นเพราะคนตกงานก็เครียด คนทำงานแบบทนๆ ไปก็เครียด ประเทศชาติมันก็มีแต่คนเครียด แล้วจะพัฒนาไปพร้อมกับการมีความสุขได้อย่างไร กลายเป็นประเทศที่มีแต่คนไม่เก่ง ( คือคนเก่งไม่รู้ตัวเอง เนื่องจากไปเรียนสาขายอดนิยมแต่ตัวเองไม่ถนัด ) คนไม่ดี ( สังคมที่แข่งขันกัน คนยอมทุจริตเพื่อให้ตัวเองขึ้นสู่การเป็นชนชั้นนำ ) และคนไม่มีความสุข ( จากการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และการทำงานที่ใจไม่รักแต่เพราะรายได้ ตามมาด้วยโรคเครียด )

อย่าเพิ่งไปสอนเด็กให้สนใจเรื่องเงินทองเลยครับ ปล่อยให้เขาเรียนไปตามที่เขาถนัดดีกว่า ถ้าหากจะมีค่านิยมอะไรสักอย่างที่ควรจะปลูกฝัง ก็ควรจะเป็น “ คุณธรรม จริยธรรม ” เสียมากกว่า เพราะอาชีพไหน รวยหรือจนถ้าไม่มีจริยธรรม ไม่เห็นแก่ส่วนรวม แก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมชาติ ผลคือสังคมนั้นก็จะวุ่นวายครับ ส่วนใครจะไปทำงานอะไร ถ้าเป็นงานสุจริตก็ปล่อยเขาไปเถอะครับ พ่อแม่บังคับลูกมาก ลูกมันก็หนีไปติดเพื่อน ติดยา ติดเกม เป็นปัญหาสังคมอีก

แค่ให้เขาเป็นคนดีต่อสังคม และมีระเบียบวินัย ควบคุมตนเองได้ก็พอแล้วละครับ นอกนั้นก็ให้เขาค้นหาตัวเองไปจะดีซะกว่า

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

...............................................................

ปล.ฝากถึง “ เธอผู้เป็นมารดาแห่งลัทธิกิเลสนิยมสาขาประเทศไทย ” นะครับ บทความล่าสุดของคุณนี่ยังคงกัดจิกจริยธรรมอย่างต่อเนื่องจริงๆ ผมสงสัยว่า “ การให้คุณค่ากับแม่ที่ยากจนแต่ตั้งใจเลี้ยงดูลูก ” จนทำให้แม่ทั่วๆ ไปต้องพยายามเอาเป็นแบบอย่างมันผิดตรงไหน ถ้าจะบอกว่าแค่สนใจเอาหน้าเป็นพักๆ อันนั้นต้องไปติดตามและตำหนิทีหลัง ( แบบเดียวกับที่ผมเบื่อเรื่องผู้ใหญ่ชอบเอาหน้า ) แต่การยกย่องคนที่เป็นแบบอย่างที่ดี แบบอย่างที่กระทำได้ยาก เป็นสิ่งที่จรรโลงสังคมให้อยู่ได้ไม่ใช่หรือ? ถ้าไม่ทำแบบนี้ จะเอาแบบอย่างที่ไหนไปสอน และไปตำหนิพวกเด็กใจแตกหรือพวกเลี้ยงแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ละครับ ฝากไว้ให้คนอ่านคิดด้วยนะครับ

ปล.2 ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็นการชั่วคราวนะครับ ด้วยความที่หมั่นไส้พวก “ คนวงใน ” ( หรือเปล่าก็ไม่รู้เพราะในโลกไซเบอร์จะอ้างยังไงก็ได้ ) ชอบบอกว่าผมวงนอกมายุ่งอะไรด้วย คนวงนอกไม่มีสิทธิ์วิจารณ์ ผมก็เลยเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็นการประชดเสียเลย ถ้ามันจะดูเกรียนๆ ไปบ้าง ก็ขออภัยผู้อ่านมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ไว้ให้อารมณ์ผมเย็นลง ความสะใจแบบไร้สาระลดลงแล้ว จะเปลี่ยนกลับในทันทีครับ แฮ่ๆ

จากคุณ : TonyMao_NK51
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 53 15:22:22




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com