ตามข้อมูลส่วนมากจะเน้นหนักให้การผลิตเหรียญกษาปณ์แบบยุโรปหรือเหรียญแปหรือเหรียญแบน ในสยาม มีความสัมพันธ์กับเรื่องการค้าเนื่องจากมีชาวยุโรปใช้เงินมาซื้อสินค้ากันมากขึ้น แต่ความเป็นจริงมีเหตุผลหลายอย่างประกอบกันในช่วงเวลาที่ใกล้ๆกัน
เหตุผลแรก
เมื่อมีการเปิดประเทศค้าขายกับอังกฤษและประเทศต่างๆ (สหรัฐอเมริกา พ.ศ.๒๓๙๙, ฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๓๙๙, เดนมาร์ก พ.ศ. ๒๔๐๑,โปรตุเกส พ.ศ. ๒๔๐๒, เนเธอร์เเลนด์ พ.ศ. ๒๔๐๓)ที่ได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ชาวต่างชาติก็ได้นำสินค้าเข้ามาขาย หรือนำผลผลิตจากสยามไปขาย ซึ่งได้มีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลสยาม จัดการกับระบบเงินตราของไทยด้วย
เหตุผลที่สอง
เนื่องจากเรายังใช้เงินพดด้วง ชาวบ้านทั่วไปไม่ยอมรับเหรียญกษาปณ์อย่างนอก หรือรับแล้วก็รีบไปขึ้นเงินที่ท้องพระคลังพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งชาวต่างชาติต่างก็ต้องนำเงินเหรียญนอกไปแลกเป็นพดด้วง ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเสียเวลา จึงทรงแก้ปัญหาด้วยการตอกตราประทับที่เหรียญนอก เพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจ
เหตุผลที่สาม
การปลอมแปลงพดด้วงมีกันมากมาย คือ เนื้อในทำด้วยทองแดงและหุ้มด้วยเงิน และทำให้น้ำหนักใกล้เคียงของจริงพร้อมตอกตรา แต่ใช้ไปนานๆเงินจะออกสีแดง
เหตุผลที่สี่
และเมื่อเศรษฐกิจการเงินหมุนเวียนต้องการความคล่องตัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำเหรียญแบน ซึ่งทำด้วยเครื่องจักร เพื่อประหยัดเวลาและผลิตได้มากนำมาใช้ในแผ่นดินสยาม