ในความคิดส่วนตัวของผม ผมมองว่าไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง" ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาช่วงเวลาถัดมานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2480 เป็นต้นไป โครงสร้างสังคมไทย โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางทุนนิยมมากขึ้น (แม้ว่าในช่วงสมัยจอมพลป. สมัยแรก และสมัยผิน-เผ่า ในช่วงทศวรรษที่ 2490 จะเป็น "ทุนนิยมโดยรัฐ" ก็ตาม ) แต่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างๆ โดยเฉพาะ "ชนชั้นกลาง" ที่มีมากขึ้นในสังคม ผู้คนมีการศึกษามากขึ้น สามารถออกความเห็นหรือวิพากย์วิจารณ์ได้มากขึ้น ตลอดจนความเป็นอยู่หรือฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากที่ความสัมพันธ์แบบนาย-บ่าว (ที่ต้องฟังคำสั่งและทำตามอย่างเดียว) หรือความสัมพันธ์แบบพระราชา-ราษฎร จะดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสของระบบการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม (ดังนั้น เราจึงเห็นการปรับตัวของสถาบันฯ ที่จะให้สามารถดำรงอยู่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และภายใต้กระแสวาทกรรมการพัฒนานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 ลงมา เช่น แนวคิดการออกเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องที่ต่างๆ มากครั้งเป็นประวัติการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน หรือการออกโครงการพระราชดำริต่างๆ จนกลายเป็น "พระราชอำนาจนำ" ในอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น)
นอกจากเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว หากลองจินตนาการในเวลาต่อมานับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นไป ปัญหาเรื่องสงครามเย็นนับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา และเมื่อจำเป็นต้องเลือกข้างแล้ว ผมฟันธงได้เลยว่าเราต้องอยู่ข้างประชาธิปไตยแน่นอน เพราะหากเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว โครงสร้างและสถาบันดั้งเดิมของไทยต้องเปลี่ยนไปแบบ "พลิกฝ่ามือ" ทีเดียว ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นคงไม่ยอมแน่นอน ดังนั้นเมื่อพิจารณาว่าหากไม่เกิดเหตุการณ์ "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง"/ "การปฏิวัติ"/ "การอภิวัฒน์" ในปี 2475 แล้ว ท้ายสุดด้วยการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกที่มีขึ้นอย่างรวดเร็ว (ซึ่งต่างจากสังคมในสมัยจารีตที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นค่อนข้างช้า) ก็ "น่าจะ" ผลักดันให้บ้านเราต้องเป็นประชาธิปไตยอยู่ดี เมื่อดูบริบทจากประวัติศาสตร์ข้างต้นครับ
ส่วนความเห็นเรื่องว่าเหตุการณ์ในปี 2475 ดีหรือไม่นั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องของ "วาทกรรม" ที่ถูกผลิตขึ้นในแต่ละช่วงสมัยที่ให้ความหมายและความสำคัญของเหตุการณ์นี้แตกต่างกัน เราพอจะแยก "ภาพลักษณ์" ของเหตุการณ์นี้ออกเป็นสองช่วงใหญ่ๆคือ
- ช่วงแรก คือช่วงของการปกครองในสมัยคณะราษฎร (2475-2500) ช่วงนี้ภาพลักษณ์ของเหตุการณ์นี้จะเป็นภาพในแง่บวก ทั้งนี้เพราะกลุ่มอำนาจใหม่คือทหารนั้น โดยเฉพาะสมาชิกผู้ก่อการในคณะราษฎรอย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพลป. ที่เป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองครั้ง ได้พยายามสถาปนาความสำคัญของเหตุการณ์นี้ผ่านระบบสัญลักษณ์หลายๆอย่างเช่น การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ (ตรงบริเวณหลักสี่ เพื่อประกาศชัยชนะเหนือกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า) การประกาศวันชาติในวันที่ 24 มิ.ย. การฉลองวันรัฐธรรมนูญ หรือการยกย่องรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันหลักของชาติลำดับที่ 4 รองจากชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นต้น
- ช่วงที่สองคือนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 ลงมา กล่าวคือ เมื่อกลุ่มอำนาจของคณะราษฎรได้สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ได้ปฏิวัติในปี 2500 นั้น ด้วยความที่ท่านจอมพลเป็นทหารที่ได้รับการศึกษาจากในประเทศ (ต่างจากทหารที่เป็นแกนนำในคราวเหตุการณ์ 2475 ที่ล้วนจบจากยุโรป) ตลอดจนเห็นความวุ่นวายทางการเมืองตลอดมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ดังนั้นท่านจอมพลจึงเห็นว่าการปกครองของบ้านเราควรจะเป็น "ประชาธิปไตยแบบไทย" (ซึ่งก็คือ "เผด็จการ" นั่นเอง) โดยลดความสำคัญของรัฐธรรมนูญลง (ในสมัยนี้ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 10 ปี อันสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของท่านจอมพลต่อการมีรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี) และฟื้นฟูพระราชอำนาจขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 5 ธ.ค. และวันรัฐธรรมนูญก็เปลี่ยนเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลแทน
แต่เหตุการณ์ที่สำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของคณะราษฎรตกต่ำลงในช่วงนี้ เนื่องจากวาทกรรมราชาชาตินิยมที่ท่านจอมพลรื้อฟื้นขึ้นมามีส่วนทำให้ "คณะราษฎร" ถูกมองว่าเป็น "ผู้ร้าย" ที่ปล้นชิงความชอบธรรมในการปกครองจากกษัตริย์ไป ตลอดจนในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาที่นักศึกษาผูกโยงบทบาททางการเมืองของทหารที่เป็นเผด็จการในช่วงนั้นว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการกระทำของคณะราษฎร และกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันที่ใช้อธิบายเมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมาครับ และในขณะเดียวกัน สิ่งที่ จขกท.กล่าวว่ารัชกาลที่ 7 ทรงเป็นนักประชาธิปไตยนั้น ก็เป็น "วาทกรรม" อีกชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นเช่นกัน มิใช่เป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิม โดยพิจารณาจากย่อหน้าอมตะในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติที่เราคุ้นเคยกันดีครับ (และยิ่งในปัจจุบันกระแสวาทกรรมราชาชาตินิยมนี้ได้ทวีความเข้มข้นมากจนกระทั่งกลายเป็น "รั้วขนาดใหญ่" ที่กีดกันไม่ให้นักประวัติศาสตร์สามารถเข้าไปศึกษาในพื้นที่สงวนตรงนี้ได้ครับ)
แก้ไขเมื่อ 12 ต.ค. 53 15:29:35