พิธีชุดหยิว (พระออกเที่ยว หรือแห่เจ้าเพื่อเยี่ยมสาธุชนตามบ้านเรือน)
คำว่าหยิว ในภาษาจีน แปลว่า เที่ยว หมายถึงพระกิวอ๋องไต่เต่ออกเยี่ยมลูกหลานตามบ้านเรือน บนถนนเส้นต่างๆ คนที่เข้าร่วมพิธีชุดหยิวจะแต่งกายชุดสีขาว ขบวนแห่จึงเปรียบเสมือนแม่น้ำสีขาวไหลผ่านบ้านเรือนนั่นเอง จึงมีความเชื่อว่า เมื่อขบวนชุดหยิวผ่านสถานที่ใด สถานที่แห่งนั้นจะมีแต่ความสงบร่มเย็น
๑.เกี้ยวพระ โดย เกี้ยวใหญ่หรือตั๋วเลี่ยน เป็นที่ประทับของกิ้วอ๋องไต่เต่ (นพราชา) และด้านบนของเกี้ยวจะประดับธงทั้งห้าทิศ คือตรงกลาง และมุมทั้งสี่ เป็นสัญลักษณ์แทนเทพประจำทิศ หรือทหารรักษาการณ์ตามทิศ เกี้ยวใหญ่จะอยู่บริเวณท้ายขบวน มีคนหาม ๘ คน นอกจากนี้ มีขบวนหามเกี้ยวหรือเก่วพระโดยมีรูปเจ้าแต่ละองค์นั่งในเกี้ยวไปตามลำดับชั้นและยศของเจ้า
๒. ธง เขียนเป็นภาษาจีน เช่น กิ้วอ๋องไต่เต่
๓. ธงดำ (โอวเหล่ง ) เป็นธงศักดิ์สิทธิประจำตัวม้าทรง หรือพระแต่ละองค์ ที่ผืนธงเขียนอักษรจีนโบราณ เชื่อว่าเป็นคาถาขับไล่สิ่งชั่วร้าย นอกจากนั้นใช้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายด้วย
๔. ม้าทรง ทุกคนต้องใส่ชุดเอี๊ยม และจะมีพี่เลี้ยงติดตาม
เมื่อขบวนผ่านหน้าบ้าน ร้านค้า มักจะมีการจัดโต๊ะไหว้ ซึ่งหากจัดเต็มรูปแบบ หรือชุดใหญ่ ก็จะประกอบด้วย ธูป ๙ ดอก เทียน ๑ คู่ ของไหว้ได้แก่ น้ำชาจีน ๑๒ ถ้วย อาหารเจ ๖ อย่าง
๑. ฟองเต้าหู้ ตัวแทนของธาตุไฟ
๒.ดอกไม้จีน ตัวแทนของ ธาตุไม้
๓.เห็ดหูหนูขาว ตัวแทนของธาตุน้ำ
๔.เห็ดหูหนูดำ ตัวแทนของธาตุดิน
๕.วุ้นเส้น ตัวแทนของธาตุน้ำ
๖.ถั่วลิสง หมายถึงหลักธรรมในลัทธิเต๋า
ผลไม้ ๓ - ๕ ชนิด อาทิ
ส้ม (ไต้กิ๊ก แปลว่า มงคล)
แอปเปิ้ล (ความสวยงาม)
สาลี่(ซัวตังไล้ หมายถึง มีโชคลาภมา)
องุ่น ( หมายถึง ลูกหลานบริวารดี)
สับปะรด (อั่งไล้ แปลว่าสีแดง เป็นสีมงคลของคนจีน การไหว้ด้วยสับปะรดเปรียบเสมือนการเรียกโชคลาภเข้ามา)
นอกจากนี้ที่สำคัญขาดไม่ได้ ต้องมีข้าวสาร ใส่ถ้วย พร้อมขันน้ำมนต์ สำหรับใช้ตอนม้าทรง อวยพร โดยใช้ข้าวสารโรย และใช้น้ำมนต์รดตาม)
แก้ไขเมื่อ 14 ต.ค. 53 21:32:06
แก้ไขเมื่อ 14 ต.ค. 53 21:28:10