Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เปิดบ้านวชิราวุธวิทยาลัย ติดต่อทีมงาน

เปิดบ้านวชิราวุธวิทยาลัย  พระราชกรณียกิจแรกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสถาบันการศึกษาที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล

ครั้งแรกในรอบ ๑๐๐ ปีที่วชิราวุธวิทยาลัยลงทุนเปิดโรงเรียนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป  เข้าเยี่ยมโรงเรียนในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี

ในงานนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการถึง ๖ นิทรรศการด้วยกัน  คือ
๑) นิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  ในหลากหลายแง่มุมที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน เช่น การเสริมสร้างชาติให้มั่นคงและส่งผ่านการกอบกู้เอกราชทางการศาลและเศรษฐกิจจากรัชกาลที่ ๔ สู่รัชกาลที่ ๕ และมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๖   การวางรากฐานการศึกาชาติ  การเตรียมการพระราชทานประชาธิปไตยแก่ปวงชนชาวไทย ฯลฯ ชมพระราชกรณียกิจสำคัญในฉลองพระองค์เนติบัณฑิตสยามซึ่งทรงไปในงานวางศิลาพระฤกษ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และเป็นต้นแบบของครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ตลอดจนภาพวาดฝีพระหัตถ์  
๒) นิทรรศการประวัติวชิราวุธวิทยาลัย  แสดงพระราชดำริในการสร้างโรงเรียนแทนวัด  พบกับพิมพ์เขียวต้นฉบับที่ใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมพระราชนิยมในวชิราวุธวิทยาลัย  และเรื่องราวของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓) นิทรรศการที่ ๓ วชิราวุธสร้างคนรับใช้สังคม  พบกับผลงานนักเรียนเก่าบางส่วนที่ได้ร่วมสร้างสรรคุณูปการไว้แก่ประเทศชาติและสังคม  ชื่นชมกับขนบประเพณีสำคัญที่มีเฉพาะในวชิราวุธวิทยาลัย เช่น การเข็นรถพระที่นั่ง  การเล่นเป็นทีมทั้งดนตรีและกีฬา  การแห่ถ้วยรางวัล ฯลฯ  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “วิถีชีวิต” เบ้าหลอมนักเรียนวชิราวุธให้ “รุ้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นฉัตรไชย  อีกรู้เสียสละได้ด้วยใจงาม”    
๔) นิทรรศการชีวิตวชิราวุธ  นำเสนอเรื่องเล่าและภาพถ่ายชีวิตนักเรียนแต่อดีตถึงปัจจุบัน
นิทรรศการทั้ง ๔ ส่วนนั้นจัดแสดงบนตึกวชิรมงกุฎ  ตึกเรียนทรงไทย ๒ ชั้น ขนาด ๑๒
ห้องเรียน  ซึ่งเล่าต่อๆ กันมาว่า เดิมทีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา แก่ ศาสตราจารย์ หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ  ปัทมจินดา) สถาปนิกผู้ร่วมออกแบตึกหลังนี้ในวันเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึก  แต่มีเหตุสำคัญให้อาจารย์หลวงต้องรอรับพระราชทานบำเหน็จสำหรับผลงานชิ้นนี้ถึง ๕๐ ปี  อีกทั้งเป็นตึกแรกในประวัติศาสตร์วงการก่อสร้างไทย  ที่มีผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นคนไทย คือ นายสง่า  วรรณดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท สง่าพานิช จำกัด
นิทรรศการที่ ๕ คือ นิทรรศการขององค์กรที่เนื่องในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ธนาคารออมสิน  วชิรพยาบาล  สภากาชาดไทย  วิทยาลัยเพาะช่าง (สถาบันการศึกษาที่ไม่ยอมเป็นมหาวิทยาลัย) ฯลฯ  
นิทรรศการที่ ๖ เป็นนิทรรศการวิชาการ  ที่เปิดให้นักเรียนเข้าร่วมแข่งขันตอบปัญหา  และอบรมเชิงปฏิบัติการในวิชาการแขนงต่างๆ
นิทรรศการทั้ง ๖ นี้  เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ในระหว่างวันที่  ๒๑ – ๒๖  ธันวาคม  ๒๕๕๓  เวลา ๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.  นอกจากนิทรรศการทั้งแล้ว  ท่านผู้สนใจยังจะได้เยี่ยมชมหอสวดหรือหอประชุมไม้สักที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีก่อน  ด้วยการผสานสถาปัตยกรรแบบโกธิคของตะวันตกกับศิลปกรรมอันประณีตของไทย  เกิดเป็นศิลปสถาปัตยกรรมพระราชนิยม  ชมธรรมาสน์บุษบกฝีมือครูที่พระราชทานไว้เป็นธรรมาสน์เทศน์ของโรงเรียน  และเซอร์ระพินทร์นารถ  ตะกอร์ ปราชญ์ชาวอินเดียและคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลเคยมานั่งปาฐกถาบนธรรมาสน์นี้เมื่อครั้งมาเยือนเมืองไทย

พลาดไม่ได้ ๑๐๐ ปีมีครั้งเดียว  พลาดโอกาสนี้แล้วคงต้องรอไปอีก ๑๐๐ ปี

จากคุณ : V_Mee
เขียนเมื่อ : วันรัฐธรรมนูญ 53 11:12:05




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com