Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
มีชัยติงรัฐบาลลงทุนการศึกษาน้อย "ราชภัฎ-ราชมงคล"พิการตั้งแต่เกิด ติดต่อทีมงาน

คมชัดลึก : “มีชัย” ติงรัฐบาลลงทุนการศึกษาน้อย เปรียบราชภัฎ-ราชมงคล เด็กพิการตั้งแต่กำเนิด ชี้เป็นของราชการ แต่ไม่ให้อัตราราชการ ขณะที่ อธิการบดี มสด. ไม่สนไม่มีงบ แนะพึ่งตนเอง อย่ารอรัฐบาล ส่วนราชมงคล ฝากแก้ปัญหาทรัพยากร บุคลากรด่วน

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทรัลลาดพร้าว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2553 อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ พร้อมจัดเสวนาแนวทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ โดยมีรศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต(มสด.) กล่าวว่าโดยส่วนตัวไม่เคยกังวลว่าไม่มีงบประมาณในการบริหารงานมหาวิทยาลัย แต่คิดว่าถ้ามีสติปัญญา มีความสามารถเชิงวิชาการ เก่งจริงก็จะเป็นที่ยอมรับ และสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยเอง ส่วนเงินไม่พอจะกระทบต่อการเรียนการสอนหรือไม่นั้น หากมีเงินไม่พอก็ควรลดจำนวนนักศึกษา ส่วนอาจารย์ที่เหลือก็ไปช่วยทำงานด้านอื่นที่ตนเองไม่ได้เรียนมาก็ได้ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเก่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรียนมา แต่ให้ใช้ความรู้ความสามารถประยุกต์ให้เกิดประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย และควรกำหนดวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย เป้าหมาย เลือกคนที่จะมาเป็นอธิการบดีให้เหมาะสม ไม่ใช่ให้อธิการบดีมาเป็นผู้กำหนดมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาล สำนักงบประมาณไม่มีแต้มต่อให้มหาวิทยาลัยไม่ว่าจะกลุ่มใด ทุกกลุ่มต่างถูกประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน สิ่งที่มหาวิทยาลัยทั้ง162แห่ง แข่งขันกัน หรือสู้กันจึงเป็นไปเพื่อให้มีชีวิตรอด โดยการมีชีวิตรอดต้องขึ้นอยู่กับเทคนิค และการพัฒนาของแต่ละสถาบัน โดยมหาวิทยาลัยต้องกำหนดอัตลักษณ์ว่าเก่งตรงไหน มีนโยบายอะไรที่โดดเด่น เป็นจุดขายได้ และเก่งด้านนั้นจริงหรือไม่ ถ้าเก่งจริงก็ไม่ต้องไปกลัวอยู่ได้สบาย รวมทั้งอย่ามัวเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยรัฐเดิมหรือร้องขอรอแต่จะให้คนเข้ามาช่วย ต้องเริ่มช่วยตัวเองก่อน ส่วนการเป็นม.ในกำกับของรัฐ อาจารย์ ผู้บริหาร ควรมีมุมมอง ขั้นตอนการดำเนินงานว่าจะทำอะไร และควรปูพื้นฐานของคนในองค์กรทั้งหมดรับรู้เรื่องนี้

รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี กล่าวว่ามทร.ทั้ง 9 แห่งมีความพยายามผลิตนักศึกษา บุคลากรตามโจทย์ที่สังคมกำหนด และตอบสนองความต้องการของรัฐบาลในการเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลิตบัณฑิตนักปฎิบัติที่สามารถทำงานได้จริง แต่ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาการดำเนินงาน โดยเฉพาะขาดแคลนบุคลากรในทุกด้าน งบประมาณไม่เพียงพอ มีจำนวนนักศึกษามาก อาจารย์น้อย งบวิจัยน้อย ที่ผ่านมามทร.ก็พยายามดำเนินการจัดการเรียนการสอน พัฒนานักศึกษา มีบัณฑิตจบออกไปมีงานทำตรงสาขาวิชาชีพ 80% มีการส่งเสริมการทำงานวิจัยที่ไม่ใช่เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่เป็นงานวิจัยที่สร้างมูลคาเพิ่มให้ชุมชน สถานประกอบการ การพัฒนามหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ จึงควรมีการแก้ปัญหาเรื่องบุคลากร ทรัพยากรที่มีจำดกัด เพราะไม่เช่นนั้นม.กลุ่มใหม่คงพัฒนาไม่ได้

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ กล่าวว่า มรภ.และมทร.ถูกกำหนดให้เป็นเด็กพิการตั้งแต่เกิด เนื่องจากในช่วงการจัดตั้งมรภ.และมทร.เป็นช่วงที่รัฐบาลจำกัดอัตราข้าราชการ พร้อมกำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ จึงเกิดปัญหาว่าเราจะพัฒนาเด็กพิการให้เป็นเด็กที่มีความเป็นเลิศได้อย่างไร เพราะมรภ.ไม่ได้รับอัตราข้าราชการ แต่ตนคิดว่าอธิการบดีมรภ.และมทร.เป็นผู้บริหารที่มีความสามารถ เพราะทำให้เด็กจบการศึกษาจากมรภ.และมทร.ได้ท่ามกลางการจำกัดของทรัพยากร

นายมีชัย กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบงบประมาณปี 2554 ที่ม.รัฐกลุ่มเก่า 22 แห่งได้รับจำนวน 47,036 ล้านบาท เฉลี่ยแห่งละ 2,138 ล้านบาท นักศึกษารวม 450,000 คน เฉลี่ย 103,312 บาทต่อคน โดยม.นครพนม ได้รับน้อยที่สุดคือ 488 ล้านบาท ส่วนม.มหิดล ได้รับสูงสุด 10,166 ล้านบาท งบฯวิจัยได้รับรวม 1,765 ล้านบาท เฉลี่ยแห่งละ 80.2 ล้านบาท โดย ม.วลัยลักษณ์ ได้งบฯวิจัยน้อยที่สุดคือ 3.4 ล้านบาท ม.เกษตรศาสตร์ ได้มากที่สุด 349 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงบฯที่มรภ.ทั้ง 40 แห่งได้รับ รวม 10,795 ล้านบาท เฉลี่ยแห่งละ 269 ล้านบาท นักศึกษาจำนวน 400,000 คน เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัว 26,987 บาทต่อคน โดย มรภ.กาฬสินธุ์ ได้รับต่ำที่สุด 91 ล้านบาท มรภ.สวนดุสิต ได้รับสูงสุดคือ 487 ล้านบาท ทั้งนี้งบฯที่มรภ.ได้รับคิดเป็น 1 ใน 5 ของม.รัฐกลุ่มเก่าได้รับ นอกจากนี้เด็กที่เข้ามรภ.ก็คือเด็กไม่เก่ง ต้องขวนขวาย ดังนั้นอาจารย์ราชภัฎจะต้องใช้พลังในการสอนเด็กกลุ่มนี้มากกว่าเด็กเก่งที่เข้าม.รัฐกลุ่มเก่า ตนอยากย้ำว่ามรภ.เก่งที่ผลิตคนออกมาจนจบได้

นายมีชัย กล่าวอีกว่าส่วนสถานภาพของมหาวิทยาลัย รัฐบาลกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องเป็นม.กำกับรัฐ ซึ่งต้องตั้งคำถามกับรัฐด้วยว่า เตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยหรือไม่ ส่วนบัณฑิตที่จบจากมรภ. ต้องการเข้าสู่อาชีพครูเป็นอันดับแรก เมื่อไม่ได้จึงไปประกอบอาชีพอื่น ต่างกับบัณฑิตจากม.รัฐกลุ่มเก่า ต้องการทำงานอื่นก่อน เมื่อไม่มีทางเลือกแล้วจึงมาเป็นครู และเมื่อมองครูประถม จะเห็นว่าเราโอนครูประถมให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล การสอบบรรจุของอบต. ต้องอาศัยการวิ่งเต้น เส้นสาย สิ่งที่น่าห่วงใยคือ คนที่มาเรียนครูกับมรภ.ก็คือคนที่เข้ามหาวิทยาลัยกลุ่มเก่าไม่ได้ เมื่อจบแล้วยังไม่ได้ใช้ความสามารถในการสอบบรรจุแต่ใช้เส้นสาย แล้วเด็กประถมจะได้ครูอย่างไรมาสอน

“การศึกษาคือการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด การที่บอกว่ารัฐไม่มีเงินนั้นไม่เป็นความจริง เพราะรัฐมีเงินเหลือเฟือ แต่อยู่ที่ว่ารัฐจะทำหรือไม่เท่านั้น เช่น รัฐลงทุนเป็นแสนล้านหรือหลายหมื่นล้าน สร้างระบบขนส่งมวลชนให้คนกรุงเทพฯ ตั้งกองทุนประกันสังคม ตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สร้างศูนย์ราชการ ดังนั้นหากรัฐจะทำรัฐก็จะหาเงินมาได้แน่นอน ผมเชื่อในศักยภาพของเจ้าหน้าที่สำนักงบฯและการคลังของประเทศ”นายมีชัย กล่าว

http://www.komchadluek.net/detail/20101214/82735/มีชัยติงรัฐบาลลงทุนการศึกษาน้อยราชภัฎราชมงคลพิการตั้งแต่เกิด.html

จากคุณ : หมาป่าดำ
เขียนเมื่อ : 15 ธ.ค. 53 00:21:27




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com