ขออนุญาตแก้ คคห. ๖ เล็กน้อยนะครับ
"สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)" ครับ ไม่ใช่ "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (โต)"
จาก ความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงค้างไว้ ๕ ตอน
"... เรื่องสร้างพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์นั้น ก็เริ่มปั้นหุ่น
มาแต่ปีมะเส็ง การสร้างพระบรมรูปไม่เคยมีประเพณีมาแต่ก่อน แต่โบราณ
รูปที่สร้างเป็นเจดีย์วัตถุสำหรับสักการบูชาสร้างแต่พระพุทธรูป และเทวรูป
หรือรูปพระสงฆ์ซึ่งมีผู้นับถือมาก แม้จะสร้างพระรูปเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระ
เกียรติพระเจ้าแผ่นดินก็สร้างเป็นพระพุทธรูปดังเช่นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
กับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หรือมิฉะนั้นก็สร้างเป็นรูปพระอิศวรหรือพระนารายณ์ ยังมีอยู่ในเมือง
เขมรหลายองค์ ที่จะสร้างพระรูปพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปมนุษย์แต่โบราณ
หาทำไม่ อะไรเป็นต้นเหตุให้ทิ้งตำราเดิม เวลาแต่งหนังสือนี้หมดตัวผู้รู้
เสียแล้ว นึกเสียดายที่ไม่ได้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อยังมีโอกาส
ที่จะรู้ได้ จึงได้แต่สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ คือเมื่อในรัชกาลที่ ๔
ได้พระรูปพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศเข้ามาหลายองค์ เป็นพระรูปหล่อ
เช่นที่เอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ กับพระมเหสีถวายมาเป็นบรรณาการบ้าง
เป็นพระรูปปั้นระบายสีเช่นที่ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานบ้าง ความนิยม
คงจะเริ่มเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงมีผู้ส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์พระบาทสม
เด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (องค์ที่ทรงพระมาลาสก๊อต) ไปให้ทำเป็นรูป
หล่อที่ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ช่างปั้นฝรั่งเศลเป็นผู้ปั้น ได้เห็นแต่ฉายา
ลักษณ์ จึงคิดประดิษฐ์พระรูปโฉมตามคาดคะเน แล้วหล่อด้วยปูนปลาส
เตอร์ขนาดสูงราวครึ่งเมตร ส่งเข้ามาถวายทอดพระเนตรก่อน พระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร เห็นพระบรมรูปที่ฝรั่งทำผิด
เพี้ยนพระลักษณะมากนัก จึงให้บอกเลิกแล้วดำรัสสั่งให้ช่างไทย (จะเป็น
ใครสืบไม่ได้ความ แต่เป็นช่างปั้นฝีมือเยี่ยมอยู่ในเวลานั้น) ปั้นพระบรมรูป
ขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ให้ทำเป็นอย่างพระบรมรูประบายสีขนาดเท่าพระองค์
แต่การปั้นยังไม่ทันแล้วก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทำต่อมาจนสำเร็จ เมื่อมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ขึ้นเช่นนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่าควรจะสร้างพระบรม
รูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์เป็นพระรูปหล่อขนาดเท่าพระองค์ขึ้น
ไว้เป็นที่สักการบูชาเฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายท่านผู้ใหญ่ในราชการแผ่นดินก็
เห็นชอบด้วย เพราะมีแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสร้างพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สนอง
พระเดชพระคุณสมเด็จพระบุรพการีมหาราชเป็นเยี่ยงอย่าง และพระบาท
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มสร้างรูปมนุษย์มาแล้ว สันนิษฐาน
ว่ามูลเหตุที่สร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์ เห็นจะเป็นเช่นว่ามา การ
สร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์นั้น โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ
อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวย
การ เมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะได้แน่แต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะ
มีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เป็นหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจาก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้อง
อาศัยไต่ถามผู้ที่ได้เคยเห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้
ไขไปแต่แรกจนแล้ว ก็ในเวลานั้นผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศ
หล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้
เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ ๔ คน คือ พระ
องค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพุฒา
จารย์ (โต) วัดระฆังองค์ ๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน ๑ กับ
เจ้าพระยาธรรมาฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน ๑ ปั้นพระรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อ
เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ในพระที่
นั่งดุสิตมหาปราสาทในชั้นแรก ..."
เท่าที่ทราบ ร. ๑ กับ ร. ๓ ทรงมีพระรูปโฉมคล้ายกัน เพียงแต่ ร. ๓ มีพระวรกายใหญ่กว่า
การปั้น จึงสามารถใช้พระบรมรูป ร. ๓ เป็นหลัก (เพราะมีคนทันเห็นพระองค์อยู่มาก)
แล้วให้ผู้ที่เกิดทัน ร. ๑ คอยบอกเพื่อปรับแก้
ส่วนสูงนั้น ทราบได้จากพระพุทธรูปฉลองพระองค์
ในปัจจุบัน ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
จะมีการใช้เทียนที่สูงเท่าพระองค์
และเทียนที่สูงเท่าความยาวรอบพระเศียร
แต่ไม่ทราบว่าในสมัย ร. ๑ - ร. ๓ มีพระราชพิธีที่ใช้เทียนลักษณะนี้หรือไม่
ถ้ามี ก็จะสามารถทราบพระสัณฐานของพระองค์ได้มากขึ้น
แก้ไขเมื่อ 23 ธ.ค. 53 11:28:51