หากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์และจากความทรงจำในการเรียนประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ข่าวในพระราชสำนักน่าจะถูกกำหนดให้เป็น "หน้าที่บังคับ" ของสถานีโทรทัศน์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ครับ โดยกำหนดการออกอากาศในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ของทุกวัน เพราะในยุคนั้น เวลาดังกล่าวถือเป็นเวลาที่ทุกคนกลับบ้านหมดแล้วครับ (และในสมัยเมื่อห้าสิบปีก่อน เวลาดังกล่าวสำหรับคนกรุงเทพถือว่า "ดึก" แล้วครับ ซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่เวลาดึกในความคิดของคนกรุงจะอยู่ที่ประมาณหลังสี่ทุ่มเป็นต้นไปครับ)
สาเหตุที่ผมคิดแบบนั้น เนื่องจาก
ประการแรก สถานีโทรทัศน์ที่เป็น "ฟรีทีวี" เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2493 คือ "สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่องสี่ บางขุนพรหม" ซึ่งตรงกับสมัยจอมพลป. เป็นนายกฯ ครั้งที่สอง และหากดูจากบริบททางการเมืองในช่วงนั้น จะพบว่า แม้ว่าคณะรัฐประหารที่นำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ จะมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม แต่ทว่าตัวของจอมพลป. เองแต่เดิมท่านเป็นคนที่ "ไม่เอาเจ้า" อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากในช่วงปลายทศวรรษที่ 2490 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกแล้ว ด้วยความที่จอมพลสฤษดิ์เข้าหา "สถาบันฯ" เพื่อเป็นฐานอำนาจทางการเมือง และสร้างความนิยมแข่งบารมีกับจอมพลป. ก็ยิ่งทำให้จอมพลป. เกิดปฏิกิริยา "แอนตี้" สถาบันฯ อย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากในช่วงปลายทศวรรษ ตัวของท่านจอมพลในฐานะนายกฯขณะนั้น ได้ "ตัดงบประมาณ" การเสด็จพระราชดำเนินในต่างจังหวัดของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ หลังจากที่พระองค์ทั้งสองเสด็จประพาสอีสาน แล้วประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นอกจากนั้นการจัดงานฉลองพุทธศตวรรษที่ 25 ในปี 2500 จากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจอมพลป. และในหลวง เป็นเหตุให้ในหลวงงดเสด็จงานในคราวนั้น
จากเหตุการณ์ที่ปรากฏ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จอมพลป. คิดที่จะเสนอข่าวในราชสำนัก เพราะหากทำเช่นนั้นจริง เท่ากับเป็นการประกาศพระเกียรติคุณซึ่งจะเป็น "โทษ" แก่ตัวท่านจอมพลเอง และสถานะของ "เจ้า" ก่อนทศวรรษ 2500 ก็เพิ่งฟื้นตัวเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากในช่วงต้นทศวรรษที่ 2490 บทบาทของในหลวงในฐานะพระมหากษัตริย์จะอยู่ในวงแคบๆเท่านั้น เช่น การทรงดนตรี อส. หรือการเสด็จประพาสแก่งกระจาน หรือหัวหินเท่านั้นครับ ซึ่งจะต่างจากหลังปี 2500 ลงมาแล้วที่การเสด็จประพาสต่างจังหวัดมีมากขึ้นจากนโยบายการฟื้นฟูสถาบันฯ ของจอมพลสฤษดิ์
ประการที่สอง เมื่อกลับมามองแนวคิดทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ จะเห็นว่า ด้วยวาท กรรมแบบราชาชาตินิยมที่สฤษดิ์นำเอามาใช้ภายใต้รูปโฉมที่เรียกว่า "การปกครองแบบไทย" นั้น สฤษดิ์ให้ความสำคัญกับสถาบันฯ เป็นอย่างมากนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2490 ตัวอย่างเช่น การเข้าถวายรายงานเหตุการณ์การรัฐประหารแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือการเปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน มาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมให้ในหลวงได้เสด็จประพาสต่างจังหวัดทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และราษฎรให้ใกล้ชิดมากขึ้น และวาทกรรมชุดนี้ได้ไหลเวียน สืบทอดกลายเป็นแนวคิดหลักทางการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นข่าวราชสำนักน่าจะเริ่มออกอากาศตามฟรีทีวีอย่างเป็นทางการในช่วงหลัง 2500 แล้วครับ
ปล. เสิร์ชตามเว็บไม่เจอเหมือนกันครับ ที่พิมพ์มานี่ใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ล้วนๆครับ :D
จากคุณ |
:
ภารตยุทธ (ภารตยุทธ)
|
เขียนเมื่อ |
:
27 ธ.ค. 53 16:50:50
|
|
|
|