Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บทความจาก นิติภูมิ นวรัตน์ "โลกขาดคนงานระดับกลาง ไทยต้องเลิกสังคมบ้าปริญญา เร่งปฏิวัติอาชีว" ติดต่อทีมงาน

เยอรมนี

โรงเรียนมัธยมต้นเยอรมนีมี 4 สาย คือ 1. สายทั่วไป 2. สายกลาง 3. สายสามัญ และ 4. สายผสมพวกเรียนสายทั่วไปหวังว่าเมื่ออายุครบ 18 ปีเมื่อใด พวกตนจะรีบมุ่งเข้าสู่อาชีพ นักเรียนมัธยมต้นของเยอรมนี 75% เลือกเรียนในโรงเรียนสายนี้

ผู้จบมัธยมต้นสายทั่วไปส่วนใหญ่จะไปสมัครเป็นช่างฝึกหัด หรือ trainee ในสถานประกอบการ เพื่อฝึกทำงานจากอาชีพจริง 3-4 วันต่อสัปดาห์ และสถานประกอบการจะส่งไปเรียนภาคทฤษฎีในโรงเรียนอาชีวศึกษาในบริเวณใกล้ๆ อีกสัปดาห์ละ 1-2 วัน เมื่อจบครบ 3 ปี + อายุถึง 18 ปี ก็สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวได้

พวกเรียนสายกลางส่วนใหญ่ก็จะไปต่อวิทยาลัยอาชีวศึกษา โดยเรียนแบบเต็มเวลา ดังที่ภาษาเยอรมันเรียกว่า Fachoberschule หรือ FO

พวกเลือกโรงเรียนสายสามัญ เพราะต้องการไปต่อมหาวิทยาลัย

ญี่ปุ่น

โรงเรียนมัธยมปลายญี่ปุ่นมี 3 สาย 1. สายสามัญ 2. สายอาชีพ และ 3. สายประสม สายอาชีพเรียนด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พณิชยกรรม คหกรรม ประมง และการพยาบาล นักเรียนญี่ปุ่นผู้อยากประกอบอาชีพไวๆ จะเข้าวิทยาลัยเทคนิค หรือวิทยาลัยชั้นต้น

ญี่ปุ่นเน้นให้เยาวชนเข้าอบรมวิชาชีพในวิทยาลัยฝึกอาชีพเฉพาะทาง และโรงเรียนฝึกอบรมวิชาชีพ + ให้สถานประกอบการมีศูนย์ฝึกคนงานของตัวเอง

เกาหลีใต้

รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดให้สาธารณรัฐของตนเป็น Edutopia หรือ a Utopia of Education คือ รัฐอุดมคติทางด้านการศึกษา เป็นรัฐสวัสดิการทางการศึกษา มนุษย์เกาหลีใต้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน ทุกเวลา ทุกสถานที่ โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าเงื่อนไขทางด้านการทำงาน หรือเงื่อนไขการดำรงชีวิต

ผู้นำเกาหลีใต้ให้ความสำคัญด้านการศึกษามาเป็นอันดับ 1 รัฐมนตรีผู้ดูแลด้านนี้ต้องเป็นนักการเมืองและนักบริหารมือ 1 ของประเทศ กลุ่มมนุษย์ที่สำคัญอันยิ่งยวดก็คือสมาชิก PCER : คณะกรรมาธิการแห่งประธานาธิบดีเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ทุกตรอกซอกหลืบแห่งสมองของคนพวกนี้ ทุกเวลานาทีกระดิกพลิกคิดแต่ว่าจะสร้างระบบการศึกษาใหม่ยังไงเพื่อให้ทันโลกยุคสารสนเทศและโลกาภิวัตน์

พวก PCER ให้ความสำคัญกับการเรียนอาชีวะมาก เพราะนั่นหมายถึงการมอบอาชีพให้ประชาชนคนเกาหลีใต้ทั้งประเทศ ถึงขนาดประกาศปฏิรูปปรับโครงสร้างระบบการศึกษาระดับอาชีวะให้ทุกคนสามารถเรียนอาชีวศึกษาได้ตลอดเวลาที่ต้องการ

อาชีวศึกษาเป็นวิชาเลือกในชั้นมัธยมต้น เกาหลีใต้ไม่ยอมให้คนไม่มีความสามารถเข้าสู่อาชีพ ผู้เรียนต้องผ่านการทดสอบเพื่อรับวุฒิบัตรทางเทคนิคแห่งชาติ ที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี

สิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศชัดว่าสาธารณรัฐของตนเป็น Thinking Schools, Learning Nation ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับศักยภาพการเรียนรู้ของคนในชาติ

อาชีวศึกษาสิงคโปร์จัดหลักสูตรตามความต้องการของรัฐบาลและของเอกชน มีประกาศนียบัตรทักษะอาชีพ National Technical Certificate (NTC) รับรอง และมีประกาศนียบัตรเสริมอีกหลายอย่าง เพื่อรับรองการพัฒนาคนสิงคโปร์ที่มีความสามารถด้านอาชีพ เช่น CoC, ITC ฯลฯ รัฐจัดตั้งกองทุน SDF : Skills Development Fund หรือกองทุนพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่ออบรมช่างฝึกหัด มีระบบคูปองการฝึกอบรมทักษะ เป็นคูปองให้เปล่าในลักษณะ National Training Award มีการให้ทุนในขณะลาไปฝึกอบรม แถมยังมีกฎหมายการจัดเก็บภาษีเพื่อการฝึกอบรมอาชีพ

คนที่ไม่ได้มุ่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจะได้รับ "ทุนสร้างมนุษย์"  จากรัฐบาล เมื่อมีความสามารถถึงขนาด ก็มีประกาศนียบัตรวิชาชีพประเภท BEST, WISE, CF, MOST, TIME, ACC, ITC, CT, BS, NAS รับรองมาตรฐาน

ไทย

ชาติรัฐสำคัญในโลกนี้จะมีการกำหนดเรื่องการแบ่งงานกันทำ หรือ division of labor บางคนทำงานวิชาการ จำนวนหนึ่งเป็นช่างฝีมือระดับกลาง ฯลฯ

ทว่าทุกวันนี้ ไทยมีโครงสร้างคุณภาพของพลเมืองบิดเบี้ยว  หัวโตกว่าร่างกาย เยาวชนคนไทยส่วนใหญ่มุ่งเรียนกันแต่ ชั้นปริญญาในมหาวิทยาลัย จบไปเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพส่วนน้อย ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ของแท้ และมีจำนวนไม่น้อยที่ตกงาน

แทนที่ระบบการศึกษาของไทยจะมุ่งให้ เยาวชนคนส่วนใหญ่เรียนอาชีวศึกษา เพื่อจบออกมาทำงาน กลับมุ่งไปที่ปริญญาตรีทางสังคมศาสตร์ ประเภทรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ จนบัณฑิตด้านนี้ล้นตลาด

ทั้งที่ในขณะนี้ประเทศของเราขาดแรงงานระดับกลาง

ผู้จบชั้นมัธยมต้นเข้าเรียนอาชีวศึกษาลดลงไปปีละถึงหนึ่งแสนคน

ส่วนผู้จบ ปวช. ที่ควรจะไปต่อ ปวส. ก็ลดลงไป ปีละประมาณห้าหมื่น

สังคมบ้าปริญญา

สังคมไทยที่ติดค่านิยมในใบปริญญา ครอบครัวไหนไม่มีรูปบุตรหลานในชุดครุยประดับไว้ในห้องรับแขก ผู้คนจะประณามหยามหมิ่นว่าครอบครัวนั้นล้มเหลวในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ทว่าในหลายประเทศ เช่น ในยุโรปตะวันออก การศึกษาชั้นปริญญาตรี โท และเอก ไม่มีพิธีรับปริญญา ผู้จบการศึกษาไปหยิบใบปริญญาจากโต๊ะครูหน้าห้องเรียนเอาเอง บัณฑิตต่างชาติจำนวนไม่น้อยรับปริญญาจากสถานทูตซึ่งมหาวิทยาลัย ส่งตามมาให้ภายหลัง บัณฑิตรัสเซียไม่มีชุดครุย ความสำคัญของการศึกษาอยู่ที่ความรู้ของแท้ ไม่มีการเอาชุดครุยและใบปริญญามาโอ้อวดแข่งขันประชันกัน

ห่วงค่าหัว

โรงเรียนมัธยมต้นของไทยสนับสนุนให้นักเรียนเรียนต่อชั้น ม.4-6 เพราะมีผลต่อค่าหัวนักเรียนที่รัฐจัดให้แก่สถานศึกษา รัฐบาลให้เงินสนับสนุนตามรายหัว ถ้ามีนักเรียนมาก ก็จ่ายเงินให้จำนวนมาก ครูบาอาจารย์จึงไม่อยากให้นักเรียนไปเรียนต่อในวิทยาลัยอาชีวศึกษา

ปวส.เรียนอีก 2 ปี ต้องได้ปริญญาตรี

นักเรียนผู้จบมัธยม 3 ในอดีตเรียน ปวช. 3 ปี + ปวส. 2 ปี + ปริญญาหลักสูตรต่อเนื่องอีก 2 ปี = ปริญญาตรี

แต่ปัจจุบันเรียน ปวช. 3 ปี + ปวส. 2 ปี + ปริญญาต่อเนื่องต้องใช้เวลา 3 ปี = ปริญญาตรี

นักเรียนมัธยมต้นของไทยจึงหันไปต่อชั้นมัธยม  4  หรือพวกที่จบ ปวช. แทนที่จะต่อ ปวส. ก็ไปเข้ามหาวิทยาลัยเรียนปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี

ปริญญาสายอาชีวะควรสามารถนำไปใช้ทำงานได้เลย ไม่ใช่ปริญญาเลอะเทอะ ที่จบมาแล้วต้องมาฝึกงานใหม่อีกหลายปีกว่าจะใช้ทำงานได้

ขาดครูผู้เชี่ยวชาญ

อาชีวศึกษาของไทยทั้ง 415 สถาบันทั่วประเทศขาดครูเป็นหมื่นคน วันนี้ต้องใช้ครูลูกจ้าง ที่เรียกว่าครูอัตราจ้าง ครูที่จ้างด้วยเงินที่รัฐจัดให้นักเรียนเป็นรายหัวนี่แหละ เงินค่าหัวนักเรียนที่ควรเอาไปใช้พัฒนาการเรียนการสอน เอาไปใช้ซื้อเหล็ก ซื้อน้ำมัน ซื้อซากูไร ใช้ประกอบการสอน ฯลฯ ต้องเจียดเอามาจ้างครู ภาคปฏิบัติของอาชีวศึกษาไทยจึงไม่เต็มร้อย

ไปเยือนสถาบันอาชีวศึกษาบางแห่ง ผู้บริหารบรรยายให้ฟังว่า สถาบัน ของเรามีครูอัตราจ้าง 50% บางแห่ง 80% อันนี้มีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ เมื่อพูดกันไปปากต่อปากว่าครูของที่นี่ไม่เก่งนะ ยังสอนซ่อมรถยนต์ ไม่ได้ทั้งคัน ผู้ปกครองจึงไม่อยากให้บุตรหลานมาเรียน

ยกพวกตีกัน

ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะบางแห่งขยัน และมีวิสัยทัศน์ ก็จะจัดให้นักศึกษาของตนไปฝึกงานในสถานประกอบการ ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกภาคปฏิบัติ

ถ้าผู้บริหารสถานศึกษาไหนไม่กระตือรือร้น  นักศึกษาก็ไม่มีอะไรทำ?

บ้างก็ชักชวนกันขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวข้างนอก บั้นปลายท้ายที่สุดก็ไปทะเลาะ เบาะแว้งกับนักเลง ที่เป็นเช่นนี้เพราะวิชาการไม่เข้มแข็ง

ช่างเชื่อมโลหะต้องการมาก

นิติภูมิของท่านผู้อ่านเดินทางไปต่างประเทศทุกเดือน บางเดือนไปหลายครั้ง ยังได้ฟังผู้ประกอบการในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่อยากได้ช่างไทย ซึ่งเคยได้สร้างชื่อเสียงเรียงนามดีเด่นดังไว้มากมายในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างก่อสร้าง และช่างเชื่อมโลหะ แม้แต่ในเมืองไทยเอง เราคงจะเคยเห็นประกาศรับสมัครช่างเชื่อม มีเท่าไรรับหมด เงินเดือนก็แพง แต่ปรากฏว่าไม่มีค่อยมีนักศึกษาสนใจเรียนด้านนี้ เพราะสถานศึกษาอาชีวะของไทยไม่มีห้องฝึกปฏิบัติแผนกช่างเชื่อมอย่างสมบูรณ์ ไหนจะแสงไฟฟ้า ไหนจะแก๊สและควัน การป้องกันเรื่องเซฟตี้ความปลอดภัยยังไม่สมบูรณ์ ไม่ได้มาตรฐาน ยังมีปัญหาต่อสุขภาพของผู้เรียน พ่อแม่ก็ไม่อยากจะให้ลูกไปเรียน

ครู=บล็อก, บล็อกต้องคม ศิษย์จึงจะคมตาม

นักศึกษาอาชีวะจำนวนไม่น้อยเรียนสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ทว่าครูอาจารย์ของอาชีวะที่สอนด้านนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จบการโรงแรมและการท่องเที่ยวมาโดยเฉพาะ แถมยังไม่มีประสบการณ์ตรง ผู้บริหารสถานศึกษาต้องแปลงครูคหกรรมศาสตร์ ครูเย็บปักถักร้อย ครูที่สอนเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม ฯลฯ มาสอนทางด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว

เมื่อไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ ครูผู้สอนก็สอนได้ทั้งไม่ไกล ไม่กว้าง และไม่ลึก ผู้เรียนก็เรียนด้วยความเบื่อหน่าย ไร้ประโยชน์ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรไปจากสถาบัน การเรียนรู้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่น่าเชื่อถือ การศึกษาทางด้านอาชีวะก็ลดความเป็นที่นิยมลงไปอีก

อาชีวศึกษาไทย ไม่สนใจเกษตรกรรม

ไทยเป็นประเทศเด่นดังทางเกษตรกรรม บริษัทด้านการเกษตรกรรมของไทยก็ก้าวไกลไปจนสุดขอบฟ้า อย่างบริษัทซีพีขยับขยายกระจายสาขาออกไปในมากมายหลายประเทศ ได้รับความเชื่อถือมาก ทว่าสถาบันอาชีวศึกษาทางเกษตรกรรมของไทยกลับไม่มีใครอยากเรียน

เฉียดไปเห็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรีที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯแล้วเสียดาย มีเนื้อที่เป็นพันไร่ ทว่ามีนักศึกษาเพียงไม่กี่ร้อย พื้นฐานด้านการศึกษาทางเกษตรของไทยแทบจะไม่ได้ประสิทธิภาพ ไม่มีคุณภาพ ต่อไปในอนาคต ผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะเป็นเช่นใด

นำบัณฑิตมาต่อยอดเรียนอาชีวะ

มองไปในแผ่นดิน บัณฑิตไทยในด้านสังคมศาสตร์มีเป็นแสนคน จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีงานทำ นอกจากจะต้องปฏิวัติการอาชีวศึกษาไทยอย่างเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลควรจะจัดงบประมาณ และศึกษาหาวิธีนำบัณฑิตตกงานเหล่านั้นมาฝึกอบรมในวิทยาลัยอาชีวศึกษา ในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน จากนั้น ก็ส่งผู้สำเร็จการฝึกอบรมไปทำงานได้ทั้งในและต่างประเทศ

ช่างไทยไปทั่วโลก

หนึ่งในช่องทางรายได้ของบางประเทศมาจากการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม ฯลฯ ทว่ายังไม่มีประเทศใดไหนเลยที่สร้างชื่อให้เป็นที่ประทับใจในด้านการฝีมือเท่าช่างไทย

หากรัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาอาชีวศึกษา มุ่งหวังตั้งใจที่จะผลิตมนุษย์ พันธุ์ไทยให้เก่งทางด้านนี้ของแท้ และจัดให้มีผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวะไปทำงานต่างประเทศ ตั้งเป้าให้ได้ปีละ 1 แสนคน เงินเดือนช่างระดับกลางได้ไม่ต่ำกว่าสี่ซ้าห้าหมื่นอยู่แล้ว ไทยก็น่าจะได้เม็ดเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาทต่อปี

การอาชีวศึกษาของไทยจะกลายเป็นการศึกษาที่จับต้องได้ ยิงปืนนัดเดียว นกตกลงมาทั้งฝูง จบไปแล้วมีงานทำ ยิ่งถ้าได้ทำในต่างประเทศ ก็จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของสถาบัน ได้ไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เงินมาดูแลครอบครัว รัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหาคนว่างงาน ฯลฯ

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะมีผู้ปกครองและนักเรียนชั้นมัธยมแย่งแข่งกันไปเข้าเรียนอาชีวศึกษา สถาบันอาชีวศึกษาก็จะมีสถานะสูงกว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ผลิตบัณฑิตขยะออกมาสร้างภาระให้สังคม มหาวิทยาลัยประเภทจ่ายครบจบแน่ แต่ตกงาน ก็จะหายไป ความบ้าปริญญาของคนไทยส่วนหนึ่งซึ่งสนแต่กระดาษโดยปราศจากความรู้ความสามารถก็จะหมดหดไป

ได้เวลาปฏิวัติอาชีวศึกษาแล้วครับ  ท่านรัฐบาล!


นิติภูมิ นวรัตน์

http://www.thairath.co.th/content/oversea/138073

จากคุณ : หมาป่าดำ
เขียนเมื่อ : วันปีใหม่ 54 12:14:37




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com