 |
หากมองในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์กับการเมืองที่มองผ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ บังเอิญตอนนี้กำลังอ่านงานวิจัยของ ศ.สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง "คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรมความเป็นไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชุดงานวิจัยเรื่อง "โครงการประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๕๓๕" โดยได้รับเงินอุดหนุนจาก สกว.ครับ
เรื่องหลายชีวิต หากมองบริบททางการเมืองในช่วงที่วรรณกรรมเล่มนี้ถือกำเนิดขึ้นมา คือช่วงต้นทศวรรษที่ ๒๔๙๐ ซึ่งมีเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนั้นคือ "สงครามเย็น" ทำให้อุดมการณ์ทางความคิดระหว่างฝ่ายซ้ายเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อปัญญาชนไทย ประกอบกับตัวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองในขณะนั้นแปรสภาพจาก "แอนตี้เจ้า" มาเป็น "นิยมเจ้า" อย่างเต็มตัวโดยเขียนนวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ออกมา ดังนั้น เพื่อต้องการ "ตอบโต้" แนวคิดฝ่ายซ้ายที่กำลังถ่าโถมเข้ามาในยุคนั้น ท่านชายคึกฤทธิ์จึง "ประดิษฐ์" ความเป็นไทย (Thainess) ขึ้นมา โดยเน้นไปที่บทบาทของกษัตริย์ และพุทธศาสนา ซึ่งเรื่องหลายชีวิตเป็นภาพตัวแทนความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนา และสี่แผ่นดินเป็นภาพตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ของท่านชายครับ
ประเด็นที่ท่านชายคึกฤทธิ์ต้องการนำเสนอนั้นก็คือ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ตัวละครทั้งหลายในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ลอย ละม่อม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะ "การกระทำ" หรือ "กรรม" ของแต่ละคน ไม่ใช้เกิดขึ้นเพราะ "ปัญหาโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เสมอภาค" ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเขียนฝ่ายซ้ายในยุคนั้นกำลังชูประเด็นอยู่ครับ
และอาจารย์สายชลยังกล่าวอีกว่า "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์พยายามทำให้ "คนไทย" มองสังคมและวัฒนธรรมไทยตรงกันข้ามกับที่นักเขียน "ฝ่ายซ้าย หรือ "ฝ่ายก้าวหน้า" เสนอ นั่นก็คือความไม่เสมอภาคทางสังคมไม่เป็นปัญหาใดๆ กลับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อคนในสังคมมีความสัมพันธ์กันโดยรู้ "ที่สูงที่ต่ำ" ภายใต้กรอบแบบศีลธรรมของพระพุทธศาสนาแบบโลกียธรรม" ประเด็นนี้จะกลายเป็นที่มาของภาวะ "ความเงียบทางการเมือง" ในสังคมไทย
เพราะฉะนั้นการตั้งฉากให้ฉากสุดท้ายเป็น "เรือล่ม" นั้นก็ถือเป็นการหาคำตอบของท่านชายที่ว่า "ทำไมคนที่กระทำความดี กับความชั่วจึงได้รับผลตอบแทนอย่างเดียวกัน คือจมน้ำตายด้วยกัน และในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ คนทำชั่วบางคน (เช่น ลอยที่เป็นโจร) กลับมีความสุข แต่คนที่ทำความดี (เช่น ละม่อม) กลับมีความทุกข์" ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนในช่วงหลังสงครามโลกที่ชีวิตของคนไทยผกผันเป็นอย่างมาก เช่น ภาวะเงินเฟ้อทำให้ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตประสบความเดือดร้อน แต่พวกที่โกงกินกลับสุขสบาย เป็นต้นครับ
สามารถดูรายละเอียดได้ที่ สายชล สัตยานุรักษ์. คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรมความเป็นไทย เล่ม ๑ ยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม. กรุงเทพ : มติชน, ๒๕๕๐. (ในบทที่ ๓ หัวข้อ การปกครองแบบไทยและพุทธศาสนาครับ)
จากคุณ |
:
ภารตยุทธ (ภารตยุทธ)
|
เขียนเมื่อ |
:
31 ม.ค. 54 17:40:34
|
|
|
|
 |