ผมเคยอ่านหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส เมื่อหลายปีก่อน
พอมาทำงานต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีอะไรทำ เลยหยิบหนังสือจากที่บ้านมาอ่านหลายเล่ม
เมื่อคืนนำหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส มาอ่านอีกครั้ง
ยังรู้สึกเหมือนเดิม กล่าวคือ ค่อนข้าง "เชื่อ" และ "เห็นด้วย" กับบทวิเคราะห์ของท่านพุทธทาส
ในบท -พุทธประวัติ -ประเทศสักกะ และ -ความเป็นอยู่ของพวกศากยะ
อย่างไรก็ตาม ผมตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า ผม "เชื่อ" และ "เห็นด้วย" ง่ายเกินไปรึเปล่า
เพราะผมเองก็ไม่มีความรู้และศึกษาในประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง
อาทิ
-พระเจ้าอุกกากราช (โอกกากราช) ที่เป็นบรรพบุรุษของพวกศากยะ น่าจะครองเมืองสาเกต (อโยธยา) แห่งแคว้นโกศล
-ศากยะ มาจากคำยกย่องของพระเจ้าอุกกากราช ที่เหล่าโอรสธิดา อาอาจสามารถ ตั้งเมืองได้เองและสมรสกันเองเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ ไม่ได้มาจากชื่อป่าไม้สากะ
-แคว้นสักกะ เป็นเมืองขึ้นของแคว้นโกศล - อันนี้มีหลักฐานแน่ชัด เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล่ว น่าเชื่อถือ -
-พวกศากยะ ไม่ได้ปกครองด้วยราชาธิปไตย แต่เป็นสภา (ศากยบริษัท) ประชุมกันที่ สันถาคาร ถึงจะมีประมุข ก็เป็นเพียงประธานในที่ประชุม ไม่มีอำนาจชี้ขาด (เช่นเดียวกับแคว้นวัชชี และพวกมัลละ)
-พวกศากยะ นิยมมีชายา (ศากยะด้วยกัน) องค์เดียว ยกเว้นเป็นบางกรณี เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ ทางนิกายฝ่ายเหนือบางตำราว่ากันว่าไปปราบพวกชาวภูเขา ที่ประชุมในสันถาคาร จึงให้บำเหน็จเป็นพระนางปชาบดีอีกองค์
ฯลฯ
โดยเฉพาะประเด็นที่ท่านพุทธทาส วิเคราะห์ว่า เทวทหะ เป็นนิคมของพวกศากยะ (ตามที่ปรากฏในพระบาลี (พระไตรปิฎก))
กล่าวอย่างคร่าว ๆ คือ หลังจากที่พระเจ้าอุกกากราช ให้โอรส ๔ ธิดา ๕ ออกไปจากเมือง และท่านเหล่านั้นไปตั้งเมืองกบิลพัสดุ
และทำการสมรสกันเอง เพื่อไม่ให้พระชาติระคนกับผู้มีชาติต่ำกว่า แต่พระพี่นางองค์โต ยกไว้
ต่อมา พระพี่นางเป็นโรคเรื้อน จึงถูกนำไปไว้ในป่าไม้กระเบา วันหนึ่งพบเสือโคร่ง ตกใจร้องขึ้น จึงได้พบกับพระเจ้าราม พระเจ้ากรุงพาราณสี ที่เป็นโรคเรื้อน แต่หายเพราะกินพืชในป่า (ไม้กระเบา ว่ารักษาโรคเรื้อนได้)
และได้ทำการสมรสกัน เกิดเป็นโกลิยวงศ์ (โกละ=ไม้กระเบา) ตั้งเมืองรามคาม-หมู่บ้านของพระเจ้าราม (หรือ โกลนคร-เมืองไม้กระเบา หรือ พยัคฆบถ-ทางเสือโคร่ง)
เมื่อมีพระโอรส ก็ให้กลับไปหาพวกศากยะ ได้สมรสกับธิดาเจ้าศากยะ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพวกศากยะ รวมถึงตั้งนิคมขึ้นในแดนของพวกศากยะ คือ เทวทหนิคม
โดยพวกศากยะแห่งเทวทหะ ก็ได้สมรสกันเองกับพวกศากยะมาโดยตลอด
ส่วนที่รามคาม ยังถือเป็น พวกโกลิยะ
ท่านพุทธทาส ได้ศึกษา ค้นคว้า อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา คัมภีร์ทั้งของนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ การค้นคว้าของชาวตะวันตก
ประเด็นที่น่าจะวิเคราะห์ได้ คือ
- ความน่าเชื่อถือของเอกสารหลักฐาน
- บทวิเคราะห์ของท่านพุทธทาส
ไม่ทราบว่ามีท่านได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ และมีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ