 |
บางตอนจากหนังสือ
พระพิฆเนศสมัยใหม่
ใน ๓๐๐-๔๐๐ ปีที่ผ่านมา ทางอินเดียคิดพระพิฆเนศปางใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น "ทารกะคณบดี" ( ทารกนอนแป, ออกคลาน) , "สายาสนคณบดี"(นอนเล่น), "สังคีตคณบดี" (เล่นดนตรี) และ "ยาตราคณบดี" (เดินทางแสวงบุญ)
ปางเหล่านี้ไม่ค่อยมีตำนานรองรับ แต่ก็น่ารัก จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในอินเดีย แต่ไม่เคยปรากฏในศิลปะอุษาคเนย์แต่โบราณ
นอกจากนี้ ชาวอินเดียสมัยใหม่ยังหลงใหลกับศิลปะ "เหมือนจริง" (Realistic) ของตะวันตก จึงเริ่มผลิตเทวรูปพระพิฆเนศที่ "เหมือนจริง" จนคนที่มีรสนิยมสูงมักติว่า "ฉูดฉาดหรูหราบาดตา"
แต่ประชาชนโดยทั่วไปนิยมชมชอบและศรัทธาเทวรูปแบบใหม่นี้ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งหรูหราที่เขาปรารถนาในชีวิตแร้นแค้นยากไร้, ซึ่งก็น่าจะเป็นธุระของพระพิฆเนศที่จะบำบัดแก้ไขให้ดีขึ้น
จนทุกวันนี้พระพิฆเนศยังเป็นที่พึ่งของชนทุกชั้น บริษัทมหาเศรษฐีถ่ายภาพยนตร์ในกรุงมุมไบกราบไหว้บูชาเทวรูปหรูดังกล่าวมาแล้ว โรงแรมใหญ่ยังจ้างช่างสลักทำเทวรูปไว้ต้อนรับแขกในห้องโถง
ชาวบ้านเมื่อแล้งก็ช่วยกันจัดแห่พระพิฆเนศขอฝน
วิทยาลัยนาฏศิลป์ตั้งเทวรูปที่โคนต้นไทรข้างทางเข้า, ครูและศิษย์จะได้ไหว้เมื่อเดินทางเข้า-ออก
และหนุ่มสาวที่มีอะไรในใจต่อกันก็มักแอบมาขอพรท่าน ก่อนกล้าเผยให้ผู้ใหญ่รู้
ประเทศสยามได้สืบทอดศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ตลอดจนถึงปัจจุบัน, ทั้งในพิธีกรรมและความเชื่อบางอย่างของชาวบ้านและในสถาบันพราหมณ์พระราชพิธี
ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ (เสาชิงช้า) ซึ่งรัชกาลที่ ๑ โปรดให้สร้างขึ้นมาสำหรับพระนคร, ก็ยังรักษาเทวรูปเก่าแก่สำคัญ ๆ และประกอบพิธีกรรมตามประเพณีโบราณ พร้อมทั้งขับเพลงสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้าต่าง ๆ ทั้งภาษาทมิฬและภาษาสันสกฤต
ในสถานพระพิฆเนศ (โบสถ์กลาง) ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศที่สง่างามหลายยุคหลายสมัย
ในรัชกาลที่ ๑ ถึง ๔ โบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนครนี้ได้ผลิต "ตำราภาพเทวรูปฯ" จำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย ภาพพระพิฆเนศหลายปาง ซึ่งน่าจะคัดลอกจากตำราเก่าสมัยอยุธยาเป็นส่วนใหญ่
ตำราภาพสมัยรัตนโกสินทร์เหล่านี้ปัจจุบันรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
"วัดแขก" ถนนสีลม สร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพ่อค้าชาวอินเดียใต้ มีชื่อเป็นภาษาทมิฬว่า "ติรุมาริยัมมันโกยิล" และภาษาไทยว่า "วัดพระศรีอุมาเทวี"
ปราสาทประธานเป็นที่สถิตของพระนางอุมา ปราสาทซ้าย-ขวาประดิษฐานพระบุตรของพระนาง, คือขันธกุมารและพระพิฆเนศ
"วัดแขก" ถนนสีลมเป็นตัวอย่างเทวสถานฮินดูแบบอินเดียใต้ ที่น่าสนใจคือ ผู้อุปถัมภ์วัดนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยชนชั้นกลางในเมือง, ไม่ใช่ชาวทมิฬเสียแล้ว
ชาวทมิฬที่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนใหญ่กลายเป็นคนไทย-พุทธจนจับไม่ถูก, เว้นแต่ผิวคล้ำเนียนงาม, นามสกุล และการรังเกียจไม่ยอมกินเนื้อโค
ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้เกิดภายในระยะเวลาไม่ถึง ๑๐๐ ปี
ในรัชกาลที่ ๖ มีการประดิษฐ์หัวโขนใหม่, ขึ้นหัวพระพิฆเนศที่งามสง่าเหมือนของเดิม, ทั้งๆ ที่ไม่มี "ของเดิม" เหลือให้เห็น
ด้านสถาบันทางศิลปวัฒนธรรมของไทยมีหลายแห่งเลือกพระพิฆเนศเป็นสัญลักษณ์ เช่น ตรากรมศิลปากร และเทวรูปหน้าโรงละครแห่งชาติ
ฝ่ายเอกชนนั้น, ในยุคสมัยใหม่ที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วน่าสะพรึงกลัว, มีหลายคนอยากย้อนกลับไปยึดเหนี่ยวกับวัฒนธรรมอดีต
บางท่านคิดอาศัยพระพิฆเนศเป็นสื่อ เช่น นายทุนบางคนสร้างเทวรูปพระพิฆเนศให้เฝ้าประตูทางเข้าบริษัท, โรงงาน หรือ หมู่บ้าน
เทวรูปเหล่านี้มีลักษณะย้อนหลังสู่อดีต, ไม่มีการประดิษฐ์คิดใหม่ ดังนี้เป็นที่น่าเชื่อว่าพระพิฆเนศยังมีพลังในการเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน
แล้วพระพิฆเนศยังมีทางเป็นสื่อต่อถึงอนาคตได้หรือไม่?
พระพิฆเนศกับอนาคต
ตำนานว่า ครั้นเมื่อฤๅษีวยาสะจะร่ายมหากาพย์มหาภารตะ, ท่านได้พระพิฆเนศมาเป็นอาลักษณ์
พระพิฆเนศหักงาข้างหนึ่งใช้เป็นเหล็กจารแล้วจารมหาภารตะลงใบลานคำต่อคำ จึงนับถือกันว่าเป็นเทพประจำอักษรศาสตร์และนักเรียนมักกราบไหว้ก่อนเข้าสอบ
ในปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ประติมากรชาวลังกาชื่อ ติสสะ รณสิงหะ ได้สร้างรูปสัมฤทธิ์พระพิฆเนศทันสมัย
ท่านนั่งกับคอมพิวเตอร์, ปลายงวงขยับหนูกล (หมายถึง "เม้าส์" คอมพิวเตอร์ ) ตรงกับมุสิกวาหณะเดิม, ซึ่งไม่น่าจะ "ผิด" หรือ "แปลก" สำหรับเทพที่ใหม่เสมออย่างพระพิฆเนศ
ในเมืองบังกาลอร์ (Silicon Valley ของอินเดีย) พนักงาน "ไอที" มักตั้งเครื่องบูชาถวายพระพิฆเนศก่อนเปิดเครื่องทำงาน
ในสายตาของหลาย ๆ คน, โลกปัจจุบันดู "แปลกแยก" และน่าสะพรึงกลัว
อดีตที่เรารู้จักและไว้ใจได้ดูว่าตายจากหรือแปลกแยกจากชีวิตสมัยใหม่, และอนาคตเป็นแดนมืดมนที่คาดคะเนไม่ได้
พระพิฆเนศไม่ได้ชี้ถึง "ยูโทเปีย", ยุคพระศรีอาริย์ หรือสังคมอันอุดม (ไม่ว่าสังคมนิยมหรือทุนนิยม)
อย่างไรก็ตาม ท่านยังชี้ให้เห็นว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคตล้วนเป็นกระแสเดียวกันที่ไม่ขาดสาย
ทั้งนี้ อาจจะช่วยหลายคนที่เสียดายอดีต "อันดีงาม" และสิ้นหวังกับอนาคต "อันไว้ใจไม่ได้"
ถ้าพระพิฆเนศงาหัก มีข่าวจะบอกมนุษย์สมัยใหม่, ก็คงมีอีกความว่า เราอยู่ในโลกที่บกพร่อง, แต่เป็นโลกเดียวที่มีอยู่, ด้วยความเคารพรัก, ความกรุณา, ความหวังและอารมณ์ขบขันมากเท่าที่เราหามาได้
ทางเลือกก็คือความสิ้นหวังหรือความเพ้อฝันถึงโลกอื่นที่ดีกว่า, ทั้ง ๆ ที่เราไม่มีหลักฐานว่าโลกนั้นมีจริง
เราจึงน่าจะยอมรับโลกที่มีอยู่จริง และช่วยพยุงมันให้ดีขึ้นด้วยความซื่อสัตย์, ด้วยความหวังดีและด้วยปัญญามากเท่าที่เราหามาได้
แก้ไขเมื่อ 25 มี.ค. 54 16:21:03
จากคุณ |
:
เพ็ญชมพู
|
เขียนเมื่อ |
:
25 มี.ค. 54 15:01:04
|
|
|
|
 |