ตอบ คห.ที่ 11 หลักฐานเท่าที่หาได้ทั้งหมดที่ใช้อ้างอิงได้ มีเท่าที่ผมเขียนไว้ครับ
ในเรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงก็มีเท่าที่ผมนำมาบอกเหมือนกัน
ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าพระนามสรรเพชญ์ต่างๆมาจากพระวินิจฉัยของ ร.5 ในหนังสือพระราชกรัณยาซึ่งได้สอบพระนามกับพงศาวดารด้วย เชื่อว่าคนสมัยหลังอาจยึดไปใช้ทั้งๆที่ ร.5 เองก็ไม่ได้ทรงยืนยันว่าใช่ (ผมเองเลยอย่างได้คำยืนยันว่าเอามาจาก ร.5 อย่างที่ผมคิดมั้ย)
จะขอคัดจากพระราชกรัณยานุสรณ์มาลงครับ(สามารถอธิบายได้แค่สรรเพชญ์แต่ไม่ทุกองค์ ส่วนพระบรมราชาก็อธิบายได้แค่พระเจ้าเอกทัศเหมือนที่ผมเขียนมาแล้ว)
หมายเหตุ : พงษาดารมอญคือคำให้การชาวกรุงเก่ากับตำให้การขุนหลวงหาวัด
ที่ ๑๑ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระนามซึ่งเรียกดังนี้ เรียกตามพระนามเดิม ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระราชทานนาม ให้ขึ้นไปครองเมืองพระพิศณุโลกย์ พระนามนั้นในหนังสือต่างๆก็เรียกผิดอยู่ ว่าพระมหาธรรมราชาบ้าง มหาธรรมราชาธิราชบ้าง ให้พงษาวดารมอญเรียกว่าพระสุธรรมราชา แต่ในพระราชพงษาวดารพิศดารมีความว่า จุลศักราช ๙๙๘ ปีมโรงอัฐศก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ผ่านพิภพกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์วงษ์กุรสุรโยดม เปนต้น มีพระนามต่อไปอิกเปนอันมาก ถ้าจะเรียกตามพระนามนี้ ก็จะเห็นว่าเปนที่ให้จำยากฤๅกระไร จึงได้เรียกพระนามเดิม แต่ถ้าโดยว่าจะเรียกตามนามเดิมก็ใช้ได้ ถ้าจะเรียกอย่างพระนามใหม่ ต้องเรียกว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ จึงจะรู้จักว่าสรรเพชญ์องค์ไหน
ที่ ๑๘ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้น ก็เปนพระนามเดิมแต่ยังเสด็จครองเมืองพระพิศณุโกลย์ เวลาได้ราชาภิเศกนั้นจะใช้พระนามเดิมของสมเด็จพระราชบิดาต่อไปทีเดียวฤๅอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ในเวลานั้นมีการรบพุ่งกันมาก ในพระราชพงษาวดารก็หาได้กล่าวถึงการบรมราชาภิเศกไม่ เพราะดังนั้นถ้าจะว่าก็เหมือนหนึ่งคิดเดาเกินไป ด้วยพระนามสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้านี้ปรากฏโด่งดังมาก ถ้าจะเรียกตามพระนามเดิมก็เปนการสมควรอยู่ แต่ถ้าจะเทียบเคียงตามท่านไปน่าแลผู้ไปหลังให้รอบคอบ แลเทียบแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าด้วย ก็จะเห็นลงได้บ้างว่าท่านเห็นจะใช้พระนามสมเด็จพระราชบิดา เปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ ควรนับว่าเปนที่ ๒
ที่ ๑๙ สมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราชนั้น มีความปรากฏในพระราชพงษาวดารว่า ในศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศกนั้น พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสด็จปราบดาภิเศกเสวยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ทรงพระนามสมเด็จพระศรีสรรเพชย์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี เปนต้น ถ้าจะนับเอาต้นพระนามใหม่ ก็เห็นเปนแน่ว่า เปนพระนามคล้ายกับพระราชบิดา ควรนับเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓ ก็นี่แล สมเด็จพระเอกาทศรฐนี้พระนามก็ปรากฏโด่งดังเหมือนสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า ท่านยังเปลี่ยนตามสมเด็จพระราชบิดา จึงได้คาดคเนต่อไปว่า สมเด็จพระนเรศวร ผู้เปนพระเชษฐานั้น ท่างคงใช้พระนามนี้มาก่อนแล้ว พระอนุชาท่านจึงใช้ตามกันต่อมา
ที่ ๒๐ พระศรีเสาวภาคย์ นั้น พระนามเดิม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เมื่อเปนพระเจ้าแผ่นดินนั้น มีปรากฏในพระพงษาวดารว่า ได้ทำการราชาภิเศกแล้วดำรงราชสมบัติอยู่ถึงปีหนึ่งกับสองเดือน ให้ผู้อ่านคเนลองดูบ้างว่าพระศรีเสาภายค์นี้มิใช่ทรงพระเยาว์อยู่ ฤๅบ้านเมืองเปนจลาจลประการใด ก็เรียบร้อยเปนปรกติ จนได้ทำการราชาภิเศกดังนี้ จะตั้งพระนามฤๅไม่ตั้ง ฤาจะใช้เจ้าฟ้าเสาวภาคย์อยู่ตามเดิม ถ้าเห็นว่าจะตั้งพระนาม ก็คงเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์เปนแน่ ถ้าเป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์แล้วต้องนับเปนที่ ๔
ที่ ๒๔ สมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเรียกตามพงษาวดารมอญ แต่ในพระราชพงษาวดารว่าทรงพระนาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง ที่เรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง เพราะท่านทรงสร้างจักรวัติไพยนต์มหาปราสาทอย่าง ๑ อิกเรื่องหนึ่งนั้นมีในพงษาวดารมอญว่าเมื่อได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ท่านทรงสุบินว่าจอมปลวกที่เล่นเมื่อทรงพระเยาว์อยู่นั้น มีปราสาททองอยู่ใต้นั้น จึงเสด็จไปขุด ได้ยินเสียงดังครื้นเครงไปทั้งสิ้น ครั้นขุดลงไปจึงได้ปราสาททองนั้นบรรจุพระบรมธาตุแล้วตั้งไว้ในสรรเพชญ์ปราสาท อยู่มาจนครั้งหลังจึงสมมติพระนามเรียกว่าพระเจ้าปราสาททอง พระนามที่เรียกว่าปราสาททองนั้น ก็เปนคำสามัญ มิใช่จารึกในพระสุพรรณบัตร ถ้าจะคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองนี้ ท่านเปนต้นบรมวงษ์อันหนึ่ง แลเทียบสมเด็จพระนารายน์ซึ่งเปนพระราชโอรส ก็จะเห็นไปได้อิกทางหนึ่งว่า ท่านจะทรงพระนามรามาธิบดี ให้เหมือนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเปนปฐมบรมวงษ์ในกรุงทวาราวดี ถ้าเห็นดังนี้ ควรนับว่าเปนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ ฤๅจะเทียบได้อิกอย่างหนึ่ง แต่เปนเรื่องเกร็ดไป มีคำเล่าว่าท่านเปนพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรฐ ถ้าเปนดังนั้นจริง ท่านจะใช้พระนามตามสมเด็จพระเอกาทศรฐ ว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์บ้างดอกกระมัง ถ้าเปนดังนั้น ก็ต้องเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ (เรื่องที่ว่าพระองค์เป็นโอรสพระเอกาไม่มีหลักฐานรองรับ วันวลิตกล่าวว่าพระองค์เป็นบุตรออกญาศรีธรรมาธิราช-จขกท)ถ้าคำที่พงษาวดารมอญๆเรียกว่ารามาธิเบศร์ ไม่เปนแต่คำยักเรียกให้แปลกแล้วก็เปนรามาธิเบศร์ที่ ๑
ที่ ๒๕ เจ้าฟ้าไชย ไม่มีพระนามปรากฏว่ากระไรเลย ได้ครองราชสมบัติอยู่ก็น้อย จะได้ราชาภิเศก ฤๅไม่ได้ราชาภิเศก ในพระราชพงษาวดารก็ไม่ว่าชัด พงษาวดารมอญตอนนี้ก็หาย ยกเสียเถิด อย่าคิดเลยว่าเปนพระนามว่าอย่างไร คงเปนเจ้าฟ้าไชยไปตามเดิม
ที่ ๒๖ พระศรีสุธรรมราชา ได้เปนเจ้าแผ่นดินอยู่ ๒ เดือนเศษ จะได้ราชาภิเศก ฤๅไม่ได้ราชาภิเศกก็ไม่ทราบ แต่ได้เสด็จเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลวง ถ้าราชาภิเศกก็เห็นจะใช้พระนามเหมือนสมเด็จพระเชษฐาธิราช แต่อย่านับเลย ด้วยมามีเหตุปลายมือไม่ดี ให้คงเปนพระศรีสุธรรมราชาตามเดิม พราะไม่มีปรากฏในพระราชพงษาวดาร
ที่ ๒๙ สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี พระนามนี้ในพงษาวดารมอญว่ามีนิมิตร เมื่อราชาภิเศก แสงสงว่างไปทั้งปราสาท จึงถวายพระนามว่าพระสุริเยนทราธิบดี แต่ที่จริงนั้น เห็นท่านจะยกย่องปู่ท่านมาก น่ากลัวจะออกจากสุรศักดิ์นั้นเอง เพราะถ้าจะคอยนิมิตรเวลาราชาภิเศกแล้วจึงจารึกพระสุพรรณบัตรเห็นจะไม่ทัน ไม่มาแต่อื่น เปนคำเรียกให้เพราะขึ้นสมควรกับที่เปนพระเจ้าแผ่นดิน เพราะในพระราชพงษาวดารนั้น ไม่ปรากฏว่าพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นอย่างไร คนทั้งปวงก็เรียกเสียว่าพระพุทธเจ้าเสือ เพราะพระองค์ท่านดุร้ายหยาบช้านัก ราษฎรก็เรียกเอาตามที่กลัวฤๅที่ชังตามชอบใจ แต่พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น เห็นจะใช้นามอย่างเช่นพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง จะว่าด้วยเรื่องพระนามนี้ต่อไปข้างหลัง
ที่ ๓๐ สมเด็จพระภูมินทรมหาราชา พระนามนี้มาจากพงษาวดารมอญอิก ว่าเรียกพระภูมินทราชาก็เรียก พระบรรยงก์รัตนาศน์ก็เรียก แต่พระภูมินทราชานั้นเห็นจะถวายเอาเอง ในพระราชพงษาวดารเรียกว่าพระพุทธเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อธิบายว่าท่านเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ข้างท้ายสระ ก็ตรงกันกับความที่เรียกว่าพระบรรยงก์รัตนาศน์ ไนยหนึ่งเรียกว่าขุนหลวงทรงปลา จะเปนด้วยท่านทรงโปรดตกเบ็ด แลโปรดปลาตะเพียนฤๅกระไร แต่พระนามซึ่งจารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นไม่ปรากฏ ยังได้พบพบเห็นเปนพยานอยู่แห่งเดียวแต่วัดปากโมกข์ มีอักษรจารึกในแผ่นศิลาว่า ลุศักราช ๑๐๘๗ ฤๅ ๘๘ จำไม่ใคร่ถนัด สมเด็จพระสรรเพชญ์มีสร้อยพระนามออกไปอีกมาก ได้ทรงสถาปนาก่อกู้วัดปากโมกข์นี้ไว้มิให้เปนอันตรายด้วยอุทกไภยดังนี้เปนต้น ควรเห็นว่า พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นเปน สมเด็จพระสรรเพชญ์เปนแน่ไม่ต้องสงไสย
ก็พระพุทธเจ้าเสือนั้น ท่านจะทรงพระนามสรรเพชญ์ด้วยดอกกระมัง พระราชโอรสจึงได้ทรงพระนามดังนี้ เพราะไม่มีปรากฏในพระราชพงษาวดารเลย จะจารึกกันต่อๆมาไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ถ้าเปนดังนั้น จะคิดต่อขึ้นไปอิกชั้นหนึ่ง ว่าพระเจ้าปราสาททองนั้น ท่านก็เปนพระไอยกาของพระพุทธเจ้าเสือ ท่านจะมิใช้พระนามสรรเพชญ์ดังนี้ก่อนฤๅ จึงได้ใช้กันมา แต่พระนารายน์นั้นท่านไม่ยอมตาม เพราะพระนามเดิมของท่านเปนพระนารายน์อยู่แล้ว เปนรามาธิบดีถูกต้องกว่า ก็ถ้าจะเถียงอิกคำหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสือท่านจะเปนรามาธิบดี ตามพระราชบิดามาแต่ก่อน ไม่ได้เปนนารายน์ก็มี แต่เห็นว่าถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าเสือเปนรามาธิบดีแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่หัวท้ายสระคงเปนรามาธิบดีด้วยเปนแน่ นี่ท่านกลับเปนสรรเพชญ์ไปอย่างหนึ่ง ชรอยพระนามรามาธิบดีนั้น จะยกไว้เฉภาะพระนารายน์ดังเช่นว่ามาแล้ว ถ้าเห็นดังนี้ พระเจ้าปราสาททองต้องเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ พระพุทธเจ้าเสือเปนสรรเพชญ์ที่ ๖ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนี้เปนสรรเพชญ์ที่ ๗
สรุป : สุดท้ายก็เป็นแค่การบอกว่าลูกน่าจะใช้ตามพ่อ พี่น่าจะใช้ตามน้อง ร.5 ท่านแค่วินิจฉัย แต่ว่าคนสมัยหลังคงเอาไปใช้โดยปราศจากหลักฐานยืนยัน
แถมคงคิดว่าเจ้าฟ้าชัย พระศรีสุธรรมราชาก็วงศ์เดียวกันคงใช้ชื่อสรรเพชญ์เหมือนกันเลยกลายเป็นที่ 6 ที่ 7 พระเจ้าเสือ พระเจ้าท้ายสระเลยกลายเป็นที่ 8 ที่ 9
เพียงแต่ยังไม่แน่ใจว่าใช้อย่างที่เขียนมาหรือเปล่าเลยอย่างได้คำอธิบายอย่างอื่นด้วยครับ
แก้ไขเมื่อ 22 เม.ย. 54 12:56:17