 |
ไม่รู้ จขกท อ่านหรือยัง ถ้ายังจะได้ทราบไว้เป็นข้อมูลครับ
Law firm
หลายคนคงเคยได้ยินว่าทำงาน law firm ได้เงินเดือนสูง ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยได้ยินประโยคแบบที่ว่านี้ และก็ด้วยคำว่า "เงิน" นั่นเอง ที่เป็นแรงจูงใจให้คนที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะทำอาชีพอะไรอย่างผม เริ่มสนใจและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนี้ ผมเริ่มต้นจากการหาข้อมูลทาง internet และได้มีโอกาสฝึกงานใน law firm แห่งหนึ่งที่เป็นสาขาจากประทศอเมริกา และปัจจุบันนี้ผมก็ทำงานอยู่ที่ law firm แห่งหนึ่งที่เป็นสาขาจากต่างประเทศ จากประสบการณ์ของผม ก็อยากบอกเล่าให้เพื่อนนิติได้รู้กันแบบคร่าวๆเกี่ยวกับ law firm
law firm เรียกให้มันง่ายๆก็คือบริษัทที่ปรึกษากฎหมายนั่นแหละครับ ในบริษัทก็จะมีนักกฎหมายทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บุคคล บริษัทต่างๆ รวมถึงธนาคาร ที่เป็นลูกความของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทางธุรกิจ มีทั้งธุรกิจแบบเอกชนกับเอกชน กับธุรกิจแบบเอกชนทำกับรัฐบาล เช่น สัมปทาน ครับ คนที่ทำงาน law firm ไม่จำเป็นต้องมีตั๋วทนายก็ได้ครับ ยกเว้นแต่คนที่อยู่แผนกเกี่ยวกับคดีความทางศาลก็จำเป็นต้องมีตั๋วทนายครับ ก็ตามเนื้อหางานอ่ะนะครับ
law firm มี 2 แบบ ครับ คือ international law firm คือ law firm ที่เป็นสาขาของ law firm ต่างประเทศอ่ะครับ ตัวอย่างเช่น Linklaters มีแม่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ กับ local law firm คือ law firm ไทยครับ ไม่มีแม่อยู่ในต่างประเทศ แต่แค่อาจจะมีที่ปรึกษากฎหมายต่างชาติทำงานอยู่ด้วย เท่านั้นครับ
บางคนอาจจะมีข้อสงสัยว่า law firm ต่างกับ สำนักงานทนายความ ยังไง? ผมก็ตอบไม่ได้ละเอียดหรอกนะครับเพราะผมไม่เคยทำงานที่สำนักงานทนายความ แต่เท่าที่เคยสอบถามจากเพื่อนๆและพี่ๆมาอาจสรุปได้แบบคร่าวๆคือ สำนักงานทนายความจะเน้นการให้บริการทางด้านคดีความ การว่าความในศาล ส่วน law firm จะเน้นการให้บริการเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การทำสัญญาทางธุรกิจ เน้นการติดต่อสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษครับ เอกสารส่วนใหญ่ก็จะใช้เป็นภาษาอังกฤษครับ
ใน law firm แต่ละที่ ก็จะมีการแบ่งสาขาเป็นการภายใน โดยทั่วไปก็จะมีการแบ่งเป็นแผนก เช่น
- corporate ดูแลเรื่องเกี่ยวกับบริษัท เช่น การควบรวมบริษัท, หุ้น, การประชุมของบริษัท, ความรับผิดของกรรมการ เป็นต้น
- banking & finance ดูแลเรื่องการเงิน เช่น กู้ยืมเงิน รวมถึงหลักประกันต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงิน เป็นต้น
- capital markets ดูแลเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- IP (intellectual property) ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
- litigation ดูแลเรื่องคดีความทางศาล ทั้งแพ่ง อาญา ปกครอง
- bankruptcy & rehabilitation ดูแลเรื่องคดีล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ (บางที่ก็รวมอยู่ในแผนกเดียวกับ litigation)
- tax ดูแลเรื่องภาษีทุกประเภท
นี่เป็นแค่ตัวอย่างนะครับ ไม่ใช่ว่าทุก law firm จะมีครบทุกแผนก มันขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแต่ละที่ครับ บางที่ก็มีแผนกยิบย่อยมากกว่านี้ บางที่ก็มีแค่ 2-3 แผนก นักกฎหมายแต่ละคนใน banking & finance ก็จะถูก fix อยู่ในแผนกใดแผนกหนึ่งเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งแผนก แต่ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติแล้วแผนกต่างๆมันไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาดหรอกครับ เค้าแบ่งแผนกไว้ก็แค่เพื่อแบ่งความรับผิดชอบและให้มันดูเป็นสัดส่วนเท่านั้นแหละครับ เช่น ถ้าบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะทำการกู้ยืมเงิน ก็เกี่ยวข้องกับทั้งแผนก banking & finance และ capital markets กรณีแบบนี้จะถูกจัดอยู่ในความรับผิดชอบของแผนก banking & finance เพราะเนื้อหาหลักเป็นเรื่องการกู้ยืมเงิน
เวลาลูกความมาปรึกษา law firm ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการปรึกษาในแนวทางที่ว่า เค้าอยากทำสิ่งนี้ เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง ข้อกฎหมายใดที่เค้าต้องปฏิบัติตาม ข้อกฎหมายใดที่เค้าต้องระวัง หรือมีประเด็นอื่นใดนอกจากข้อกฎหมายที่จะกระทบต่อสิ่งที่เค้ากำลังจะทำ หรืออาจเป็นการปรึกษาว่าเค้าจะเข้าทำสัญญานี้ ให้เราช่วยพิจารณาว่าข้อสัญญาไหนที่เป็นประโยชน์กับเค้า ข้อสัญญาไหนที่จะทำให้เค้าเสียประโยชน์ บางครั้งก็ถามคำถามเหมือนเราเป็นพระเจ้า ต้องตอบได้ทุกอย่าง ซึ่งบางคำถามมันก็หาคำตอบไม่ได้จริงๆ เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เค้าก็จะให้เราตอบคำถามแบบฟันธงว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เราก็ต้องพยายามหาทางอธิบายให้เค้าเข้าใจอ่ะครับ >> นี่เป็นแค่ตัวอย่างเนื้อหาของงานโดยส่วนใหญ่นะครับ จะเห็นได้ว่าคำถามของลูกความดูช่างกว้างเสียเหลือเกิน บางคนอาจจะคิดว่าข้อสอบในมหาวิทยาลัยที่เราเจอนั้นมีประเด็นเยอะแล้ว แต่ไม่เท่าชีวิตการทำงานหรอกครับ ผมบอกได้เลยว่าน้อยครั้งมากที่ผมจะสามารถตอบคำถามลูกความได้แค่จากความรู้ที่ผมเรียนมาในมหาวิทยาลัย คำถามที่ผมจะสามารถตอบได้ทันทีก็เป็นแค่คำถามที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายหลัก ๆ เท่านั้นแหละครับ ในทางปฏิบัติและในโลกธุรกิจทุกวันนี้ มีพระราชบัญญัติ และกฎ, ระเบียบอื่นๆอีกมากมายที่ผมต้องคอยค้นคว้าเพื่อมาตอบคำถามของลูกความ บางพระราชบัญญัติตั้งแต่เกิดมาผมก็เพิ่งจะมาได้ยินชื่อเอาตอนทำงานนี่แหละครับ แล้วก็ยังต้องมีการติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลหรือเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนั้นๆ ซึ่งก็เจอปัญหาอีกล่ะครับว่าบางครั้งเจ้าหน้าที่แทบไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ตอบคำถามไม่ได้ ที่หนักกว่านั้นเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียวกันตอบไม่เหมือนกันด้วยครับ ปวดหัวเลย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในการทำงาน นอกจากความรู้ทางกฎหมายที่เรียนมาแล้ว เราต้องฝึกฝนทักษะในการค้นคว้าด้วยครับ ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะ law firm หรอกนะครับ อาชีพอื่นก็จำเป็นต้องใช้ทักษะนี้เหมือนกัน
เป็นไงครับ เนื้อหางานของ law firm ดูหลากหลายใช่มั้ยล่ะครับ ความหลากหลายตรงนี้ก็ทำให้บางคนสนุกไปกับงานเพราะได้ทำงานไม่ค่อยซ้ำ และรู้สึกท้าทายทุกครั้งที่ได้ทำงานแปลกใหม่ แต่ในทางกลับกันก็มีบางคนที่เครียดกับความหลากหลายนี้ เพราะบางเรื่องก็เป็นอะไรที่ใหม่มาก ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ไม่มีใครสามารถให้คำแนะนำได้ เท่ากับความรับผิดชอบอันหนักอึ้งต้องตกอยู่ที่เราคนเดียว ถ้าเกิดเราเข้าใจเรื่องนั้นผิดและให้คำแนะนำลูกความผิดไปแม้แต่นิดเดียว ก็อาจนำมาซึ่งความซวยอันใหญ่หลวงได้เลยล่ะครับ
ที่นี้มาถึงเรื่องที่อาจจะดึงดูดใจสำหรับหลายๆคน รวมถึงผมด้วยตามที่ได้บอกไว้ตอนต้น... "เงิน" ครับ ถามว่าทำงาน law firm ได้เงินเดือนเยอะจริงมั้ย? ผมตอบได้เลยว่า จริงครับ ถ้าเทียบกับผู้ที่ประกอบวิชาชีพกฎหมายอื่นๆ โดยมีอายุงานเท่ากัน อาจจะนับได้ว่า law firm ได้เงินเดือนสูงที่สุดครับ แต่ก็อย่างว่านะครับ เงินเดือนสูง งานก็หนัก ถ้าไม่งั้น law firm ก็คงจะเจ๊งไปแล้วแหละครับ งานหนักที่ว่าคือบางทีต้องทำงานถึงตี 3 ตี 4 บางทีก็ต้องมาทำงานวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ บางทีผมนัดกับเพื่อนๆไปกินข้าวเย็นด้วยกันตอน 1 ทุ่ม ก็ดันมีงานด่วนเข้าตอน 5 โมงกว่า ต้องรีบทำให้เสร็จ ก็ต้องเบี้ยวนัดเพื่อนไปเลย มีรุ่นพี่ของผมหลายคนที่เลิกกับแฟนเพราะสาเหตุเรื่องงานเข้านี่แหละครับ บางช่วงก็งานเข้าหนักติดต่อกันเป็นเดือนหรือหลายเดือน บางช่วงก็ว่าง มันไม่แน่นอนครับ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกความ ลูกความอยากได้อะไรเมื่อไหร่ เราก็ต้องทำให้เค้าตามกำหนด ลูกความเป็นเหมือนพระเจ้าอ่ะครับ ไม่มีลูกความเราก็ไม่มีรายได้ ลูกความบางคนก็เหมือนนรกส่งมาเกิด มันให้ทำบางอย่างให้ ซึ่งไอ้สิ่งนี้กว่ามันจะใช้ก็อีก 3 เดือน แต่มันสั่งให้เราต้องทำให้เสร็จวันนี้ เดี๋ยวนี้ เหมือนคนโรคจิตอ่ะครับ แบบมรึงจะรีบอะไรนักหนาวะ จะเอาไปขึ้นหิ้งบูชาไว้รึไง ซึ่งเราทำได้แค่...อดทน ครับ ทำได้แค่ด่ามันแบบไม่ให้มันรู้ เพราะถ้าเราเกิดทำอะไรให้มันไม่พอใจ มันก็จะไปบอกต่อ ๆ กันอ่ะครับว่าที่นี่ไม่ดีอย่างงู้น อย่างงี้ ชื่อเสียงของบริษัทเราก็จะเสีย แล้วก็จะไม่ค่อยมีคนอยากให้เราเป็นที่ปรึกษา ขี้ปากคนนี่น่ากลัวยิ่งกว่าอะไรเลยครับ
เป็นไงครับ กว่าจะได้เงินเดือนสูงๆมา ไม่ง่ายเลยครับ ช่วงไหนที่งานเข้าก็ต้องเหนื่อย เครียด ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ไม่มีเวลาให้เพื่อน ไม่มีเวลาให้แฟน เวลานอนยังแทบไม่ค่อยจะมีเลยครับ ได้เงินเยอะแต่ก็แทบไม่มีเวลาใช้เงินอ่ะครับ แล้วถ้ายิ่งตำแหน่งสูงๆยิ่งหนักเลยครับ
พูดถึงตำแหน่งใน law firm มันจะดูประหลาดนะครับ มันจะแบ่งเป็นเริ่มจากตำแหน่งเล็กไปตำแหน่งใหญ่สุด คือ junior associate >> associate >> senior associate >> partner หรือบางที่ก็แบ่งเป็น trainee solicitor (=junior associate) >> associate >> counsel (= senior associate) >> partner สรุปง่ายๆคือมันเป็นแค่ชื่อเรียกตำแหน่งอ่ะครับ ความต่างของแต่ละตำแหน่งคือเรื่องอายุงาน/ประสบการณ์ แล้วก็เงินเดือน ตำแหน่งสูงเงินเดือนก็สูงตามครับ ตำแหน่งสูงสุดของคนทำงาน law firm จะเรียกว่า Partner ครับ ค่าตัวแพงที่สุด ได้เงินเดือนเยอะที่สุด บางที่ก็เป็นหลักล้านเลยครับ
ผมจะอธิบายวิธีการหารายได้ของ law firm ก่อนละกันนะครับ ก็คือ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือบ้างก็เรียกว่า ทนายความ แต่ละคน จะมีค่าตัวต่อชั่วโมงครับ เช่น นาย ก. มีค่าตัว 1,500 บาท ต่อชั่วโมง อัตราค่าตัวนี้ก็ขึ้นอยู่กับ law firm แต่ละที่จะกำหนดครับ อัตราของแต่ละที่จะไม่เท่ากัน มันก็เป็นเรื่องทางการตลาดอ่ะครับ อารมณ์เหมือนของถูกกับของแพง ลูกความก็ต้องเลือกและหาข้อมูลเอาเองว่าที่ไหนแพง ที่ไหนถูก แล้วคุณภาพการทำงานของแต่ละที่เป็นยังไง ซึ่ง law firm แต่ละที่ก็จะพยายาม present ว่าตัวเองดี ที่ที่ราคาแพงก็จะบอกว่าแพงเพราะมีคุณภาพ ที่ที่ราคาถูกก็ไม่น้อยหน้า ก็จะบอกว่าตัวเองถูกและดี
ต่อนะครับ เรื่องค่าตัว ที่ปรึกษากฎหมายทุกคนต้องบันทึกเวลาการทำงานในแต่ละวันครับ ว่าทำงานให้กับลูกความคนไหนไปบ้าง เป็นเวลาเท่าไหร่ โดยเค้าจะมีรหัสของลูกความไว้ให้บันทึกครับ เพื่อจะได้เอาไว้คำนวณค่าตัวทั้งหมดสำหรับงานนั้นๆ แล้วเรียกเก็บเงินจากลูกความ งาน ๆ นึงส่วนใหญ่ใช้ที่ปรึกษากฎหมายหลายคนครับ แต่ละคนค่าตัวไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับตำแหน่ง แต่ละคนก็บักทึกเวลาเอาไว้แล้วค่อยเอามารวมคำนวณตอนจบงานอ่ะครับ บางงานก็เราก็จะคิดเงินเป็นรายชั่วโมงตามความเป็นจริงเลย แต่บางงานเราก็จะคิดแบบเหมาคือไม่ว่าที่ปรึกษากฎหมายจะใช้เวลาทำงานไปกี่ชั่วโมง ก็จะคิดเงินแบบ fixed rate เช่น เหมา 100,000 บาทต่องาน เงินทั้งหมดที่เก็บจากลูกความนี่เอาเข้าบริษัทครับ ไม่ใช่เข้าตัวเรา ไม่งั้นผมคงรวยเละไปแล้วแหละครับ ^^ เงินที่ว่านี้เค้าก็จะมีการแบ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายภายในบริษัท แล้วก็เอามาจ่ายเป็นเงินเดือนของเรา ที่เหลือก็เก็บสะสมไว้ พอถึงสิ้นปีงบประมาณของบริษัทก็เอามาคำนวณแจกเป็นโบนัส ซึ่งวิธีการคำนวณโบนัสของแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันครับ ทำให้บางที่ได้โบนัสเยอะ บางที่ได้โบนัสน้อยครับ
ผมทำงาน law firm มาแล้วเกือบ 2 ปี ถามว่าผมรู้สึกยังไงกับอาชีพนี้น่ะหรอ.. บางทีก็สนุกนะครับ ได้ทำอะไรที่ท้าทาย แต่บางเรื่องก็ไม่ได้รู้สึกท้าทายแต่รู้สึกเครียดแทน และบางทีก็เบื่อกับงานที่ซ้ำซากจำเจ รู้สึกทรมาน ผมอายุงานยังน้อย ยังเป็นเด็กในที่ทำงาน รุ่นพี่อยากใช้งานอะไรผมก็ต้องทำไม่ว่าจะอยากหรือไม่อยาก เลือกไม่ได้ ผมไม่ได้มีความสุขหรือมีความทุกข์ในการทำงาน law firm เลยครับ แค่รู้สึกว่าทำไปวันๆเพราะไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีอาชีพในฝันครับ ผมเคยพยายามหาวิธีการคิดที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุขกับงานที่ทำ แต่มันก็ไม่สำเร็จครับ เพราะใจผมไม่ได้มีความสุข สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับน้องๆและเพื่อนๆที่สนใจงาน law firm คือ "อย่าเลือกทำ law firm เพราะเงิน" เลยนะครับ เพราะมันต้องแลกกับอะไรหลายๆอย่างกว่าที่คุณจะได้เงินมา ผมอยากให้ทุกคนพยายามค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วเลือกทำอาชีพที่จะทำให้คุณมีความสุขไปกับมัน เพราะถ้าคุณมีความสุขกับสิ่งที่คุณทำ คุณย่อมจะทำมันได้ดี และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ ถ้าผมย้อนเวลากลับไปได้ ผมอยากทำอะไรที่ผมทำแล้วมีความสุขครับ ไม่ใช่ทำไปวันๆแบบนี้
ผมหวังว่าที่เขียนมาน่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆและเพื่อนๆ ไม่มากก็น้อยนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยหรืออยากทราบข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็ทิ้งเป็น comment ไว้ได้นะครับ แล้วผมจะมาตอบครับ
ที่มาจาก: ชีวิตก่อนความตาย...จบกฎหมายแล้วไปไหน ตอนที่ 4 ไปทำงาน ตอนย่อย 4.3 "Law firm" โดย Law on real เมื่อ 26 เมษายน 2011 เวลา 19:32
จากคุณ |
:
โจโฉ (joechou)
|
เขียนเมื่อ |
:
9 พ.ค. 54 18:10:27
|
|
|
|
 |