เรื่องขุนรองปลัดชูใน พระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน
พระเจ้ามางลองเสวยราชย์มาได้ ๘ ปี ทราบเหตุว่ากรุงศรีอยุธยาผลัดแผ่นดินใหม่ จึ่งทรงพระดำริหาเหตุซึ่งจะมาทำแก่กรุง พอมีผู้นำความอันหนึ่งขึ้นทูลว่า กำปั่นฝรั่งข้างอังวะใช้ใบ ลมซัดไปเข้าเมืองตะนาวศรีที่ถ้ำมริตบูรี นายกำปั่นชื่ออรัมณี ข้างกรุงศรีอยุธยาเอานายกำปั่นของเราไว้ พระเจ้ามางลองทราบเหตุ ดีพระทัยนัก จึ่งดำรัสให้เกณฑ์พลสกรรจ์ลำเครื่อง ๙๐,๐๐๐ ช้าง ๒๐๐ ม้า ๑,๐๐๐ สำเร็จแล้วเสด็จดำเนินทัพออกจากกรุงอังวะ ทัพหน้าเข้าตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ๆ มีบอกเข้ามา กราบทูล
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุแล้ว กำชับให้คนเร็ว ม้าใช้รีบออกไปสืบราชการดู มากราบทูลว่า พม่ายกมาทางมะริด ๑ ทางท่ากระดาน ๑ ทางเชียงใหม่ ๑ ที่จริงนั้นพม่ายกมาแต่ข้างมะริดทางเดียว พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบแน่ ก็ตกพระทัย ด้วยมิได้มีวิจารณ์พระเชาวญาณ ก็พาลเขลาทรงเชื่อเอาทั้ง ๓ ทาง จึ่ง ดำรัสสั่งให้พระยาพิชัยสงครามนามชื่อปลัดชู พระจุฬา หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรคัณฑ์ ๕ คน คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทานข้างมะริดก่อน แล้วเกณฑ์พระยาราชสงคราม พระยาไชยา พระยามหาเสนา พระยาเพชรพิชัย พระยาสมบัติธิบาล พระยาตะนาว พระยาพัทลุง หลวงกระ ๘ คนนี้คุมพลคนละ ๑,๐๐๐ แล้วให้พระยาอภัยราชาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพยกไปรับทางเชียงใหม่ แล้วเกณฑ์ทิพเสนา ราชามาตย์ ทิพรักษา ราชาบาล วิสูตโยธามาตย์ ราชโยธาเทพ หลวงศักดิ์ หลวงสิทธิ หลวงฤทธิ หลวงเดช ๑๐ คน คุมพลคนละ ๑,๐๐๐ ให้พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกไปจุกไว้ทางท่ากระดาน ครั้นทรงทราบว่าทางมะริดพม่ายกมามาก ก็ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพหน้า คุมพล ๒๐,๐๐๐ ให้พระยาธรมาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ พลทหาร ๓,๐๐๐ ยกเพิ่มเติมไปตั้ง ณ เมืองกุยบุรี พม่ายกขึ้นมา ตีทัพพระยายมราช ณ แก่งตุ่มแตก แล้วยกแยกไปตีกองปลัดชู ซึ่งตั้งอยู่ตำบลอ่าวขาวริมทะเล* จึ่งแบ่งไพร่ ๕๐๐ ไปช่วยกองปลัดชู รบกันอยู่ประมาณกึ่งวัน กองปลัดชูก็แตกพ่ายมา
ขอให้สังเกตครับว่าขุนรองปลัดชูในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กับที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมให้อารมณ์ต่างกัน
ในฉบับนี้ขุนรองปลัดชูเป็นถึง พระยาพิชัยสงคราม คงเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ใกล้ชิดจึงให้นำทัพไปยันศึกที่เมืองมะริด ไม่ใช่ข้าราชการผู้น้อยนำชาวบ้านอาสาเหมือนในหนังที่เดินเรื่องตามพระราชพงศาวดารที่ชำระขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔