คุณเห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลกหรือไม่?
|
 |
| | | | | เห็นด้วย (4 คน) | | | | ไม่เห็นด้วย (2 คน) | | | จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 6 คน |
ศาลโลกมีคำสั่งให้"ไทย-เขมร"ถอนทหารทั้งคู่ เป็นพื้นที่ปลอดทหาร "กษิต"พอใจบอกเป็นไปตามที่คาดไว้
วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาด้วยมติเสียงข้างมาก 11 ต่อ 5 เสียง ในประเด็นสำคัญที่สุดในการตัดสินคุ้มครองชั่วคราวข้อพิพาทระหว่างไทยกับ กัมพูชาครั้งนี้ คือให้ไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากเขตพื้นที่พิพาท ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารบริเวณปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชาใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานจากกรุงเฮก ว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 15.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคม นายฮิซาชิ โอวาดะ ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อ่านคำสั่งตามที่กัมพูชาร้องขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยถอนทหารไทย ออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร รวมถึงห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใดๆ ในพื้นที่ โดยในส่วนของผู้แทนไทยที่เข้ารับฟังคำสั่งศาลนำโดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่ฝ่ายกัมพูชานำโดยนายฮอ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้แทนรัฐบาลกัมพูชา โดยก่อนที่องค์คณะผู้พิพากษาจะเข้ามาในห้องพิจารณาคดี นายวีรชัยลุกขึ้นจับมือทักทายกับคณะผู้แทนรวมถึงที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายกัมพูชา ทุกคน
จากนั้นนายฮิซาชิ โอวาดะ ประธานศาลโลก ขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งว่า ศาลโลกมีมติเป็นเอกฉันท์ปฏิเสธข้อเสนอของไทยที่ให้มีการจำหน่ายคดีออกจาก สารบบ และเห็นควรออกมาตรการชั่วคราว 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ศาลมีมติ 11 ต่อ 5 เสียง ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารทั้งหมดออกจากเขตพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารตามมาตรการชั่วคราวตามคำสั่งศาล และให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางทหารใดๆ ภายในพื้นที่นี้ นอกจากนี้ เนื่องจากพื้นที่ปราสาทพระวิหารมีการปะทะกันระหว่างสองฝ่ายบ่อยครั้ง และอาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องถอนกองกำลังทหารทั้งหมดที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารออกไป
2.ศาลมีมติ 15 ต่อ 1 เสียงว่า ไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้า-ออกพื้นที่ปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชาใน เรื่องที่มิใช่กิจกรรมทางทหาร โดยไทยกับกัมพูชาต้องร่วมมือกันต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน และอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนเข้าไปในพื้นที่เขตปลอดทหารภายใต้ มาตรการชั่วคราวได้ พร้อมกันนี้ให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการกระตุ้นความขัดแย้งหรือทำให้ความขัดแย้งระหว่างกันขยายตัวบาน ปลายหรือทำให้ยากลำบากแก่การแก้ไขมากยิ่งขึ้นไปอีก
และ 3.ศาลมีมติ 15 ต่อ 1 เสียงให้ทั้งสองฝ่ายต้องรายงานการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ได้สั่งไว้ ข้างต้นจนกว่าศาลจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลโลกใช้เวลาอ่านคำพิพากษาราว 40 นาที หลังศาลอ่านคำสั่งเสร็จแล้ว นายฮอ นัม ฮง เดินออกจากศาลด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ ขณะที่นายวีรชัยเดินเข้าไปหารือกับนายฮอ นัม ฮง และคณะที่ปรึกษากฎหมายของกัมพูชาสักครู่หนึ่ง จากนั้นผู้แทนไทยและกัมพูชาต่างแยกย้ายเข้าไปหารือในที่ห้องประชุมของแต่ละ ฝ่ายเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการหลังจากนี้ ซึ่งรวมถึงการส่งรายละเอียดเกี่ยวกับรายละเอียดคำชี้แจงที่ฝ่ายกัมพูชาขอให้ ศาลตีความคำพิพากษาเพิ่มเติม
นายกษิตให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า พอใจกับผลคำตัดสินในแง่ที่มีการบังคับใช้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลออกมาตรการบังคับกับไทยฝ่ายเดียวคือ ให้ถอนทหารตามแผนที่ 1:200,000 โดยศาลได้กำหนดพื้นที่เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราวเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหาร ที่สำคัญคือเป็นการตอบความประสงค์และท่าทีของไทยที่ยืนยันและต้องการมาตลอด คือฝ่ายกัมพูชาต้องถอนทหารออกจากตัวปราสาท
"คิดว่าเราประสบความสำเร็จ เพราะแนวทางที่ศาลสั่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่เราคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และมาตรการชั่วคราวนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการพิจารณาคดีหลักคือการตีความ เรื่องพื้นที่รอบปราสาท และไม่กระทบกับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของไทย" นายกษิตกล่าว
นายกษิตกล่าวว่า ในส่วนของการถอนทหารต้องพูดคุยผ่านกลไกทวิภาคีที่มีไม่ว่ากรอบคณะกรรมการ ชายแดนทั่วไป (จีบีซี) หรือคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ส่วนที่ศาลบอกให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันผ่านอาเซียนก็ได้มอบหมายให้นางจิต ริยา ปิ่นทอง รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ที่อยู่ระหว่างร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย หารือกับนายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียต่อไปเกี่ยวกับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์ อินโดนีเซียเข้ามาในเขตปลอดทหาร เพราะเข้าใจว่าหลังคำสั่งศาลโซลูชั่นแพคเกจที่เคยหารือกันสามฝ่ายระหว่างไทย กัมพูชา และอินโดนีเซียก็คงหมดความหมายไปโดยปริยาย เพราะต้องเอาคำตัดสินศาลเป็นตัวตั้ง จากนี้ก็ต้องรายงานให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีรับทราบ รวมถึงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แจ้งรายละเอียดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงรับทราบ
ผู้สื่อข่าวถาม ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีรัฐสภา ในเบื้องต้นก็คงจะรายงานให้คณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาทราบเรื่อง ก่อน อย่างไรก็ดีต้องมีการนำเอาแผนที่เขตปลอดทหารตามคำสั่งศาลไปให้ทหารกำหนดจุด ในแผนที่จริงต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งเรื่องมาตรการชั่วคราวถือเป็นแนวโน้มที่ดีกับไทยหรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า "เราต้องเคารพคำตัดสินของศาลโลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติมาตลอด ผมเห็นว่าหากศาลโลกมีคำตัดสินเรื่องการตีความคำว่าพื้นที่รอบปราสาทภายในต้น ปีหน้า รออีกเพียง 5-6 เดือนซึ่งก็ไม่นานเท่าไหร่ เราก็จะได้ความชัดเจน"
ขณะที่นายฮอ นัม ฮง ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า กัมพูชาพอใจกับคำสั่งศาล เพราะเป็นการให้ไทยถอนทหารด้วย ขณะที่คณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนก็เป็นไปตามที่กัมพูชาเรียกร้องต่อ อาเซียนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310994002&grpid=00&catid=&subcatid=
จากคุณ |
:
McLovin
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ก.ค. 54 10:22:54
|
|
|
|