 |
สำหรับคำถามของคุณ deletenumlock นั้น
กรณีที่เลื่อน "หม่อมเจ้า" เป็น "พระองค์เจ้า" ไม่ว่าจะชั้น "พระบรมวงศ์" หรือ "พระอนุวงศ์" มีดังนี้ครับ
ในรัชกาลที่ 1 ทรงเลื่อนพระราชนัดดาทั้งปวง พระโอรส-ธิดา ในสมเด็จพระเจ้าลูก (ยา) เธอ เจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาอิศรสุนทร จาก "หม่อมเจ้า" ขึ้นเป็น "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า"
**หมายเหตุ ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และยกเว้นพระโอรสสามพระองค์ที่ประสูติแต่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด
ทรงเลื่อนพระราชนัดดาทั้งปวง พระโอรส-ธิดา ในสมเด็จพระเจ้าลูก (ยา) เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ที่พระบัณฑูรน้อย จาก "หม่อมเจ้า" ขึ้นเป็น "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า"
ในรัชกาลที่ 3 ทรงเลื่อนพระราชโอรส-ธิดา ทั้งปวงที่ประสูติก่อนทรงได้ราชสมบัติจาก "หม่อมเจ้า" เป็น "พระเจ้าลูก (ยา) เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อนพระโอรส-ธิดา ในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ จาก "หม่อมเจ้า" ขึ้นเป็น "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า"
**หมายเหตุ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ แท้จริงแล้วเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 จึงเป็นพระปิตุลา (อา) ในรัชกาลที่ 3 แต่ธรรมเนียมเดิมนั้น ใช้อายุวัดกันเป็นประมาณ จึงเป็น "พระเจ้าน้องยาเธอ" ธรรมเนียมนี้เลิกไปในรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงพระราชดำริว่าเป็นการถือยศศักดิ์อย่างไม่เข้าท่า
ทรงเลื่อนพระราชนัดดา "หม่อมเจ้าหญิงโสมนัสวัฒนา" พระธิดาในพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขนาณุคุณ เป็น "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนา"
ในรัชกาลที่ 4 ทรงเลื่อนพระราชโอรส สองพระองค์ที่ประสูติก่อนได้ราชสมบัติ จาก "หม่อมเจ้า" เป็น "พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อนพระราชภาติยะ, ภาติกา พระโอรส-ธิดาในพระราชอนุชา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จาก "หม่อมเจ้า" เป็น "พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าหญิงรำเพย" พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 3 เป็น "พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์"
ในรัชกาลที่ 5 ทรงเลื่อนพระราชธิดา สองพระองค์ที่ประสูติก่อนได้ราชสมบัติจาก "หม่อมเจ้าหญิง" เป็น "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อนพระมาตุจฉา "หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย" (พระมารดา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) เป็น "พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
**หมายเหตุ ต่อมาทรงยกทั้งสาย
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าจันทร์" พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 1 เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าอลังการ" ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปาจิณบุรี (สะกดอย่างเก่า) พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรรักษ์ เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าวัฒนา" ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือ เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต" (ทรงผนวช) สภานายกแห่งมหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร" เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อนพระราชภาติยะ, ภาติกา พระโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ซึ่งประสูติแต่หม่อมเอก (คือหม่อมราชวงศ์หญิงสว่าง) และพระโอรส ธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ซึ่งประสูติแต่หม่อมเอก (คือหม่อมแม้น) จาก "หม่อมเจ้า" เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
**หมายเหตุ ในชั้นแรก ทรงเลื่อนเฉพาะพระภาติยะพระองค์ใหญ่ คือหม่อมเจ้านิพัทธ์พิสิฐพงศ์ และหม่อมเจ้าเสฐวงศ์วราวัตร ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และหม่อมเจ้านิพันธ์ภาณุพงศ์ ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ต่อมาจึงทรงเลื่อนทั้งสาย เฉพาะพระราชภาติยะ ถ้ามีบุตร ๆ นั้นเป็น "หม่อมเจ้า" (แม้เป็นพระราชปนัดดา (เหลน))
ส่วนพระโอรส-ธิดาอื่นซึ่งมิได้ประสูติแต่หม่อมเอก ได้ทรงเลื่อนเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ในรัชกาลที่ 6 บางพระองค์ และเลื่อนทั้งสายในรัชกาลที่ 7
ทรงเลื่อนพระภรรยาเจ้า หม่อมเจ้าหญิงบัว, ปิ๋ว และสาย เป็น "พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้า" ทั้งสามพระองค์ พระราชทานพระนามใหม่ (ตามลำดับ) ดังนี้ "อุบลรัตนนารีนาค" "เสาวภาคนารีรัตน์" (พระองค์นี้สถาปนาพระอัฐิ) และ "สายสวลีภิรมย์" และพระราชทานกรมให้แก่พระองค์แรกว่า "กรมขุนอรรควรราชกัลยา" และพระองค์สุดท้ายว่า "กรมขุนสุทธาสินีนาฎ"
ทรงเลื่อนพระราชนัดดา พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งประสูติแต่หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม ขึ้นจาก "หม่อมเจ้า" เป็น "พระหลานเธอ พระองค์เจ้า" และพระธิดาซึ่งประสูติต่อมา เป็นพระหลานเธอ พระองค์เจ้าทุกพระองค์
**หมายเหตุ เฉพาะพระหลานเธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร ได้มีพระราชพิธีขึ้นพระอู่ นับเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงประกอบพระราชพิธีนี้พระราชทาน สำหรับพระขนิษฐาที่ร่วมพระมารดานั้น ประสูติในรัชกาลที่ 6 และทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" แต่แรกประสูติ (ไม่เคยเป็น "หม่อมเจ้า" เลย) ทั้ง 5 พระองค์
ทรงเลื่อนพระราชนัดดา พระโอรส-ธิดา ในพระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธิ์นฤมล ขึ้นเป็น "พระหลานเธอ พระองค์เจ้า" ทั้งสาย
**หมายเหตุ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการไว้ก่อนพระราชนัดดาประสูติ ดังนั้นทั้ง 3 พระองค์นี้จึงไม่เคยเป็น "หม่อมเจ้า" เลย อนึ่ง เนื่องจากพระมารดาเป็น "พระองค์เจ้าหญิง" น่าสงสัยว่าหากมิได้มีพระบรมราชโองการไว้ก่อนแล้วนั้น พระราชนัดดาทั้งสามพระองค์นี้ก็น่าจะประสูติเป็น "พระองค์เจ้า" อยู่แล้วหรือไม่
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าอาทิตยทิพย์อาภา" พระราชนัดดา พระโอรสพระองค์โตในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งประสูติแต่หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ขึ้นเป็น "พระหลานเธอ"
**หมายเหตุ มิได้ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้ารังษิยากร" พระราชนัดดาพระองค์น้อยด้วย และในรัชกาลที่ 7 ทรงสถาปนา "หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์" ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" (สถาปนาพระอัฐิ) ดูด้านล่าง
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าพระนิภาคุณากร" (ทรงพระผนวช) เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" (สถาปนาพระศพ)
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าหญิงชมชื่น" พระมาตุจฉา พระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอฯ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ในรัชกาลที่ 6 ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าหญิงแก้วกัลยา" พระอภิบาล ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าคำรบ" อธิบดีกรมตำรวจนครบาลและภูธร และองคมนตรี ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าเณร" รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" พระราชทานพระนามใหม่ว่า "ศุภโยคเกษม"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าดรุณไวยวัฒน์" เจ้ากรมราชเลขาธิการ และสัสดีเสือป่า พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" พระราชทานพระนามใหม่ว่า "ดรุณวัยวัฒน์" (เปลี่ยนสะกดจาก "ไวย" เป็น "วัย")
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าทศศิริวงศ์" ผู้บัญชาการกองพลทหารบก ที่ 4 ณ ราชบุรี พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
**หมายเหตุ สองพระองค์ข้างต้นเป็นพระโอรสในพระราชอนุชาซึ่งร่วมพระชนนีกับรัชกาลที่ 5 แต่มิได้ประสูติแต่หม่อมเอกจึงเป็น "หม่อมเจ้า" ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ทรงเลื่อนพระโอรส-ธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ทุกพระองค์
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าตุ้ม" รองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" พระราชทานพระนามใหม่เป็น "สนิทพงศ์พัฒนเดช"
ทรงเลื่อนพระราชภาติยะ "หม่อมเจ้าพงศ์จักร" เป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" และพระราชทานพระนามใหม่ว่า "จุลจักรพงศ์"
ทรงเลื่อนพระราชภาติยะ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล เป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ทั้งสาย
**หมายเหตุ เช่นเดียวกับกรณีพระโอรสธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล, เนื่องจากมีพระบรมราชโองการไว้ก่อนพระราชนัดดาประสูติ ดังนั้นทั้ง 3 พระองค์นี้จึงไม่เคยเป็น "หม่อมเจ้า" เลย อนึ่ง เนื่องจากพระมารดาเป็น "พระองค์เจ้าหญิง" น่าสงสัยว่าหากมิได้มีพระบรมราชโองการไว้ก่อนแล้วนั้น พระราชนัดดาทั้งสามพระองค์นี้ก็น่าจะประสูติเป็น "พระองค์เจ้า" อยู่แล้วหรือไม่
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์" เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อนพระคู่หมั้น "หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล" เป็น "พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าหญิง" และพระราชทานพระนามใหม่ว่า "วัลลภาเทวี" ต่อมาเมื่อทรงถอนหมั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำนำหน้าพระนามใหม่เป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล" เป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" พระราชทานพระนามใหม่ว่า "ลักษมีลาวัณย์" ต่อมาทรงเลื่อนเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ" และต่อมาทรงเสกสมรสด้วยจึงเลื่อนเป็น "พระนางเธอ" ในที่สุด
ในรัชกาลที่ 7 ทรงเลื่อนพระสสุรี (แม่ยาย) "หม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี สวัสดิวัฒน์" ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีพระชันษามากที่สุดในขณะนั้น ขึ้นเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร" เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าหญิงมนัสสวาสดิ์ ศุขสวัสดิ" พระอภิบาล ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าอลงกฎ ศุขสวัสดิ" เสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าธานีนิัวติ โสณกุล" อดีตราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อนพระราชภาติยะ, ภาติกา และพระญาติ (ชั้นลูกพี่ลูกน้อง) ซึ่งพระบิดาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า แต่พระมารดาเป็นสามัญชน (หม่อมราชวงศ์ - หม่อม) จาก "หม่อมเจ้า" ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ทั้งหมด
**หมายเหตุ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่าพระองค์ควรเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" เช่นเดียวกัน เพราะพระบิดาเป็นเจ้าฟ้า แต่พระมารดาเป็นสามัญชน แต่ทรงแก้ไขอะไรไม่ได้เสียแล้ว
ในรัชกาลที่ 8 (คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธย: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน) ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ" ที่ปรึกษาฝ่ายไทยในกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ในรัชกาลที่ 9 ทรงเลื่อนพระสัสสุระ (พ่อตา) "หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร" ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์" ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต" นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ" (สถาปนาพระศพ)
ทรงเลื่อน "หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์" องคมนตรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ" (สถาปนาพระศพ)
ทรงเลื่อนพระราชนัดดา "หม่อมเจ้าหญิงสิริวรรณวรี มหิดล" เป็น "พระเจ้าหลานเธอ"
ขอบพระคุณ Dr. Pong และคุณรอยใบลาน ที่กรุณาแก้ไขและให้คำแนะนำมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ปล. ใช้เวลาตอบนานมาก - -"
แก้ไขเมื่อ 04 ส.ค. 54 12:17:33
แก้ไขเมื่อ 04 ส.ค. 54 00:04:41
แก้ไขเมื่อ 02 ส.ค. 54 21:23:05
แก้ไขเมื่อ 02 ส.ค. 54 20:00:47
แก้ไขเมื่อ 02 ส.ค. 54 16:44:16
จากคุณ |
:
ohmygodness
|
เขียนเมื่อ |
:
2 ส.ค. 54 16:20:06
|
|
|
|
 |