Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อ.สุกรีลาออก จะหัวหรือก้อย! ถึงเวลาแล้วรึยังที่จะปฏิรูปการศึกษาไทย ติดต่อทีมงาน

ขอออกตัวว่าผมไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักวิเคราะห์ ไม่ใช่นักปฏิรูป แต่ผมได้รู้จักการศึกษาไทยมานาน เพราะต้องเรียนมาตั้งแต่เล็กยันโต แถมตอนเรียนก็อยู่คณะศึกษาศาสตร์ ตอนทำงานก็ทำงานในสถาบันการศึกษา เรื่องเหล่านี้ไม่สำคัญ แต่ต้องออกตัว เพราะจะมีคนตั้งคำถามเยอะแยะว่า ผมเป็นใคร มีอะไรถึงเขียนออกมา

สิ่งๆหนึ่งที่ทุกๆคนไม่อาจปฏิเสธได้ และชอบพร่ำบ่นว่ามันย่ำแย่ก็คือ การศึกษา ระบอบการศึกษาในสำนึกคิดของผมมีโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมกันแล้วก็ไม่ต่ำกว่า 2000-3000 แห่งแน่ๆ ผลประโยชน์คงมากมายทีเดียว แต่ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจที่จะไปยุ่งเกี่ยว เพราะมีคำว่า “ครู” ติดชื่อไว้อยู่ว่าสิ่งๆนี้เราควรให้ความเคารพอย่างสูง คำว่า “ครู” จึงคอยปกป้องคนภายในหน่วยงานการศึกษามามากมาย ทำให้คนไม่ค่อยทักท้วงการศึกษาอย่างมีพลัง เพราะคงสู้พลังกระแสทางการเมือง และกระแสดาราตบตีกันไม่ได้
ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงขอยกมือดังๆคนหนึ่งว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะปฏิรูปการศึกษาไทย” โดยยกประเด็นของรศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบ่ดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล (ไม่ได้เขียนผิดแต่เค้าชอบคำพูดนี้) บุคคลคนนี้ หลายอาจยังไม่รู้จัก เค้าเป็นครูดนตรี และเป็นเหมือนนักบริหารจัดการ ทำทุกๆอย่างจนมี วิทยาลัยดนตรีที่ติดอันดับโลก วิสัยทัศน์เค้าน่าดูชมเลยทีเดียว
วิสัยทัศน์ของอ.สุกรีผู้นี้ เคยกล่าวไว้ว่า “มาตรฐานต่อรองไม่ได้” “มาตรฐานอยู่ใต้รองเท้า” ดังนั้นเค้าเลยสร้างสิ่งที่เกินมาตรฐานอยู่เสมอๆ การสอบเข้าเรียนแบบแปลกประหลาด “สอบแต่ดนตรีกับภาษาอังกฤษ” สอบโดยไม่จำกัดจำนวนคนเข้า แต่คัดกรองโดยเกณฑ์มหาโหดที่ใครผ่านนั้น ก็เข้าได้เลย สถานที่ศึกษาที่น่าอิจฉาหากใครได้ไปสัมผัสจะอยากกลับเข้าไปใหม่ เช่นผม รวมทั้ง คนที่เรียนที่นี่ก็ได้รับรางวัลระดับโลกมามากมาย อย่างเช่น ณัฐพร ธรรมาธิ นักร้องโอเปราคว้าชัยระดับโลกที่ญี่ปุ่น เอกชัย เจียรกุล มือกีต้าร์รางวัลระดับโลกมากมายล้นบ้าน นอกจากนี้ยังมี อุปกรณ์ กิจกรรมอำนวยความสะดวกในดนตรีและศิลปะ อย่างเช่น มีวงออเคสตราเป็นของตัวเอง มีคอนเสิร์ตเป็นของตัวเองที่นับไม่ถ้วน มีออดิทอเรียมของตัวเอง และกำลังจะสร้างใหม่ พร้อมทั้งกำลังจะมีอาศรมศิลปิน (เค้าบอกว่าเป็น บ้านสุดหรูท่ามกลางแม่น้ำป่าเขา ไว้สำหรับศิลปินแขนงต่างๆ ไปใช้ความคิดกันที่ ที่พะเยา) และมิวเซียมดนตรีอุษาคเนย์

นี่คือ สิ่งที่ครูคนที่ชื่อ อ.สุกรี ทำไว้ทั้งหมด ซึ่งผมก็ขอชื่นชมอย่างออกหน้าออกตา

  แต่อย่างไรก็ตามก็เกิดปรากฎการณ์ “อ.สุกรี ลาออก” และให้เหตุผลการลาออกว่าหน่วยงานการศึกษาที่มีชื่อว่า สกอ. ไม่อนุมัติหลักสูตรดุริยางคศาสตร์บัณฑิต
เกิดคำถามขึ้นมามากมายในใจผมว่า เอ๊ะ อย่างนี้เท่ากับว่า นักศึกษานั้นจบมาแล้วได้อะไร ทั้งๆที่มันน่าจะชื่อ ดุริยางคศาสตร์บัณฑิต หรือ Bachelor of music เพื่อที่จะใช้เรียนต่อเมืองนอกได้ด้วย

การนี้ ด้วยการเป็นแฟนพันธ์แท้ของอ.สุกรีจึงออกตระเวนหาข้อมูลหลังได้ทราบข่าวเรื่องนี้จากทางสื่อ และขอสรุปเพื่อให้ประเด็นนี้ โดยจะกล่าวถึงขั้นตอน 3 ขั้นตอน เพื่อให้หลักสูตรเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนี้

1. สภามหาวิทยาลัย - ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติใบปริญญาได้ ณ ขณะนี้ คือ สภามหาวิทยาลัย ในที่นี้คือ สภามหาวิทยาลัยมหิดล และสภามหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้อนุมัติใบปริญญาดุริยางคศาสตร์บัณฑิตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้นักศึกษา 332 คน ได้รับใบปริญญาดุริยางคศาสตร์บัณฑิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. สกอ. - เพื่อให้หลักสูตรได้รับการพิจารณาขั้นเงินเดือนข้าราชการตามวุฒิวิชาชีพ ที่ก.พ.จะตีตรานั้น ก็ต้องผ่านสกอ. ที่มีหน้าที่เป็นเหมือนคนส่งผ่านและตรวจสอบ ก่อนที่จะส่งต่อให้ก.พ.
3. ก.พ. - เป็นคนจดรายชื่อนศ.ที่ได้หลักสูตรเหล่านี้ และอนุญาตให้นักศึกษาใช้วุฒิดังกล่าว รับราชการ
ดังนั้น กระบวนการขั้นตอนที่ 1 เมื่อผ่านไปแล้ว ก็เหมือนกับว่าเราได้หลักสูตรนั้นแล้ว ยกเว้นคนที่จะรับราชการในหลักสูตรที่ตนได้มา ต้องผ่านกระบวนการ 2 และ 3 ไปให้ได้

แต่ 2 ใน 7 สาขา หลักสูตรดุริยางคศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กลับไม่ผ่านกระบวนการที่ 2 อย่างน่ากังขา โดยให้เหตุผลว่า หลักสูตรไม่เข้มข้นพอ และอาจารย์ไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างที่สุดสำหรับวิทยาลัยแห่งนี้ที่คุณภาพคับแก้ว อ.สุกรี จึงป่าวประกาศว่า
1. ให้คนไม่รู้มาชี้
2. สกอเป็นเพียงผู้ส่งผ่านไปทางก.พ.
3. วิทยาลัยแห่งนี้ติดอันดับโลกไปแล้ว
4. ทำไมไม่ให้เค้าชี้แจง และคนที่ตรวจสอบไม่เคยลงมาดูสถานที่จริง
นั่นแหละครับ เลยเป็นเรื่อง และคงเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวที่สุดสำหรับอ.สุกรี มาเนิ่นนานจนทนไม่ไหวเลยขอลาออก เพื่อประท้วง คล้ายกับคุณสืบ นาคเสถียร แตกต่างกันเพียงวิธีการ

ทางสกอ. พอเห็นสื่อออกมามากๆเข้า ก็เลยตื่นตัว แต่หัวหน้าใหญ่ไม่ออกมา เลยส่งตัวแทนอย่างหมอกำจร รองเลาขาธิการออกมาพูดแทน และเข้าก็พูดว่า
1. เรารู้ว่า วิทยาลัย มีคุณภาพ ผมก็ยอมรับนับถือ
2. เราคิดว่า 2 สาขาที่ไม่ผ่าน คือ ธุรกิจดนตรี และเทคโนโลยีดนตรี เมื่อนับหน่วยกิตแล้ว ภาคดนตรีปฎิบัติมีน้อยเกินไป หากอยากให้ผ่านก็ต้องปรับขึ้น 2 หน่วยกิต แล้วค่อยมาคุยกันใหม่  

แต่ทางอ.สุกรี ก็ยืนยันว่า หลักสูตรของเค้ามีวิชาดนตรีปฏิบัติมากเพียงพอ และมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นที่ผ่านดุริยางคศาสตร์บัณฑิตในแขนงเดียวกัน
ซึ่ง 2 ฝ่ายนี้ก็ถกเถียงกันไปมา จนนักศึกษาออกมาประท้วง จนทำให้สกอ.ต้องถอยออกมาและบอกว่าได้ข้อมูลมาใหม่ (ทั้งๆที่เคยยื่นแล้วแต่สกอ.ไม่ฟัง)

มีคนสงสัยว่า ทำไมไม่ปรับหน่วยกิตตามที่ สกอ. หละ?
อ.สุกรี ตอบได้ดีทีเดียวว่า “สิ่งที่ถูก ก็คือ ถูก แม้ไม่มีใครทำ สิ่งที่ผิด ก็คือ ผิด แม้ทุกคนจะสิ่งนั้น” พอ อ.สุกรีพูดคำนี้ขึ้นมา ก็ทำให้ผมอึ้งกับคำนี้ เพราะคนไทย (ไม่แน่ใจว่าประเทศอื่นด้วย) มักจะใช้วิธีการถอยหลังคนละก้าว แม้ว่าคุณจะยืนจุดถูกต้องทุกประการ แต่คุณก็ต้องถอยมาในสิ่งที่ผิด เพราะ ถอยหลังคนละก้าว เราเลยถอยหลังมาเรื่อยๆจนอยู่ในสิ่งที่ผิดมาตลอด นี่แหละครับ คำสอนของอ.สุกรี ที่คนต้องศึกษา

จะสังเกตได้ว่า ระบบการศึกษาไทยนั้น สร้างกฎมากฎเดียวแล้วครอบคลุมไปซะทุกอย่าง ซึ่งแตกต่างกับการศึกษาไทย มีหลากหลายแนวทาง อ.หมอประเวศน์ วะสี ได้กล่าวในเรื่องอย่างน่าสนใจว่า “การศึกษาเป็นระบบของความงอกงามอย่างหลากหลาย แต่ระบบราชการเป็นระบบของการควบคุม เมื่อเอาระบบการควบคุมมาใช้กับการศึกษาความงอกงามก็ไม่บังเกิดสมกับที่เป็นการศึกษา” นี่แหละครับปัญหาใหญ่ และใหญ่มากๆด้วย ทางระบบราชการมักเรียกร้องให้เราทำตามกฎเพื่อที่เราจะได้อยู่ในสังคมเดียวกันได้ ซึ่งในเคสอ.สุกรี คนที่ไม่เข้าใจก็จะคิดว่า อ.สุกรี เค้าอยากได้มากเกินไปรึเปล่า ทำไม่อยู่ในกฎกติกาหละ (ทั้งที่จริงๆแล้วก็อยู่ในกฎ แต่คนคุมกฎเอาอะไรมานับก็ไม่รู้ ว่าไม่ถึง แถมไม่เคยไปดูอีกต่างหาก) แต่เอาเถอะ อย่างไรก็ตาม ขอให้สังคม ไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม ลองนึกถึงประเด็นนี้นะครับ ว่านี่คือ ตัวอย่างหนึ่งในสิ่งที่การศึกษาไทยต้องเปลี่ยน ซึ่งจะเปลี่ยนอย่างไร ก็คงต้องเปลี่ยนที่กฎนี่แหละ มันล้าสมัยไปแล้ว

นอกจากเปลี่ยนกฎ แล้วก็คงต้องเปลี่ยนคน แล้วก็คงต้องดูว่าการศึกษาไทย ควรที่จะมีหน่วยงานใดมากำกับบ้าง แล้วก็คงต้องดูว่า ทำอย่างไร ไม่ให้มีผลประโยชน์ส่วนตัวในการระบบการศึกษาได้ นี่แหละครับ คือสิ่งที่เราต้องมาช่วยคิดและเรียกร้องให้ได้ การทำงานควรดูที่ผลงาน คุณภาพ ที่แท้จริง ไม่ใช่เอะอะก็ดูผลงานและคุณภาพที่กระดาษ ครูต้องใช้คนไปตัดต้นไม้มากระดาษ เพื่อได้อะไรสูงขึ้นมาเยอะแยะซักเท่าไร โลกร้อน การศึกษาก็แย่
การวัดคุณภาพของการศึกษาไทยก็เปรียบได้ดั่ง “การที่เราทำสิ่งของใหญ่จนได้บันทึกเป็นสถิติกิเลสบุค คนตื่นตาตื่นใจ แต่พอนานไปไม่มีใครเอา”  
ดังนั้น ผมจึงเสนอการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยด้วยความคิดอันเล็กๆ ซัก 5 อย่าง อย่างเล็กน้อย ไม่รู้แล้วชี้ เหมือนสกอ. รึเปล่าไม่แน่ใจ แต่ก็อยากจะบอกในแบบของผมว่า

1. เราไม่ควรบีบบังคับแนวทางของการศึกษามากเกินไป แต่เราต้องคำนึงถึงคุณภาพ โดยการปลูกฝังสิ่งที่จะเป็นคุณภาพให้อยู่ในหน่วยงานที่ควบคุมนโยบายคุณภาพให้ได้
2. ลดหน่วยงานลงบ้างไม่ต้องให้มันซับซ้อนมาก เยอะแยะ การทำงานอย่างราชการควรที่จะปฏิรูปได้แล้ว (เอาคนเก่งๆลงมาสอนหนังสือเหมือนเดิมบ้าง อยู่ตรงนั้น ก็แค่อยู่กับเอกสาร และประชุม)
3. โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีความลับ มีโต๊ะให้ถกเถียงทางวิชาการกันอยู่เสมอๆ
4. สื่อมวลชนทางการศึกษา ควรมีบทบาทในการกระตุ้นสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่
5. หาวิธีการดึงคนไทยที่มีความรู้สูงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่รอบรู้มากแต่ไม่จบปริญญา คนที่ได้ทุนไปเมืองนอก แต่พอจบแล้วกลับทำงานให้เมืองนอก เอามาเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยให้ได้ซัก 30 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่แล้ว เพราะคนพวกนี้แหละจะยกระดับการศึกษาไทยขึ้นได้เยอะ

แล้วคุณหละเห็นด้วยกับผมมั๊ย มีวิธีคิดอะไรที่ดีๆบ้าง อยากให้แลกเปลี่ยนกัน

------------------------------
ป.ล.เหตุเกิดจากกระทู้นี้ http://www.pantip.com/cafe/chalermkrung/topic/C11009996/C11009996.html
ผมจึงต้องมาตั้งแสดงความเห็นที่นี่ครับ

จากคุณ : pUNLIV
เขียนเมื่อ : 8 ก.ย. 54 00:46:39




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com