 |
ขอแสดงความคิดเห็นในส่วนที่คุณรอยใบลานแสดงความเห็นมาครับ
ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่า ยังหาประกาศสถาปนาฯ ไมไ่ด้เหมือนกัน นี้จึงเป็นการวิเคราะห์โดยเทียบเคียงจากกรณีอื่น ๆ นะครับ
1. เรื่องคำนำหน้าพระนามอันแสดงถึงพระอิสริยยศพิเศษ นี้ ดูท่าว่าคุณรอยใบลานกับผมจะมีความเห็นไม่ตรงกันเสียแล้ว เท่าที่ผมอ่านดู แนวความคิดของคุณรอยใบลานนั้น ดูจะมุ่งไปในทางที่ว่า ถ้าหากจะเป็นคำนำหน้าพระนามที่แสดงพระอิสริยยศอย่าพิเศษแล้ว จะต้องมีการพระราชทานพระเกียรติยศต่าง ๆ เพิ่มเติมด้วยเสมอไป ซึ่ง (ถ้าหากว่าผมสรุปแนวคิดของคุณรอยฯ ถูก) ผมมีข้อโต้แย้งคัดค้านแนวคิดนี้ดังนี้ครับ
- ถ้าหากจะยึดถือเอาว่า คำนำหน้าพระนามอันแสดงถึงพระอิสริยยศพิเศษ จะต้องมาพร้อมกับพระเกียรติยศพิเศษเสมอไป จะกลายเป็นว่า "สมเด็จ...กรมพระยา..." ทุกพระองค์ (โดยเฉพาะที่เป็นพระองค์เจ้า) ดูจะมีพระอิสริยยศอย่างพิเศษไปหมด ซึ่งไม่น่าจะใช่
ส่วนคำว่า "สมเด็จ" ที่มานำหน้าคำนำหน้าพระนามนั้น ก็เนื่องมาจากกรมของเจ้านายชั้นสูงสุดคือ "สมเด็จ...กรมพระยา..." อันเปลี่ยนมาจาก "กรมสมเด็จพระ..." เดิม การทรงกรมเป็นชั้น "กรมพระยา" เฉย ๆ โดยไม่มีคำ "สมเด็จ" ไม่เคยมี (ดูในพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุเอาไว้ว่า รัชกาลที่ 6 เคยทรงพระราชดำริที่จะให้มี "กรมพระยา" ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง แทรกตรงกลางระหว่าง "สมเด็จ...กรมพระยา" กับ "กรมพระ") ดังนั้นถ้าหากเอาคำ "สมเด็จ..." ออก จะกลายเป็นเหลือ "พระยา" คำเดียว ซึ่งจะมีผลเป็นการไปกระทบกระเทือนเจ้านายที่เป็นกรมสมเด็จพระเดิมซึ่งเสด็จสิ้นพระชนม์ล่วงไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้านายชั้นพระองค์เจ้า ที่เป็นกรมสมเด็จพระ คำว่าสมเด็จจะหายไปจากพระนามเลย เช่น
"พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร" จะกลายเป็น "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร" ซึ่งก็จะเกิดคำถามว่า แล้วถ้าเช่นนั้นละเอาคำ "สมเด็จ" เดิมของท่านไปไหนเสีย ในขณะที่ถ้าเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ อาจจะดูยากนิดนึง เพราะมีคำ "สมเด็จ" ประกบพระอิสริยยศเจ้าฟ้าอยู่ (ดังที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงแสดงความเห็นไว้ว่า ในการเลื่อนกรมสมเด็จเจ้า้ฟ้ามหามาลาฯ นั้น ถ้าไม่เอา "สมเด็จ" เติมเข้าไปก็ไม่สำเร็จกิจการตั้งกรม แต่ถ้าเติมเข้าไป ก็ "เผยิบผยาบ" เต็มทน)
ส่วนที่คุณรอยฯ โต้แย้งมาโดยเทียบเคียงกับกรณีรัชกาลที่ 2 ทรงออกพระนามรัชกาลที่ 3 ขณะยังเป็นพระเจ้าลูกเธอว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร" หรือกรณี "สมเด็จพระนางเจ้า" กับ "พระนางเจ้า" นั้น เห็นว่า ทั้งสองกรณีนี้ไม่เหมือนกัน กรณี "สมเด็จพระเจ้าูลูกเธอ กรมหมื่น..." นั้น ไม่เคยปรากฎว่ามีมาก่อน (ในชั้นพระองค์เจ้า) ถึงหากว่าถ้าจะมีจริง ก็เป็นการแสดงพระเกียรติยศยกย่อง มิใช่ว่าจะหมายความว่าทรงมีพระอิสริยยศอย่างพิเศษ (อนึ่ง ถ้าผมจำไม่ผิด ในข้อนี้ยังหาหลักฐานอะไรไมไ่ด้เลยนะครับ เพียงแต่ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ซึ่งเป็นพระราชโอรสรัชกาลที่ 3 ทรงยืนยันว่ารัชกาลที่ 2 ทรงเคยตรัสเรียกเ่ช่นนั้น แต่ยังไม่เคยเห็นพระราชกำหนด หรือกฎหมาย คำสั่งอะไรที่ระบุพระนามเช่นนั้น) ส่วนกรณีสมเด็จพระนางเจ้า กับ พระนางเจ้า นั้น แตกต่างกันชัดเจนอยู่แล้ว คงเทียบได้กับกรณี "สมเด็จเจ้าฟ้า" กับ "เจ้าฟ้า" (สมเด็จเจ้าฟ้ามีกรมทรงศักดินา 50, 000 แต่ เจ้าฟ้ามีกรมทรงศักดินา 30, 000)
อนึ่ง เจ้านายที่แม้จะทรงกรม เป็น "กรมสมเด็จพระ..." ก็ยังคงต้องทรงพระดำเนินตามหลังเจ้านายที่ทรงกรมต่ำกว่า หรือมิได้ทรงกรมเลย แต่มีพระชนม์มากกว่า (ความตอนนี้ชัดเจนอยู่แล้วในธรรมเนียมพระราชตระกูล ที่ผมยกมาไว้ตอนต้น) ฉะนั้น เมื่อในรัชกาลที่ 6 มิได้ทรงเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้เป็นอย่างอื่น ผมคิดว่า "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ" ก็ทรงพระดำเนินตามหลัง "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ" ได้ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ก็น่าจะยังทรงพระดำเนินตามหลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสรรพสิทธิประสงค์ แม้พระองค์เป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ" ก็ตามที,, ซึ่งถ้าจริงตามนี้,, ก็ยิ่งชัดเจนว่าคำนำหน้าพระนาม "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ" กับ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ" ในชั้นพระองค์เจ้านั้น มิได้แตกต่างกันแต่อย่างใด เพราะคำว่า "สมเด็จ" ในที่นี้มาจากการที่เลื่อนกรมเป็น "สมเด็จ...กรมพระยา" มิใช่ว่ามีพระอิสริยยศเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ
ท้ายที่สุด ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ถ้าหากเทียบกับกรณี "สมเด็จพระอนุชาธิราช" ในรัชกาลที่ 6 ทั้งสองพระองค์ จะเห็นได้ว่าเหมือนกันในข้อที่ทรงเพิ่มพระเกียรติยศด้วยการให้เปลี่ยนคำกริยาแสดงการตายจาก "สิ้นพระชนม์" เป็น "สวรรคต" กับ "ทิวงคต" แล้ว ในส่วนสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯ นี้ ยังพระราชทานพระสัปตปฎลเศวตฉัตร และทรงพระโกศทองใหญ่ ด้วย (สมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระโกศทองน้อย และรับเบญจปฏลเศวตฉัตร ตามอย่าง "สมเด็จ...เจ้าฟ้า..." ไม่มีการพระราชทานเปลี่ยนแปลง) ข้อที่เหมือนกันก็คือ พระเกียรติยศเหล่านี้ได้รับพระราชทานเมื่อสวรรคต/ทิวงคต ไปแล้วเช่นเดียวกัน
2. ตามความเห็นของผม คำนำหน้าพระนามอันแสดงถึงพระอิสริยยศอย่างพิเศษนั้น ไม่จำเป็นต้อมาพร้อมกับพระราชพระเกียรติยศเป็นพิเศษครับ ผมขอยืนยันในความเห็นเดิม เช่นพระวิมาดาเธอฯ แม้จะมิได้พระราชทานศักดินาเพิ่ม แลไม่มีการพระราชทานพระเกียรติยศอะไรเพิ่มเป็นพิเศษ แต่ในความเห็นผม ถือเป็นคำนำหน้าพระนามอันแสดงถึงพระอิสริยยศอย่างพิเศษแล้ว แม้สิ้นรัชกาลที่ 7 ก็ไม่กระทบกระเทือน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าพระนามนี้,, คำว่า "สมเด็จพระอนุชาธิราช" ก็เช่นเดียวกัน
ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า ถ้าหากในรัชกาลที่ 7 มิได้ทรงเพิ่มศักดินาให้แก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณัพันธ์วงศ์วรเดช ถามว่า "สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข..." เป็นคำนำหน้าพระนามอันแสดงถึงพระอิสริยยศอย่างพิเศษหรือไม่ ก็แน่นอนว่าใช่ ดังนั้น ถึงมิได้เพิ่มศักดินา แล้วปรากฎว่า "สิ้นพระชนม์" (ต่อให้ไม่เปลี่ยนให้ใช้คำว่า "ทิวงคต" ด้วย เอ้า!) แม้สิ้นรัชกาลที่ 7 แล้ว คำนำหน้าพระนามนี้ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ คำนำหน้าพระนาม "พระวิมาดาเธอ" ก็เช่นเดียวกัน
ฉะนั้น,, รวมความตามความเห็นของผม คำนำหน้าพระนามอันแสดงถึงพระอิสริยยศอย่างพิเศษนั้น หมายถึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ใช้คำนำหน้าพระนามอย่างอื่น อันไม่ตรงกันกับคำนำหน้าพระนาม ที่เจ้านายในพระราชวงศ์ชั้นนั้น ๆ พึงใช้ แต่อาจจะเป็นคำนำหน้าพระนามอันมีอยู่แล้วก็ได้ เช่นในรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ "กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์" ใช้คำนำหน้าพระนามว่า "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ" คำว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอนี้ ก็เป็นคำนำพระนามอันมีอยู่แล้ว แต่ที่ผมกล่าวว่าเป็นคำนำพระนามอันแสดงถึงพระอิสริยยศพิเศษ ก็เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นี้ ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งเจ้านายในชั้นนั้น ๆ โดยปกติจะใช้คำนำหน้าพระนามว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอ ช้นที่ 2" (นี่หมายถึงเหตุการณ์ในรัชกาลที่ 5 นะครับ) ดังนั้น คำนำพระนาม "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ" จึงเป็นคำนำหน้าพระนามซึ่งแสดงถึงพระอิสริยยศอย่างพิเศษสำหรับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นี้
ส่วนกรณีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ นั้น ดังที่เรียนไปตอนต้นว่าคุณเจฟฟรีย์ได้ระบุไว้ว่ามีการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น "สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช" และ "สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี" มาโดยลำดับ แต่มิได้แสดงพยานหลักฐานแต่อย่างใด ในส่วนของพระนางสุขุมาลก็เช่นกัน คุณเจฟฟรีย์ระบุว่า มีการเฉลิมพระนามเป็น "สมเด็จพระนางเจ้า" แต่ก็เช่นกัน ไม่มีรายละเอียด หรือข้อมูลแสดงเป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด
แก้ไขเมื่อ 16 ก.ย. 54 20:01:41
จากคุณ |
:
ohmygodness
|
เขียนเมื่อ |
:
16 ก.ย. 54 19:32:52
|
|
|
|
 |