Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คลี่ปมความสัมพันธ์ ปัตตานี-ฮอลันดา-อยุธยา ติดต่อทีมงาน

คลี่ปมประวัติศาสตร์ "ปัตตานี-ฮอลันดา" ความใจแคบของรัฐไทย

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 16:06:01 น.

โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา  โดย  แว ลีเมาะ ปูซู สัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์ครองชัย หัตถา   "ศาสตราจารย์คนใหม่" และคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)


อาจารย์ครองชัย เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และทำงานอยู่ในพื้นที่นี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว ความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้เกิดแรงขับดันที่ผลิดอกออกผลเป็นงานวิจัยและหนังสือที่ชื่อ "อาณาจักรลังกาสุกะ ประวัติศาสตร์ยุคต้นของคนชายแดนใต้" ซึ่งช่วยฉายภาพให้สังคมไทยได้ "เรียนรู้และเข้าใจ" ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้มากยิ่งขึ้น


 ครั้งนี้ ดร. ครองชัย ไขปมประวัติศาสตร์ "ปัตตานี-ฮอลันดา" ที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจว่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัย "เติมไฟขัดแย้ง" ที่ชายแดนใต้ ณ พ.ศ.นี้

 

ทราบมาว่าอาจารย์พบหลักฐานเกี่ยวกับ เรื่องฮอลันดา และตั้งสมมติฐานว่าเป็นเงื่อนปมหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่อาจสร้างปัญหาใน พื้นที่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?

 

 จากงานวิจัยเรื่องปัตตานี การค้า การเมือง และการปกครองในอดีต ซึ่งผมปรับปรุงมาเป็น "ปัตตานี: พัฒนาการทางภูมิศาสตร์" ข้อมูลที่ปรากฏในแผนที่แสดงเอเชียทั้งหมดจะมีเมืองต่างๆ ที่บริษัทอีสต์เอเชียติกของฮอลันดา* เข้ามาค้าขาย เป็นการค้าระดับนานาชาติ พบว่าปัตตานีเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดที่ฮอลันดาเข้ามาเชื่อมสัมพันธไมตรีและ ทำการค้า โดยตั้งสถานีการค้าแห่งแรกที่ปัตตานี คือเมืองกรือเซะ นั่นคือ ค.ศ.1601 ซึ่งเพิ่งครบ 400 ปีไปเมื่อ ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ถัดจากนั้น 40 ปี (คศ.1641) ก็ไปตั้งที่มะลากา ตัวเลขเหล่านี้กำลังจะบอกว่าฮอลันดาเพิ่งให้ความสนใจมะละการาว 40 ปีหลังจากเข้ามาติดต่อกับปัตตานี ขณะที่อยุธยามีการเชื่อมสัมพันธไมตรีในปี ค.ศ.1604 นั่นก็คือฮอลันดาอยู่ปัตตานีก่อน แล้วก็ค่อยไปติดต่อค้าขายกับอยุธยา

 

เพราะฉะนั้นเมื่อถึงปี ค.ศ.2001 ครบ 400 ปี ตรงกับ พ.ศ.2544 ทางฮอลันดา (ฮอลแลนด์ หรือเนเธอร์แลนด์) ได้ส่งคณะผู้แทนมาประสานเพื่อจัดงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 400 ปี โดยเลือกปัตตานีเป็นแห่งแรก ซึ่งทางฮอลันดาและฝ่ายไทย (หมายถึงรัฐไทยปัจจุบันที่มีปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศแล้ว) ต่างก็มีเอกสารเก่าตรงกัน

 

การจะจัดที่ไหนผมว่าไม่สำคัญ แต่ให้เอ่ยถึงว่านี่คือปีแรกที่เขามาเหยียบแผ่นดินประเทศไทย สมัยนั้นคือปัตตานี แต่ทางการไทยไม่สนใจ เพิ่งจะมาจัดเฉลิมฉลองเมื่อปี 2547  ซึ่งเป็นปีที่ฮอลันดาเพิ่งติดต่อกับอยุธยาก็คือปี ค.ศ.1604 ทั้งๆ ที่เขามาติดต่อกับปัตตานีก่อนอยุธยาถึง 3 ปี สรุปก็คือแทนที่รัฐบาลจะยึดเอาความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ก็คือปีแรกที่มา ติดต่อกับปัตตานี กลับกลายไปเลือกปีที่ติดต่อกับอยุธยา ฉะนั้นปัญหาทางประวัติศาสตร์มันมีแน่นอน คือทำไมไม่ใช้ความเป็นจริง

 

 อาจารย์กำลังจะบอกว่าเรื่องแบบนี้ส่งผลในแง่ความรู้สึก?

 

 ครับ ปัญหาทางประวัติศาสตร์คงจบแค่วิชาการทางประวัติศาสตร์  แต่ปัญหาทางการเมือง ผมเห็นตั้งแต่ปีนั้นแล้วว่าอาจจะมีความรุนแรง อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับความไม่สงบได้  รวมทั้งความขัดแย้งระดับเวทีโลกในอนาคต เพราะผมคิดว่าการที่ไปยึดประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องคือจริงๆ ค.ศ.1601 แต่กลับใช้ ค.ศ.1604 แทน ก็คือปี พ.ศ.2547 และเป็นปีที่เริ่มต้นความรุนแรง (เกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจากค่ายทหารที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547) ผมไม่ทราบว่าเกี่ยวกันหรือไม่ แต่ในทางวิชาการมันเห็นว่า ปี  ค.ศ. 1604  นั่นคือปีที่ฮอลันดามีความสัมพันธ์กับอยุธยา  แต่ก่อนหน้านั้นได้มีความสัมพันธ์กับปัตตานีอยู่แล้ว

 

 ถ้าผมเป็นรัฐบาลผมจะเลือกจัดปีที่เป็นปีติดต่อมี สัมพันธไมตรีกันจริง คือปี ค.ศ.2001 (ครบ 400 ปัตตานี-ฮอลันดา) แต่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นกลับไปเลือกจัดปี ค.ศ.2004 ซึ่งครบ 400 ปีของอยุธยาไม่ใช่ปัตตานี

 

 เรื่องนี้ถ้าจบแค่นี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีการตีความไปถึงขั้นว่า เมื่อ 400 ปีที่แล้วปัตตานีไม่ได้เป็นของไทย (สยาม) ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ทำไมคุณไม่จัด ถ้าไม่ใช่แสดงว่าปัตตานีเพิ่งเป็นของสยาม ฝ่ายสยามไปยึดปัตตานี ไปได้ปัตตานีเป็นเขตปกครองหลังจากนั้น เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าในทางวิชาการอาจมีความเชื่อมโยงกัน อาจมีการนำเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตรงนี้ไปเกี่ยวโยงแล้วทำให้เกิด เหตุการณ์รุนแรง เพื่อวันหนึ่งจะได้บอกว่าข้อมูลความเป็นมาเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยเคยปฏิเสธมาแล้ว

 

 ประวัติศาสตร์ปัตตานี-ฮอลันดา-สยามที่ รัฐบาลในอดีตทำพลาดไป จะส่งผลร้ายแรงมากกว่านี้ได้หรือไม่ เช่น การนำไปฟ้องต่อเวทีโลกเพื่อนำไปสู่การไม่ยอมรับ?

 

อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์ แต่คงจะมีผู้นำไปใช้ในอนาคต บอกว่าความจริงมีอยู่และชัดเจน แต่ประเทศไทยไม่ยอมรับ อาจจะนำไปสู่การตีความอยุธยาสมัยนั้นว่าไม่ได้มีอำนาจอะไรเหนือปัตตานี เมื่อเราละเลยความรู้ตรงนี้ อีกฝ่ายสามารถเอาไปอ้างได้ว่าที่รัฐไม่ได้ให้ความสนใจปีนี้ เพราะว่าขณะนั้นปัตตานีไม่ได้เป็นของไทย (สยาม) ใช่หรือไม่

 

 ในอนาคตถ้าเกิดต้องขึ้นศาลโลก คนก็มองไปไกลว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เคยปฏิเสธและไม่ปฏิบัติตาม ความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปใช้อ้างอิงในเวทีโลกว่าทำไมประเทศไทยปัจจุบันถึง ไม่ใช้ข้อมูลที่เป็นจริงในอดีต มันก็จะถูกตีความว่าถ้าอย่างนั้นปัตตานีในอดีต ณ เวลานั้น ค.ศ.1601 ไม่ได้เป็นของสยามใช่หรือไม่ ถ้าเรามีคำตอบที่ไม่ดี โอกาสจะยืดเยื้อคาราคาซังต่อเนื่องไปก็มีเหมือนกัน จึงเป็นประเด็นที่คนไทยควรจะรับทราบเอาไว้ว่ามีการใช้ประวัติศาสตร์ที่ไม่ ค่อยจะถูกต้องนัก

 

 การใช้ประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่?

 

 ความจริงประวัติศาสตร์ปัตตานีก็มีตัวตนของเขา อยู่ เพียงแต่ว่าฝ่ายรัฐจะต้องเปิดใจให้เขียนความจริง ผมเชื่อเรื่องการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อพลเมืองของรัฐด้วยความเข้าใจที่ถูก ต้องบนประวัติศาสตร์ซึ่งบางตอนเป็นสงคราม บางช่วงเป็นการกระทำซึ่งกันและกัน ก็มาเล่าความจริงให้หมด เปิดใจทั้งหมด แล้วคนก็จะเข้าใจกัน เพราะว่าไม่มีพื้นที่ไหนในโลกที่ไม่ผ่านประวัติศาสตร์มาเลย

 

 ปัญหาความไม่สงบมันมี 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือเหตุระเบิด ยิง ปิดล้อมตรวจค้นจับกุม ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งคืออยู่ในสมอง ความรู้สึก อคติ ไม่ยอมรับ ต่อต้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้วิชาประวัติศาสตร์มันฟ้องอยู่ คือการไม่ยอมรับ ตรงนี้เราปราบไม่ได้เลย ปราบได้อย่างเดียวคือใช้การศึกษาเข้าไปกล่อมเกลาทำให้รู้สึกเป็นพลเมืองของ รัฐ แยกแยะถูกผิด สร้างจิตสำนึก เปิดเผยประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริง ดีกว่าปกปิด ก็จะทำให้คนยอมรับรัฐได้มากขึ้น แต่ถ้ารัฐพยายามจะไม่อธิบาย ขณะที่คนเหล่านี้มีแต่ความทรงจำเรื่องความขัดแย้งต่างๆ ปัญหาก็ยากที่จะยุติ

 

อยากให้อาจารย์ช่วยเสนอแนะประเด็นประวัติศาสตร์ที่อาจนำไปสู่สันติภาพในพื้นที่

 

ผมมอง 4 อย่างด้วยกัน คือ 1.ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่เคยต้องห้าม ถูกรัฐเพ่งเล็ง หรือเก็บออกไปจากแผน เช่น งานเขียนสมัยของ อาจารย์อับดุลเลาะห์ ลอแม เป็นหนังสือที่ถูกราชการห้ามจำหน่าย ทำให้เราไม่มีองค์ความรู้ที่จะเข้าใจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั่วประเทศ ทุกภูมิภาคต้องช่วยกันสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา

 

  2.เร่งจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้ครูอาจารย์ได้มีหนังสือสอน มีคู่มือนำไปใช้ เพราะขณะนี้หลักสูตรท้องถิ่นที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชายแดนภาคใต้ที่ทุกฝ่าย ยอมรับยังไม่มี ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งชัดเจนว่าต้องสอน คำถามก็คือแล้วครูสอนจะอะไร สอนอย่างไร  เป้าหมายการสอนคืออะไร เมื่อแต่ละคนสอนตามที่ตัวเองถนัด  หรือคนที่รู้สึกอึดอัด เก็บกดอยู่ เขาก็สอนประเด็นที่เป็นความขัดแย้งกับรัฐ คนที่เป็นครูกลางๆ ที่มาจากตอนบนก็จะสอนเรื่องประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเด็กและครูมาคุยกัน จะต่อประเด็นประวัติศาสตร์ไม่ค่อยได้ เพราะพื้นฐานที่มามันต่างกัน

 

 3.รัฐจะต้องบูรณะพัฒนาแหล่งโบราณคดีต่างๆ  ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เท่าเทียมกับการดูแลบูรณะเมืองโบราณอื่นๆ ของประเทศไทย เช่น อยุธยา สุโขทัย บ้านเชียง เพราะแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่ร่วมสมัยกับบ้านเชียงก็จะมีแถวท่าสาป (อำเภอเมือง จ.ยะลา ) ส่วนเมืองโบราณยะรังอายุก็พอๆ กับสมัยศรีวิชัย ในขณะที่ภาคอื่นๆ มีโครงการศึกษากันเยอะ แต่ปัตตานีและยะลาไม่ค่อยมีโครงการ  ฉะนั้นในเชิงของการบูรณะ พัฒนา ขุดค้นหาความรู้และความจริงเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติของ ประวัติศาสตร์และโบราณคดีต้องทำให้มากยิ่งขึ้น

 

 4.ต้องมีการนำสนอข้อมูลประวัติศาสตร์และจัดแสดงเผยแพร่ ควรจะมีพิพิธภัณฑ์เมือง หรือศูนย์การเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ขณะนี้คำถามก็คือว่าเมื่อเราต้องการจะไปแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราไปที่ไหน คำตอบก็คือยังไม่มี ต้องดูเป็นชิ้นๆ ไป แล้วก็ต่อกันไม่ได้

 

  ความจริงประวัติศาสตร์ปัตตานีมีตัวตนของเขาอยู่ เพียงแต่ว่าฝ่ายรัฐจะต้องเปิดใจยอมรับประวัติศาสตร์ที่จะเขียนขึ้นจากท้อง ถิ่นที่มีความเจริญมาก่อน ซึ่งแนวทาง 4 ข้อทั้งหมดถ้าทำได้จะเพิ่มความเข้าใจ ลดความขัดแย้งได้ แต่ที่เป็นอยู่มันไม่ได้เข้าใจมากขึ้น เพราะข้อเสนอ 4 ข้อที่ผมว่ามันไม่เกิดสักข้อ ทุกอย่างยังอยู่แบบอึมครึม

ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1277629465

บังเอิญไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์เก่าในเว็บแล้วมีประเด็นที่สนใจดังนี้ครับ

1) ปัจจุบันมีหลักฐานใดหลงเหลือบ้างในปัตตานี ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเข้ามาจริงของฮอลันดา เช่นซากสถานีการค้าของ บริษัทอินเดียตะวันออกแห่งฮอลันดา (VOC) หรือ สุสานฮอลันดา เหมือนอย่างที่เจอในสงขลา และอยุธยา ถ้ามีปัจจุบันตั้งอยู่ที่ใดครับ

2) ในการเริ่มต้นนับความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสองอาณาจักร เขาใช้หลักฐานใดครับ ระหว่าง
   2.1 บันทึกการเข้ามาของคนชนชาตินั้นคนแรก ไม่ว่าจะเข้ามาเพื่อการค้า แสวงโชค ท่องเที่ยว  เช่น บันทึกการเข้ามาซื้อขายสินค้า บันทึกการเดินทาง
  หรือ 2.2 จะต้องเป็นหลักฐานระหว่างเจ้าผู้ครองนครรัฐนั้นๆ ในเชิงการทูต เช่น 
  พระราชสาส์นแสดงสัมพันธไมตรี

หมายเหตุ  * ที่ถูกต้องควรจะเป็น บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือ United East India Company หรือในภาษาดัตซ์ คือ Verenigde Oost-indische Compagnie ชื่อย่อคือ VOC (ที่มา:  กรมศิลปากร. 2547. ๔๐๐ ปี สัมพันธไมตรี ไทย- เนเธอร์แลนด์ Thailand and the Netherlands A friendship of four centuries and more. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). กรุงเทพฯ. หน้า 7.)


แก้ไขเมื่อ 27 ก.ย. 54 12:58:08

แก้ไขเมื่อ 27 ก.ย. 54 12:57:29

แก้ไขเมื่อ 27 ก.ย. 54 12:57:07

แก้ไขเมื่อ 27 ก.ย. 54 12:54:56

จากคุณ : Oceanophila
เขียนเมื่อ : 27 ก.ย. 54 11:09:11




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com